
กรมวิทยาศาสตร์บริการ โดย ศูนย์ทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ สถาบันพัฒนามาตรฐานและตรวจสอบรับรอง (ศชน.สมต.) ได้ปฏิบัติงานตามข้อตกลงความร่วมมือกับกองการยาง กรมวิชาการเกษตร ภายใต้ "โครงการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการของประเทศในการทดสอบคุณภาพยางแท่ง เอสทีอาร์ (STR) ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025" และตามงบประมาณโครงการผลิตวัสดุควบคุมคุณภาพด้านยางเพื่อส่งเสริมศักยภาพห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ยางในประเทศของ สกสว.
ในการนี้ ศชน.สมต. นำโดย นางเยาวลักษณ์ ชินชูศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ และคณะ ได้เดินทางไปร่วมวางแผน จัดเตรียมตัวอย่าง และศึกษาการทดสอบตัวอย่างยางแท่ง ร่วมกับนางสาวปฏิมาภรณ์ สังข์น้อย ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมยางสงขลา กองการยาง กรมวิชาการเกษตร และทีมงาน สำหรับกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการและนำไปสู่การพัฒนาเป็นวัสดุอ้างอิงด้านยางแท่ง (STR) ระหว่างวันที่ 22 - 24 เมษายน 2568 เพื่อเตรียมตัวอย่างสำหรับจัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ สาขาเคมี รายการทดสอบยางแท่ง (Block rubber) จำนวน 8 รายการทดสอบ ได้แก่ (1) ปริมาณสิ่งสกปรก: Dirt (2) ปริมาณเถ้า: Ash (3) ปริมาณไนโตรเจน: Nitrogen (4) ปริมาณสิ่งระเหย: Volatile matter (5) การทดสอบความอ่อนตัว: Plasticity Original (6) ดัชนีความอ่อนตัว: Plasticity Retention Index (7) การทดสอบสี: Colour Lovibond Scale และ ( การทดสอบความหนืด: Mooney Viscosity ณ ห้องปฏิบัติการศูนย์ควบคุมยางสงขลา และได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการเตรียมตัวอย่างยางแท่ง และแนวทางในการป้องกันปัญหาของการเตรียมตัวอย่างสำหรับการทดสอบปริมาณไนโตรเจนที่มีความไวต่อความชื้น ซึ่งการดำเนินงานในโครงการนี้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากร การทวนสอบความใช้ได้ของวิธีการทดสอบและการประกันคุณภาพผลการทดสอบ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาห้องปฏิบัติการด้านยางให้ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความสามารถในการแข่งขันกับกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ ประเทศกัมพูชา (Cambodia) สปป.ลาว (Lao PDR) เมียนมาร์ (Myanmar) และเวียดนาม (Vietnam) และเพิ่มศักยภาพการส่งออกยางแท่งเอสทีอาร์ของประเทศไทยสู่ตลาดโลก
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยร่วมกันในการผลิตวัสดุอ้างอิง (Reference material) ด้านยางแท่งที่ประเทศไทยยังขาดแคลน ห้องปฏิบัติการต้องจัดหาซื้อจากต่างประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้น การพัฒนาและผลิตวัสดุอ้างอิงด้านยางแท่ง จึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง อีกทั้งยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในการส่งออกเกี่ยวกับวัตถุดิบยาง และผลิตภัณฑ์ยางที่มีคุณภาพ รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าวัสดุอ้างอิงด้านยางได้อีกด้วย
