อย.เผยผลงานเด่นในรอบปี 46 รุกงานจีเอ็มพี มุ่งสู่อาหารปลอดภัย

ข่าวทั่วไป Tuesday January 6, 2004 16:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ม.ค.--อย.
อย.เผยผลงานคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นรูปธรรมเด่นชัดในรอบปี 46 ลุยจัดระเบียบโรงงานผลิตอาหารทั่วประเทศหลังกฎหมายจีเอ็มพีบังคับใช้ ขานรับโครงการอาหารปลอดภัย พร้อมเร่งรัดให้โรงงานผลิตยาปฏิบัติตามเกณฑ์จีเอ็มพี รุกงานปราบปรามการลักลอบขายยาและวัตถุออกฤทธิ์ฯ ผิดกฎหมาย มุ่งสนองนโยบาย รัฐบาล ขจัดยาเสพติดให้หมดสิ้นไป เข้มงานด้านบริการ ลดขั้นตอนการขออนุญาตให้เร็วขึ้น สามารถยื่นคำขอเครื่องสำอางผ่านอินเตอร์เน็ตได้
น.พ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่าในปี 2546 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในรูปแบบต่างๆ ที่กระทำอย่างจริงจัง เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพปลอดภัย และสมประโยชน์ โดยได้เร่งดำเนินการทั้งด้านการพัฒนาการบริการ การใช้มาตรการ ด้านกฎหมาย และการพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค พร้อมสนองนโยบายรัฐบาลอย่างแข็งขัน มีโครงการเด่นหลายโครงการ ทั้งการสนองนโยบายรัฐบาลและการคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่
- โครงการอาหารปลอดภัย เพื่อรณรงค์และเผยแพร่คุณภาพมาตรฐานอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายและกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ เพื่อประกาศให้ปี 2547 เป็นปีแห่งสุขภาพอนามัย อาหารปลอดภัย ก้าวสู่การเป็นครัวของโลก อย.ได้เร่งรัดดำเนินการในส่วนของการควบคุมการนำเข้าของอาหาร ยา และเภสัชเคมี-ภัณฑ์ ณ ด่านนำเข้า การกวาดล้างสารอันตรายปนเปื้อนในอาหาร 6 ชนิด อย่างต่อเนื่องให้หมดสิ้นไปจากท้องตลาด การกำกับตรวจสอบฉลากอาหาร การตรวจรับรองสถานที่ผลิตอาหารให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพี ซึ่ง อย.ได้ลุยจัดระเบียบโรงงานผลิตอาหารทั่วประเทศหลังกฎหมายจีเอ็มพีมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2546 มีการนำทีมเฉพาะกิจของ อย.ตรวจโรงงานผลิตอาหารทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตหรือจีเอ็มพี ซึ่งที่ผ่านมาได้ตรวจไปแล้วประมาณ 80% และจะเร่งตรวจให้ครบโดยเร็ว เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับอาหารที่ปลอดภัย และเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเลือกซื้ออาหารอย่างปลอดภัย ยังมีการรณรงค์ผ่านสื่อและกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการสนับสนุนให้มีกลุ่มคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารในโรงเรียน (โครงการ อย.น้อย) โดยจะพยายามผลักดันให้มีกลุ่มนี้ในทุกโรงเรียน
นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัยในการบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน จึงได้ออกกฎกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์การโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และหลักเกณฑ์การโฆษณาเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน เพื่อจัดระบบการโฆษณาอาหารทั้ง 2 ประเภท โดยให้ผู้บริโภคที่ถูกต้อง และเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพและชีวิต ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 เป็นต้นไป
- การรณรงค์ต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด อย.ได้ร่วมสนองนโยบายดังกล่าวหลายประการไม่ว่า จะเป็นการเชิญประชุมผู้ประกอบการผลิต นำเข้า และส่งออก วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3, 4 และร่วมลงนามในสัตยาบันในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ยังได้มีการควบคุมป้องกันมิให้มีการนำสารตั้งต้นและสารเคมี ไปใช้ลักลอบผลิตยาเสพติด ณ ด่านอาหารและยาทุกครั้งที่มีการนำเข้า ออกกฎกระทรวงสาธารณสุขควบคุมการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 3 ตำรับที่มีโคเดอีนเป็นส่วนผสม มีการควบคุมปริมาณการผลิต การแพร่ระบาดของยาแก้ไอผสมโคเดอีน และจำกัดการครอบครองยา ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2546 อีกทั้งออกมาตรการควบคุมยาลดความอ้วนมิให้มีการใช้เกินความจำเป็นด้วยการออกระเบียบจำกัดการขายวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 3 ให้แก่สถานพยาบาลอย่างจำกัด ควบคุมการใช้ไม่ให้แพร่ระบาดในทางที่ผิด นอกจากนี้ ยังดำเนินการตรวจสถานประกอบการที่มีการใช้สารตั้งต้นในอุตสาหกรรมทุกแห่งของผู้รับอนุญาต และตรวจสอบติดตามเฝ้าระวังการกระจายของยา กิจกรรมที่สำคัญที่แสดงถึงการต่อสู้ เพื่อเอาชนะยาเสพติดอีกประการหนึ่งคือ จัดให้มีการเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางทุกปี โดยตลอดปี พ.ศ.2546 มีการเผาทำลายไปถึง 3 ครั้ง รวม 11,859.415 กิโลกรัม จาก 20,679 คดี รวมมูลค่ากว่า 20,884 ล้านบาท
- การควบคุมผลิตภัณฑ์ยาให้มีคุณภาพมาตรฐานสม่ำเสมอ โดยการนำหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตหรือจีเอ็มพียา มาบังคับใช้เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งกำหนดให้โรงงานผลิตยาแผนปัจจุบันทุกแห่งต้องผ่านเกณฑ์จีเอ็มพี หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ สั่งพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ วันที่ 5 มิถุนายน 2546 สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ต้องปฏิบัติตามทันที ส่วนผู้ประกอบการรายเก่า ต้องดำเนินการปรับปรุง แก้ไข ให้เป็นไปตามที่กำหนดภายใน 1 ปี คือมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2547 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันแก่ผู้บริโภคว่า ยาที่ผลิตจากโรงงานยาในประเทศไทย มีคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งจากการตรวจสอบสถานที่ผลิตยา พบว่า เหลือเพียง 1 ใน 4 ของจำนวนสถานที่ผลิตทั้งหมด ซึ่งกำลังพัฒนาให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานจีเอ็มพี ทั้งนี้ หากไม่สามารถพัฒนาในผ่านเกณฑ์ สถานที่ผลิตยาดังกล่าวก็จะต้องถูกปิด ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
- การปราบปรามการลักลอบขายยา/วัตถุเสพติด อย่างผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นทางอินเตอร์เน็ต การตรวจพบการขายยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ การขายยาโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนการตรวจจับการขายยาตามแผงลอย พบยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศปลอม การตรวจจับยาแผน-โบราณผสมยาแผนปัจจุบัน ตรวจสอบร้านขายยาแผนปัจจุบัน จำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 ในเขตกทม. เพื่อควบคุมการขายวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมาย เช่น การขายวัตถุออกฤทธิ์ต้องมีใบสั่งแพทย์ และผู้ขายต้องทำบัญชีรับ-จ่ายให้ครบถ้วน
เลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากที่กล่าวมาแล้ว อย.ยังมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาการให้บริการที่ดี มีการปรับระบบการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยปรับลดขั้นตอน และระยะเวลาการให้บริการของ อย. ซึ่งบางกระบวนงานลดได้ถึง 50-90% อีกทั้งลดขั้นตอนการขออนุญาตผลิตอาหารให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น เพิ่มความสะดวกสำหรับผู้มายื่นขออนุญาต ส่วนการยื่นขออนุญาตเครื่องสำอาง ก็สามารถยื่นขอผ่านระบบอินเตอร์เน็ตได้ การปรับลดขั้นตอนและการให้บริการในรูปแบบใหม่ดังกล่าว ก็เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจและส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของชาติ ขณะเดียวกันยังคงรักษาระดับการคุ้มครองผู้บริโภคไว้ สอดคล้องกับสโลแกนของ อย.ที่ว่า "อย.ยุคใหม่ บริการด้วยใจ รวดเร็วฉับไว โปร่งใสเป็นกันเอง"--จบ--
-กภ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ