สสส. หนุน สื่อพื้นบ้านสานสุขอีสาน เชื่อมโยงคน 3 วัย อนุรักษ์ภูมิบ้านภูมิเมืองเกิดเป็นนโยบายท้องถิ่น เปิดประตูการท่องเที่ยวสู่แดนอีสาน

ข่าวทั่วไป Friday October 7, 2011 15:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--สสส. สื่อพื้นบ้านอีสานเข้มแข็ง รวมตัว 11 เครือข่าย สืบสาน สืบทอด รากเหง้าชุมชนผ่านมหกรรม “โมรูมตุ้มโฮม” เครือข่ายสืบสานสื่อพื้นบ้านอีสานสานสุข ปลุกความคิดสร้างสรรค์ ประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาให้เด็ก เยาวชน และคนในชุมชน เชื่อมโยงสัมพันธ์ผ่านภูมิบ้านภูมิเมือง ผลักดันให้เกิดนโยบายหลักสูตรท้องถิ่น ทั้งช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวสู่ภาคอีสาน เมื่อวันที่ 17-18 กันยายน ที่ผ่านมา เครือข่ายสืบสานสื่อพื้นบ้านอีสานเพื่อสุขภาวะเยาวชน ภาคอีสาน ภายใต้การสนับสนุนจากกลุ่มงานสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนเชิงบูรณาการ แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดมหกรรม โมรูมตุ้มโฮม เครือข่ายสืบสานสื่อพื้นบ้านอีสานสานสุข ขึ้นที่บ้านท่าสว่าง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เพื่อปลุกความคิดสร้างสรรค์ สืบสาน สืบทอด ประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน คนในชุมชน ให้มีการเชื่อมยางสัมพันธ์กันผ่านสื่อพื้นบ้านที่มี ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้ทรงคุณวุฒิ แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า มหกรรม โมรูมตุ้มโฮม เครือข่ายสืบสานสื่อพื้นบ้านอีสานสานสุข ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ถือเป็นการขับเคลื่อนงาน ในกระบวนการใช้สื่อพื้นบ้านเพื่อสุขภาวะเยาวชน ในพื้นที่ชุมชน เสริมสร้างพลังเครือข่ายของสื่อพื้นบ้านที่มีอยู่ในภาคอีสานกว่า 11 เครือข่ายให้เข้มแข็ง รวมไปถึงการผลักดันนำเสนอแนวคิด ประเด็นสำคัญ สู่นโยบายในด้านหลักสูตรท้องถิ่น รวมถึงการท่องเที่ยวที่เน้นส่งเสริมการอนุรักษ์ ฟื้นฟูสื่อศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และขับเคลื่อนการสร้างพื้นที่สื่อพื้นบ้านสู่สังคมให้มากขึ้นโดยใช้สื่อกระแสหลักเป็นกลไกในการสื่อสารสาธารณะนั่นเอง ด้านนายวิสันต์ ฉายแก้ว หัวหน้าโครงการกันตรึมวัยใสใส่ใจสุขภาวะเยาวชนและผู้ประสานงานในพื้นที่ของมหกรรม โมรูมตุ้มโฮม เครือข่ายสืบสานสื่อพื้นบ้านอีสานสานสุข ครั้งนี้ กล่าวว่า การขับเคลื่อนภูมิปัญญาท้องถิ่น ในหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นในมหกรรมครั้งนี้มีมากมาย อาทิ หมอเพลงโคราช กันตรึมวัยใสใส่ใจสุขภาพ ลิเกพื้นบ้าน ฮูปแต้มศิลป์ หนังบักตื้อ หมอลำ โปงลาง ฟ้อนรำ ผญาอีสาน การแสดงพิธีกรรมของชนเผ่า ชาวโส้ทั่งบั้ง กลุ่มทอผ้าโคราช ศิลปวัฒนธรรมของเยาวชนเขาพนมรุ้ง ก่อการความคิดสร้างสรรค์ สืบสาน สืบทอด ประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา ทำให้หลายพื้นที่ในเครือข่ายกว่า 11 เครือข่ายในภาคอีสาน กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่ทำให้เด็ก เยาวชน และชุมชน รวมทั้งผู้รู้ครูภูมิปัญญา รวมทั้งผู้นำในท้องถิ่น หน่วยงานรัฐ ได้มีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยน ร่วมไม้ร่วมมือกัน บางพื้นที่ก็ร่วมผลักดันนโยบายในระดับท้องถิ่น เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน รวมทั้งฟื้นฟูเด็กและเยาวชน ชุมชนที่ยังหลงติดอยู่ในอบายมุข เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด เกิดรูปแบบ และการสร้างกลไกที่หลากหลายที่ทำให้สื่อพื้นบ้านกลายเป็นเครื่องมือการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่นำไปสู่การฟื้นฟู รากเหง้า สืบทอด สืบสานองค์ความรู้ ศิลปวัฒนธรรม ที่ให้เกิดคุณค่า และเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น “นอกจากการการแสดงและการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมที่เป็นรากเหง้าของแต่ละเครือข่ายแล้ว ที่บ้านท่าสว่าง จ.สุรินทร์ นั้นยังมี “ผ้าไหมทอ” ที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักกันในเรื่องของผ้าไหมยกทองโบราณ ซึ่งมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ โดยผ้าไหมของที่นี่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมมาจากกัมพูชา และลวดลายที่บรรจงประดิษฐ์ขึ้นล้วนมีที่มาและมีความหมายอันเป็นมงคล โดยในการทอนั้นนิยมใช้ไหมน้อย ซึ่งไหมน้อยคือไหมที่สาวมาจากเส้นใยภายในรังไหม มีลักษณะนุ่ม เรียบ เงางาม สีไม่ฉูดฉาด มีสีสันที่มีลักษณะเฉพาะ คือ สีจะออกโทนสีขรึม เช่น น้ำตาล แดง เขียว ดำ เหลือง อีกทั้งยังมีกลิ่นหอมจากเปลือกไม้ด้วย ทำให้มหกรรมในครั้งนี้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างศิลปวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นเข้าด้วยกันกับการเป็นชุมชนได้อย่างแท้จริง” นายวิสันต์ ฉายแก้ว กล่าว ด้านนางสาวเกศวลี ดาวันนา หรือน้องเก๋ นางเอกชื่อ “เจียงคำ” ในหนังตะลุงอีสาน จากคณะเพรชอีสาน กล่าวว่า โมรูมตุ้มโฮม เครือข่ายสืบสานสื่อพื้นบ้านอีสานสานสุข เป็นเหมือนเวทีให้นักเรียน เด็กและเยาวชนมีโอกาสพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนความรู้เสริมสร้างประสบการณ์ ทั้งยังขยายโอกาสให้เยาวชนในท้องถิ่นได้พัฒนาศักยภาพทางสร้างสรรค์โดยไม่ละทิ้งคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมของตน เป็นการสร้างโอกาสและเปิดพื้นที่สำหรับการแสดงออกของเด็กและเยาวชนทำให้ปัญหาต่างๆ ที่เยาวชนส่วนใหญ่กำลังเผชิญอยู่ลดลงได้ ซึ่งอยากให้มีการสนับสนุนกิจกรรมแบบนี้ไปให้นานเท่านาน นอกจากจะทำให้เยาวชนรุ่นหลังๆ ได้ภาคภูมิใจใน ศิลปวัฒนธรรมของตนเองแล้วยังเป็นการเผยแพร่ให้คนทั้งในและต่างประเทศได้ชื่นชมไปพร้อมๆ กัน สำหรับนายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สสส. กล่าวว่า ในแต่ละปีที่ผ่านมา สสส. สนับสนุนกิจกรรมแบบนี้มาอย่างสม่ำเสมอเพื่อเชื่อมโยงคน 3 วัย ให้มาร่วมกันสืบสานวัฒนธรรมที่เป็นรากเหง้าของท้องถิ่นเอาไว้ เกิดเป็นชุมชนที่เข้มแข็งต่อไปในอนาคต สำหรับผู้ที่สนใจกิจกรรมอื่นๆ ที่ สสส. สนับสนุนสามารถติดตามได้ที่ www.artculture4health.com และที่ www.facebook.com/Sponsorship.TH แล้วคุณจะรู้ว่าศิลปวัฒนธรรม รากเหง้า อัตลักษณ์ และความเป็นชุมชนเชิงบูรณาการที่น่าสนใจของไทยในมุมที่คุณยังไม่เห็นมีอะไรดีไม่แพ้ชาติใดเลย เมื่อมีโอกาสต้องไปสัมผัสเพื่อเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวไทยไปในตัวด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ