
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมสถานพยาบาลในสังกัด เพื่อรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝนว่า สนพ. ได้เตรียมความพร้อมในการวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาของโรคที่มีการแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝน จัดการสำรองยาเพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย จัดเตรียมวัคซีนป้องกันควบคุมโรคตามฤดูกาล ได้แก่ โรคโควิด 19 โรคหัด โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสแก่ให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง และควบคุมการแพร่ระบาดของในช่วงฤดูฝน อาทิ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อทางผิวหนัง โรคที่เกี่ยวข้องกับอาการภูมิแพ้ พร้อมจัดเตรียมเวชภัณฑ์สำหรับการป้องกันและรักษาโรค ตั้งจุดคัดกรองด้านหน้าทางเข้าโรงพยาบาล ตรวจวัดอุณหภูมิ เจลล้างมือให้กับประชาชนที่มารับบริการที่โรงพยาบาลในสังกัด
ขณะเดียวกัน กทม. ยังให้บริการสร้างเสริมสุขภาพที่ BKK WELLNESS CLINIC โรงพยาบาลในสังกัดทั้ง 11 แห่ง การให้บริการตรวจสุขภาพฟรี บริการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนตามความเสี่ยง ซึ่งประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง "สิทธิบัตรทอง" สามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาลโดย ไม่เสียค่าใช้จ่าย ประกอบด้วย เด็กเล็ก อายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน รวมทั้งผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) โรคอ้วน (น้ำหนัก> 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (ให้บริการตลอดทั้งปี) โดยช่องทางการรับบริการได้แก่ ติดต่อที่หน่วยบริการ หรือสถานพยาบาลประจำของตน หรือหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูรายชื่อได้ที่ "กระเป๋าสุขภาพ" ในแอปพลิเคชันเป๋าตัง และเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถจองสิทธิการฉีดวัคซีนฯ ล่วงหน้าผ่าน "กระเป๋าสุขภาพ" ในแอปพลิเคชันเป๋าตังได้ โดยระบบจะเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 68 เป็นต้นไป หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด ส่วนผู้ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ไม่สะดวกจองผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง สามารถติดต่อได้ที่หน่วยบริการในระบบ สปสช. ได้ทุกแห่ง
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า แนวโน้มสถานการณ์ผู้ป่วยจากโรคติดต่อในช่วงฤดูฝนในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2568 มีรายงานโรคติดต่อนำโดยยุงลายและไข้หวัดเพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปี 68 โดย สนอ. ได้เตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ทั้ง 69 แห่ง เช่น ยารับประทาน ยาทาน้ำกัดเท้า และระบบเฝ้าระวังโรค รวมทั้งประสานงานกับอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เพื่อคัดกรอง และแจ้งข้อมูล เพื่อดูแลผู้ป่วยที่อาจเพิ่มขึ้นจากโรคในช่วงฤดูฝน
นอกจากนี้ ศบส. ยังมีมาตรการเชิงรุกและเชิงรับในการรณรงค์ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการดูแลรักษาสุขภาพและสุขอนามัย เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคที่มักแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝน ทั้งในชุมชน สถานศึกษา และ ศบส. 69 แห่ง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเกิดปัญหาทางสุขภาพได้ง่าย โดย สนอ. ได้รณรงค์เชิงรุกฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ในโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้ง 437 แห่ง ในช่วงเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2568 โดยทีมพยาบาลอนามัยโรงเรียน และให้บริการฉีดวัคซีนให้แก่ 7 กลุ่มเสี่ยง ดังกล่าว โดยเข้ารับวัคซีนได้ที่ ศบส. ทั้ง 69 แห่งทุกวันทำการ