กสิกรไทยผลักดันสินเชื่แฟคเตอริ่ง เกาะกระแสการเติบโตโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 13, 2011 17:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ต.ค.--ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกสิกรไทย ส่งเสริมแฟคเตอริ่งเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการด้านการเงินและบริหารความเสี่ยงคู่ค้า สอดรับกระแสโลกที่ใช้แฟคเตอริ่งกันอย่างยาวนานและแพร่หลาย ด้วยมูลค่าตลาดรวมทั่วโลกสูงถึง 1,650 ล้านล้านยูโรในปี 2553 โดยเฉพาะในญี่ปุ่น จีน และไต้หวัน ใช้สินเชื่อดังกล่าวรวมกันกว่า 88% ในภูมิภาคเอเซีย โดยกสิกรไทยมุ่งหวังให้ธุรกิจไทยขยายตัวเติบโตได้ทันต่อการแข่งขันทั้งตลาดในและต่างประเทศ ตั้งเป้าโต 75% หรือ 40,000 ล้านบาท นางสาวเพ็ญจันทร์ จริเกษม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการเงินและการบัญชี บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. สผ. กล่าวว่า สินเชื่อแฟคเตอริ่ง เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการจัดหาเงินทุนระยะสั้นแก่ ปตท.สผ. นอกเหนือจากการใช้ Bill of Exchange (B/E), OD, และวงเงินกู้ระยะสั้นอื่น ๆ ซึ่ง ปตท. สผ. ได้วางใจให้ธนาคารกสิกรไทยเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการสินเชื่อแฟคเตอริ่งแบบไม่มีสิทธิไล่เบี้ย ด้วยเล็งเห็นถึงประโยชน์จากการนำลูกหนี้ทางการค้ามาช่วยในการบริหารจัดการทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ปตท.สผ. และบริษัทในเครือได้ลงนามในสัญญาแฟคเตอริ่งแบบไม่มีสิทธิไล่เบี้ยกับธนาคารภายใต้วงเงินกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งนอกจาก ปตท.สผ. จะได้รับประโยชน์ในการบริหารจัดการด้านการเงินอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังได้รับบริการทางการเงินอื่น ๆ เสริมจากธนาคารกสิกรไทยอีกด้วย นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า สินเชื่อแฟคเตอริ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินระดับสากลที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก ในกลุ่มลูกค้าชั้นดีขนาดใหญ่ที่เข้มแข็ง มีคู่ค้าที่ดี และมีวงจรธุรกิจที่ยาวเพียงพอ คือ มีการจัดการด้านวัตถุดิบ การผลิต การบรรจุ การขาย โดยมีมูลค่าตลาดรวมทั่วโลกสูงถึง 1,650 ล้านล้านยูโร ในปี 2553 สำหรับประเทศไทยมีการใช้สินเชื่อแฟคเตอริ่งเพียง 1% เท่านั้น นับเป็นการเสียโอกาสในการใช้เครื่องมือบริหารจัดการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากการมองว่า แฟคเตอริ่งเป็นการนำลูกหนี้ไปทำแฟคเตอร์ ส่งผลให้ผู้ใช้บริการนี้ถูกมองว่าเป็นผู้ที่มีเครดิตไม่ดี ไม่มีสภาพคล่อง และเป็นการเอาหนี้ไปขายลด ในขณะที่ในประเทศญี่ปุ่น จีน และไต้หวัน มีการใช้แฟคเตอริ่งมาช่วยในการจัดการทางการเงินอย่างแพร่หลายมากถึง 88 % ดังนั้นธนาคารกสิกรไทยจึงมุ่งหวังให้เกิดการใช้บริการสินเชื่อแฟคเตอริ่งมากขึ้นในธุรกิจไทยเหมือนในต่างประเทศ เพราะเป็นเครื่องมือบริหารจัดการสภาพคล่องให้คงเหลือ เป็นการบริหารลูกหนี้ที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยลดต้นทุนดำเนินการ เพราะเป็นสินเชื่อที่ระบุการใช้ที่ชัดเจน เทียบอัตราค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่ออเนกประสงค์ จึงเป็นการบริหารสภาพคล่องและลูกหนี้ที่มีประสิทธิภาพทั้งในบริษัทที่ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี ธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้นำในการให้บริการสินเชื่อแฟคเตอริ่งมากว่า 20 ปี โดยครองอันดับ 1 ของตลาดมาโดยตลอด ด้วยมูลค่าสินเชื่อแฟคเตอริ่งในปี 2553 กว่า 22,500 ล้านบาท หรือคิดเป็น 22% จากสัดส่วนสินเชื่อแฟคเตอริ่งรวมของทั้งประเทศที่ 100,000 ล้านบาท โดยในปี 2554 นี้ธนาคารได้พัฒนาบริการสินเชื่อแฟคเตอริ่งให้เทียบเท่ามาตรฐานกับธนาคารชั้นนำของโลก โดยร่วมมือกับพันธมิตรทางการเงินและองค์กรแฟคเตอริ่งทั้งในและต่างประเทศกว่า 250 แห่งใน 65 ประเทศทั่วโลก ภายใต้ สมาคม Factors Chain International (FCI) อีกทั้งยังปรับปรุงกระบวนการอนุมัติสินเชื่อให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น ลดความยุ่งยากของเอกสาร คิดอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับคุณลักษณะของลูกค้า พร้อมขยายพื้นที่การให้บริการได้ทั่วประเทศเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ธนาคารกสิกรไทยพร้อมให้บริการสินเชื่อแฟคเตอริ่งที่หลากหลายครบถ้วน ได้แก่ สินเชื่อแฟคเตอริ่งในประเทศแบบมีสิทธิไล่เบี้ย (With Recourse) แบบไม่มีสิทธิไล่เบี้ย (Without Recourse) รวมถึงสินเชื่อแฟคเตอริ่งระหว่างประเทศ (Global Factoring ) ในรูปแบบของ Export และ Import Factoring เพื่อเป็นหนึ่งในทางเลือกในการบริหารจัดการทางด้านการเงินในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมและทุกช่วงของวงจรธุรกิจ โดยผลิตภัณฑ์แฟคเตอริ่งในแต่ละประเภทของธนาคารจะมีลักษณะเฉพาะและเป็นเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมต่อการบริหารจัดการของลูกค้าในแต่ละกลุ่มได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อแฟคเตอริ่ง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2554 แล้ว 22,500 ล้านบาทเติบโตขึ้นกว่า 50% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2553 คาดว่าในปีนี้ธนาคารจะสามารถขยายสินเชื่อแฟคเตอริ่งได้ตามเป้าหมายที่ 40,000 ล้านบาท เติบโตจากปีที่แล้ว 77%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ