สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) เตือนโรคแอนแทรกซ์ระบาด

ข่าวทั่วไป Wednesday May 7, 2025 17:44 —ThaiPR.net

สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) เตือนโรคแอนแทรกซ์ระบาด

ดร.น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ กรรมการบริหารสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ฝากเตือนโรคแอนแทรกซ์ว่า โรคแอนแทร็กซ์ (Anthax) โรคกาลี เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Bacillus anthracis มักเกิดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กินหญ้าแทบทุกชนิด เช่น วัว ควาย แพะ แกะ หมู เก้ง กวาง ช้าง เป็นต้น และสามารถติดต่อไปสู่คนและสัตว์อื่นๆ ได้ เช่น สุนัข แมว เสือ หมูป่า เป็นต้น ในคนยังไม่มีหลักฐานว่าจากคนไปสู่คนได้ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เช่น กบ เขียด สัตว์เลื้อยคลานเช่น งู กิ้งก่า ปลา และนกส่วนใหญ่ไม่ติดโรคนี้ (ยกเว้นนกกระจอกเทศ ซึ่งมีรายงานว่าเคยพบโรคนี้ในแอฟริกา) นกแร้งหรืออีแร้งเป็นสัตว์ที่มีความต้านทานต่อโรคนี้โดยธรรมชาติ ซึ่งแร้งจะกินซากสัตว์ที่เน่าเปื่อย รวมทั้งสัตว์ที่ติดเชื้อแบคทีเรียโรคแอนแทรกซ์และตายตามธรรมชาติด้วย แต่เนื่องจากในกระเพาะอาหารและทางเดินอาหารของแร้งมีความเป็นกรดค่อนข้างสูง ทำให้เชื้อแบคทีเรียของโรคต่างๆ ที่รุนแรงถูกทำลายจนหมด

สาเหตุโรคแอนแทรกซ์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Bacillus anthracis เป็นแบคทีเรียที่ดำรงชีวิตด้วยออกซิเจน (Aerobic bacteria) และสามารถสร้างพิษ (Toxin) ได้ เมื่ออยู่ในที่แห้งหรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม จะสร้างเกราะ หรือ สปอร์ หุ้มเซลล์ไว้ มีความทนทานต่อความร้อนและความเย็น สามารถอยู่ในธรรมชาติได้ถึง 10-25 ปี แต่จะถูกทำลายในขบวนการเน่าภายในตัวสัตว์หลังการตาย

ระยะฟักตัว เมื่อสัตว์ได้รับเชื้อแบคทีเรียเข้าร่างกาย เชื้อโรคจะใช้เวลาฟักตัว 12 ชั่วโมง ถึง 7 วัน ระยะฟักตัวในสัตว์จะเร็วกว่าในคน โดยเฉพาะรายที่รับเชื้อจากการกิน และการหายใจเอาเชื้อเข้าไป

อาการสัตว์จะแสดงอาการภายใน 3-7 วัน หลังจากเชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยการกิน การหายใจ เอาสปอร์เข้าสู่ร่างกาย เมื่อสัตว์แสดงอาการป่วย มักจะตายภายใน 2-3 วัน แยกเป็นอาการที่สำคัญ ดังนี้

  • การติดเชื้อจากระบบหายใจ ขณะที่สัตว์กินหญ้า หรือ พืช ที่อยู่ตามพื้นดิน เวลาปากและลิ้นดึงหญ้าขึ้นมาจากพื้นดิน สปอร์จะฟุ้งอยู่ในอากาศ และจมูกจะสูดเอาสปอร์ดังกล่าวเข้าสู่ระบบหายใจ สัตว์จะแสดงอาการมีไข้สูง ตัวสั่น หายใจลำบาก ไอ บางรายมีอาการสะบัดหัว เนื่องจากเชื้อแอนแทรกซ์เริ่มเข้าไปทำลายสมอง บางรายอาเจียน เดินวนไปมา มีอาการอ่อนเพลีย เจ็บบริเวณกล้ามเนื้อ ต่อมาปอดจะถูกทำลาย และตายในที่สุด
  • การติดเชื้อทางผิวหนัง เชื้อแอนแทรกซ์ มักเข้าทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามผิวหนัง เช่น แผลบริเวณขา คอ ลำตัว สัตว์จะแสดงอาการคัน มีตุ่มนูนและมีน้ำสีฟางข้าวใสๆ อยู่ภายใน ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ขอบตุ่มจะบวมหนา ต่อมาตรงกลางตุ่มจะเปลี่ยนเป็นสีดำเหมือนถ่าน ไม่มีอาการเจ็บ สัตว์จะเบื่ออาหาร ร่างกายผอมลงเรื่อยๆ จนตายในที่สุด
  • การติดเชื้อทางระบบทางเดินอาหาร โดยการกินสปอร์ของเชื้อที่ติดอยู่ตามหญ้าเข้าไปในปาก ซึ่งมักจะเกิดขึ้นมาพร้อมกับการหายใจ หรือในกรณีของสัตว์กินเนื้อ จะกินซากสัตว์ที่ตายด้วยโรคแอนแทรกซ์ สัตว์จะมีไข้สูง ตัวสั่น เสียงแหบ คอบวม ต่อมน้ำเหลืองโต เดินวน อาเจียนอาจมีเลือดสดๆ ปนออกมา ท้องเสียและบวม และเสียชีวิตในที่สุด
  • ลักษณะเฉพาะของโรคแอนแทรกซ์หลังจากแสดงอาการและสัตว์ล้มตาย ซากสัตว์จะเน่าและท้องบวมเป่งอย่างรวดเร็ว มีเลือดสีดำไม่แข็งตัวไหลออกมาจากปาก จมูก และก้น ขบวนการเน่าภายในร่างกายของสัตว์จะทำลายเชื้อ B. Antracis ซึ่งจะถูกทำลายโดยแบคทีเรียอีกตัวหนึ่ง ชื่อ Bacillus subtilis ดังนั้น ข้อควรระวังก็คือ ห้ามทำการเปิดผ่าซากสัตว์ หรือ Post Mortem ควรใช้วิธี ป้ายเลือดบน Slide และย้อมสี ตรวจทางกล้องจุลทรรศน์ จะเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด

    การป้องกัน

    • เมื่อสัตว์ล้มตายลงเฉียบพลัน และท้องขยายใหญ่อย่างเร็วมากจนสังเกตเห็นได้ชัด ประชาชนที่พบเห็นควรแจ้งเจ้าหน้าที่บ้านเมือง แพทย์ สัตวแพทย์ ที่ใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด และห้ามเข้าไปใกล้ซากสัตว์โดยเด็ดขาด
    • ห้ามผ่าซากสัตว์ที่สงสัยว่าติดเชื้อแอนแทรกซ์ ควรแจ้งสัตวแพทย์เข้าไปตรวจสอบโดยเร็ว
    • ห้ามชำแหละซากสัตว์ที่ตายด้วยโรคแอนแทรกซ์แล้วนำไปบริโภคโดยเด็ดขาด
    • ควรบริโภค เนื้อสัตว์ นม ที่ได้มาตรฐาน เช่น มีใบรับรองของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือกรมปศุสัตว์ หรือสัตว์ที่ผ่านจากโรงงานฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน
    • ทำการเผาซากสัตว์ หรือ ฝังกลบซากสัตว์ ให้ลึกจากพื้นดินอย่างน้อย 3-5 เมตร โดยโรยปูนขาวคลุมซากสัตว์จนทั่วก่อนกลบฝังดิน ที่ฝังซากสัตว์ควรอยู่ห่างไกลจากชุมชน


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ