
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจืดในฤดูปลาน้ำจืดมีไข่ ด้วยการกำหนดให้ใช้เครื่องมือ วิธีการทำประมงที่ไม่เป็นการทำลายพันธุ์ทรัพยากรสัตว์น้ำจืดจนเกินสมควร และเป็นเครื่องมือที่ประชาชนใช้จับสัตว์น้ำเพื่อการดำรงชีพให้สามารถจับสัตว์น้ำจืดในช่วงเวลาการบังคับใช้มาตรการทั่วประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ทรัพยากรสัตว์น้ำได้มีการฟื้นตัว และเกิดขึ้นใหม่เข้าทดแทนสัตว์น้ำเดิมที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ และดำรงอยู่อย่างยั่งยืน อันเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้แก่ประชาชน
ซึ่งจากการติดตามประเมินผลมาตรการฤดูน้ำแดงในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา (2566 - 2567) หลังจากมีการบังคับใช้กฎหมายเดิม (ฉบับปี 2566) ที่ผ่านมา ครอบคลุมพื้นที่ 20 ลุ่มน้ำ 40 จังหวัด 61 แหล่งน้ำ รวบรวมตัวอย่างชนิดพันธุ์ปลาทั้งหมด 165 ชนิด จำนวน 53,071 ตัว พบว่า ภาพรวมของทั้งประเทศปลาส่วนใหญ่พร้อมวางไข่เกือบทั้งปี สามารถรักษาพ่อแม่พันธุ์ในภาพรวมของประเทศไทยได้มากถึงร้อยละ 84.4 ซึ่งปริมาณพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมาส่งผลให้พ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำจืดมีโอกาสได้สืบพันธุ์วางไข่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ประกอบกับข้อมูลจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ปรากฎการณ์เอนโซยังคงอยู่ในสภาวะลานีญากำลังอ่อน โดยมีแนวโน้มกลับเข้าสู่สภาวะปกติในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2568 และต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเดือนมิถุนายน - สิงหาคม 2568 ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะมีปริมาณฝนมากกว่าปกติ ร้อยละ 9 หรือบางพื้นที่ใกล้เคียงค่าปกติ นั่นหมายถึงว่า ช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะเข้าสู่ช่วงฤดูน้ำแดง และเพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การรักษาสัตว์น้ำ และระบบนิเวศเกิดความยั่งยืน ตามหลักการบริหารจัดการทรัพยากรฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ (ฤดูน้ำแดง) ดังนั้น มาตรการฯ ฤดูน้ำแดง ยังคงกำหนดพื้นที่และระยะเวลา รวมถึงเครื่องมือที่ให้ใช้เป็นไปตามมาตรการเดิม และเพิ่มอำนาจให้กับคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ให้สามารถออกประกาศกำหนดพื้นที่ เครื่องมือ วิธีการทำการประมง และเงื่อนไขการทำการประมง เพื่อให้มีความเหมาะสมตามสภาพข้อเท็จจริงของแต่ละพื้นที่ แต่จะมีผลบังคับใช้ในระยะเวลา 5 ปี โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 16 พฤษภาคม 2568 จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2572 โดยติดตามและประเมินผลทางวิชาการในทุกปีเพื่อให้ประเมินผลตามมาตรการได้อย่างแม่นยำมากขึ้น เนื่องจากการเก็บข้อมูลระยะยาวช่วยให้เห็นถึงแนวโน้มและผลกระทบที่แท้จริง เพื่อปรับปรุงนโยบายให้เหมาะสมและยั่งยืน และเพื่อเป็นการส่งเสริมและสร้างความร่วมมือของชุมชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้เกิดการสื่อสารสร้างความรับรู้และความเข้าใจการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวต่อชาวประมงได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัววัยอ่อน และกำหนดเครื่องมือ วิธีการทำการประมง และเงื่อนไขในการทำการประมง พ.ศ. 2568 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 แบ่งพื้นที่และระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมาย ออกเป็น 3 ระยะ ตามความเหมาะสมของระบบนิเวศแต่ละพื้นที่ โดยกำหนดห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ในห้วงเวลาและพื้นที่ ดังต่อไปนี้
- ระยะที่ 1 : วันที่ 16 พฤษภาคม - 15 สิงหาคม ของทุกปี : ในบริเวณแม่น้ำ ลำคลอง ลำธาร ห้วย หนอง บึง อ่างเก็บน้ำ เขื่อน พรุ และลำน้ำทุกสาขา รวมทั้งป่าไม้และพื้นดินที่มีน้ำท่วมตามธรรมชาติเชื่อมต่อบริเวณดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือที่ดินของเอกชน ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร เลย อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล และในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ตามแผนที่ท้ายประกาศ
- ระยะที่ 2 : วันที่ 1 มิถุนายน - 31 สิงหาคม ของทุกปี : ในบริเวณแม่น้ำ ลำคลอง ลำธาร ห้วย หนอง บึง อ่างเก็บน้ำ เขื่อน พรุ และลำน้ำทุกสาขา รวมทั้งป่าไม้และพื้นดินที่มีน้ำท่วมตามธรรมชาติเชื่อมต่อบริเวณดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือที่ดินของเอกชน ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรี สระบุรี นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด เว้นแต่ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ให้อยู่ภายใต้บังคับระยะเวลาตาม ระยะที่ 1
- ระยะที่ 3 : วันที่ 1 กันยายน - 30 พฤศจิกายน ของทุกปี : ในบริเวณแม่น้ำ ลำคลอง ลำธาร ห้วย หนอง บึง อ่างเก็บน้ำ เขื่อน พรุ และลำน้ำทุกสาขา รวมทั้งป่าไม้และพื้นดินที่มีน้ำท่วมตามธรรมชาติเชื่อมต่อบริเวณดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือที่ดินของเอกชน ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา
ในส่วนของเครื่องมือ วิธีการทำการประมงและเงื่อนไขในการทำประมงที่อนุญาตให้สามารถทำการประมงในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ได้ มีดังนี้
1. เบ็ดทุกชนิด ยกเว้น เบ็ดราว เบ็ดพวงที่ทำการประมงโดยวิธีการกระชาก หรือการใช้เครื่องมืออื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
2. ตะแกรง สวิง ช้อน ยอ หรือชนาง ซึ่งมีขนาดปากกว้างไม่เกิน 2 เมตร และไม่ทำการประมงด้วยวิธีประดา (ไม่เรียงหน้าไล่ต้อนสัตว์น้ำ) ตั้งแต่ 3 เครื่องมือขึ้นไป
3. สุ่ม ฉมวก และส้อม
4. ไซ ตุ้ม อีจู้ ลัน
5. แหที่มีความลึกไม่เกิน 6 ศอก (3 เมตร)
ทั้งนี้ กรณีที่คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดประกาศกำหนดห้ามเครื่องมือชนิดหนึ่งชนิดใด ตามข้อ 1 - 5
ที่เข้มงวดกว่า ให้ถือปฏิบัติตามประกาศของคณะกรรมการประมงจังหวัดนั้น
6. การทำการประมงเพื่อการศึกษา วิจัย ทดลองทางวิชาการ หรือในพื้นที่โครงการที่ดำเนินการของทางราชการ ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมงหรือผู้ที่อธิบดีกรมประมงมอบหมาย หรือเพื่อเป็นการช่วยชีวิตของสัตว์น้ำโดยเจ้าหน้าที่สังกัดกรมประมงหรือภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่สังกัดกรมประมง
7. คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดออกประกาศกำหนดพื้นที่ เครื่องมือ วิธีการทำการประมงและเงื่อนไขในการทำการประมงไว้เป็นอย่างอื่น
หากผู้ใดฝ่าฝืนตามประกาศฯ มาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีโทษปรับตั้งแต่ห้าพันถึงห้าหมื่นบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง
กรมประมง จึงประชาสัมพันธ์มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจืดในฤดูปลาน้ำจืดมีไข่ (ฤดูน้ำแดง)
ในปี 2568 นี้ เพื่อสร้างความรู้ให้แก่พี่น้องชาวประมงและประชาชนทั่วไปได้รับทราบ และเข้าใจถึงความสำคัญของทรัพยากรสัตว์น้ำ ตลอดจนช่วยสร้างจิตสำนึกในการหวงแหนอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตน ทั้งนี้ เนื่องจากการกำหนดฤดูปลาวางไข่ในช่วงฤดูน้ำแดงนั้น เป็นหนึ่งในมาตรการที่ใช้ควบคุมการทำการประมงเพื่อลดการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำตามกฎหมายเท่านั้น การอนุรักษ์ทรัพยากรที่แท้จริงต้องเริ่มที่ประชาชนทุกคน ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ และการตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่รู้จักใช้ ร่วมกันดูแลและรักษาไว้ให้มีอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานของตนต่อไป...อธิบดีกรมประมง กล่าว