
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานในงานเปิดตัวมาตรฐานการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักขณะตั้งครรภ์ของประเทศไทย (ชุดใหม่) โดยมี ดร.นายแพทย์ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและบุคลากรทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุมสัมพุทธเมตตาประชารักษ์ ชั้น 9 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และ Facebook Live กรมอนามัย
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยให้ความสำคัญต่อสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ โดยตระหนักว่าการเพิ่มน้ำหนักที่เหมาะสมระหว่างตั้งครรภ์เป็นปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพของทั้งแม่และลูก การที่หญิงตั้งครรภ์มีน้ำหนักเพิ่มมากหรือน้อยเกินไป อาจก่อให้เกิดผลกระทบและภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ การคลอดบุตร และภาวะสุขภาพของเด็กในครรภ์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด การเสียชีวิตของแม่และเด็ก ภาวะเด็กแรกเกิดน้ำหนักน้อย หรือ ตัวโตผิดปกติ รวมทั้งความเสี่ยงต่อโรค NCDs ในอนาคต

แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยจึงพัฒนาและจัดทำ มาตรฐานการเพิ่มน้ำหนักขณะครรภ์ของประเทศไทย (ชุดใหม่) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และหญิงตั้งครรภ์ ในการติดตามและประเมินการเพิ่มน้ำหนักขณะตั้งครรภ์อย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ ระยะคลอด และหลังคลอดของหญิงตั้งครรภ์และทารก ซึ่งมาตรฐานการเพิ่มน้ำหนักขณะครรภ์ของประเทศไทย (ชุดใหม่) ถูกพัฒนาขึ้นในรูปแบบ กราฟการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักในหญิงตั้งครรภ์ไทย(Vallop curve2) โดยแบ่งเป็น 4 ภาวะโภชนาการก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งใช้เกณฑ์ค่าดัชนีมวลกายก่อนตั้งครรภ์ ได้แก่ ผอม น้ำหนักปกติ น้ำหนักเกิน และอ้วน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือของบุคลากรทางการแพทย์ในการติดตามและประเมินการเพิ่มน้ำหนักของหญิงตั้งครรภ์ได้ครอบคลุมทุกคน และช่วยให้หญิงตั้งครรภ์ทราบถึงแนวทางการกินอาหารและการดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่างเหมาะสม เพื่อส่งผลให้ทารกมีการเจริญเติบโตสมบูรณ์ แข็งแรง และมีน้ำหนักแรกเกิดมากกว่า 2,500 กรัม
"ทั้งนี้ กรมอนามัย จะนำมาตรฐานการเพิ่มน้ำหนักขณะครรภ์ของประเทศไทย (ชุดใหม่) ไปใช้ในการติดตามและประเมินการเพิ่มน้ำหนักในหญิงตั้งครรภ์ให้สถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ และจะบรรจุมาตรฐานการเพิ่มน้ำหนักขณะครรภ์ของประเทศไทย (ชุดใหม่) ในรูปแบบกราฟกราฟการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักในหญิงตั้งครรภ์ (Vallop curve2) ลงสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก (สมุดสีชมพู) ปี พ.ศ. 2568 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานให้กับบุคลากรทางแพทย์ทุกระดับ รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ไทยทุกคน สามารถติดตามการติดตามการเพิ่มน้ำหนักของตนเองได้อย่างเหมาะสมต่อไป" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ดร.นายแพทย์ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเสริมว่า การตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพทั้งมารดาและทารก การควบคุมน้ำหนักที่เหมาะสมตลอดการตั้งครรภ์ มีความจำเป็นเพื่อลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน อาทิ โรคเบาหวาน ขณะตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูง และการคลอดก่อนกำหนด ทั้งนี้ ข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ปี 2565 (MICs 7) พบว่า ประเทศไทยยังมีอัตราภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ในระดับสูง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการควบคุมน้ำหนักที่ไม่เหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหานี้ กรมอนามัย ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และคณะกรรมการและคณะทำงานกำหนดมาตรฐานการเพิ่มน้ำหนักขณะตั้งครรภ์ของประเทศไทย จึงได้พัฒนามาตรฐานการเพิ่มน้ำหนักขณะตั้งครรภ์ของประเทศไทย ที่เหมาะสมสำหรับหญิงตั้งครรภ์ไทยในปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นแนวทางระดับประเทศ โดยอ้างอิงดัชนีมวลกายของหญิงไทย ช่วยให้หญิงตั้งครรภ์สามารถควบคุมน้ำหนักได้เหมาะสม ลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน และเป็นเครื่องมือให้บุคลากรสาธารณสุขติดตาม และให้คำแนะนำด้านสุขภาพแม่และเด็กได้อย่างใกล้ชิด