
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงนามบันทึกข้อตกลง "ความร่วมมือการพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ" ร่วมกับผู้บริหารจาก 9 หน่วยงาน ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ดร.ชญานันท์ ภักดีจิตต์ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ กรรมการบริหารสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (มสท.)

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. เป็นขุมพลังหลักของประเทศในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของงานวิจัยและนวัตกรรมให้ตอบโจทย์สำคัญของประเทศ ดำเนินกลยุทธ์ภายใต้แนวคิด "S&T Implementation for Sustainable Thailand" โดยมีสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) ภายใต้ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนแผนงาน "การพัฒนาตัวชี้วัดและฐานข้อมูลด้าน CO2, CE, SDGs เพื่อการค้าและความยั่งยืน" มีบทบาทด้านการวิจัย พัฒนาองค์ความรู้และตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับก๊าซเรือนกระจก (GHGs) เศรษฐกิจหมุนเวียน (CE) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี พ.ศ.2573 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2593
"การลงนามความร่วมมือในวันนี้ สวทช. จะมีบทบาทเป็นเลขานุการเครือข่ายร่วมกับ สอวช. และเป็นหน่วยงานวิจัยที่ร่วมดำเนินงานด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจัดทำฐานข้อมูล และตัวชี้วัดด้านความยั่งยืนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่สำคัญต่อประเทศ สนับสนุนกระบวนการทำงานและกิจกรรมที่เกิดขึ้น ตลอดจนร่วมผลักดันโจทย์วิจัยที่เกี่ยวข้องและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นของสมาชิกเครือข่ายฯ เพื่อให้สามารถผลักดันให้ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีมาตรฐานระดับสากล พร้อมก้าวไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้อย่างแท้จริง" ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว
นางสาววรรณภา คล้ายสวน ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการสร้างความร่วมมือวิจัยและพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดทางด้านเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของประเทศ ที่สามารถนำไปใช้ในการประเมินระดับการพัฒนาของประเทศ โดยเฉพาะตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ เช่น ด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ถูกกำหนดเป้าหมายไว้ในหมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 อีกทั้งเป็นการตอบสนองต่อความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก เช่น มาตรการของสหภาพยุโรป CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ดังนั้นการมีข้อมูลและตัวชี้วัดที่น่าเชื่อถือจะช่วยให้ภาครัฐสามารถตัดสินใจเชิงนโยบายได้อย่างแม่นยำ ทันต่อสถานการณ์ และมีประสิทธิภาพ
รองศาสตราจารย์ วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า สอวช. มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีการพัฒนาตัวชี้วัดเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Green Enterprise Indicator, GEl) ซึ่งสอดรับกับความร่วมมือระหว่าง 10 หน่วยงานในวันนี้ โดยพร้อมสนับสนุนการพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของประเทศต่อไป โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เป็นส่วนหนึ่งและเป็นเรือธงของยุทธศาสตร์ สอวช. ที่ตั้งเป้าหมายสนับสนุนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (มสท.) กล่าวว่า มสท. จะร่วมสนับสนุนและเสนอแนะข้อมูลความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเศรษฐกิจการค้าและความยั่งยืน พร้อมเสนอโจทย์งานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้คำปรึกษาทางวิชาการ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เพื่อเสริมกับศักยภาพของ สวทช. ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การลดคาร์บอนในภาคส่วนต่าง ๆ จะช่วยยกระดับการใช้ฐานข้อมูลและองค์ความรู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการกำหนดนโยบาย และการผลักดันนโยบายที่เอื้อต่อการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม
ดร.ชญานันท์ ภักดีจิตต์ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า สผ. มีภารกิจจัดทำนโยบาย แผน มาตรการ กลไก รวมถึงการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติบนพื้นฐานบูรณาการข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับฐานข้อมูลและตัวชี้วัด ความร่วมมือในวันนี้จะเป็นการวางรากฐานเพื่อการขับเคลื่อนประเทศที่สอดรับทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเป้าหมายสากลให้เป็นหนึ่งเดียวกัน นำพาประเทศไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ กรรมการบริหารสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส.อ.ท. กล่าวว่า สอท. จะมีบทบาทในการสนับสนุนข้อมูลความต้องการและความเร่งด่วนของภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้การพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุน พร้อมผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรองรับเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ เสนอแนะแนวทางที่เหมาะสมกับบริบทของไทย และให้การสนับสนุนทั้งด้านความร่วมมือและองค์ความรู้จากเครือข่ายภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศในระยะยาว รวมถึงเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยบนเวทีโลก
นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กสอ. กล่าวว่า กสอ. มีบทบาทในการพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs จึงให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมขีดความสามารถทางธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่งเสริมให้ SMEs นำแนวคิด BCG มาปรับใช้ในธุรกิจ พร้อมส่งเสริมด้านการปรับปรุงกระบวนปารผลิตและบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมตามแนวทางอุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยึดมั่นในการรับผิดชอบต่อสังคมโดยรอบ นำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และการลดก๊าซเรือนกระจก สู่มาตรฐานสิ่งแวดล้อม
นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานกลางด้านสถิติของประเทศ จะร่วมพัฒนาและบริหารจัดการฐานข้อมูลและตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของประเทศไทย ความร่วมมือนี้มุ่งเน้นการสร้างสถิติทางการที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน เพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายและการติดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งในระดับชาติและสากล สสช. จะเป็นผู้ประสานงานและสนับสนุนข้อมูลเชิงนโยบายเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพในอนาคตที่สมดุลทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า อบก. เป็นหน่วยงานรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตามมาตรฐานสากล มีบทบาทสำคัญในการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งในการลงนามครั้งนี้ อบก. จะร่วมบริหารจัดการเครือข่าย ให้คำแนะนำการจัดทำข้อมูลสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับบริบทไทย และสนับสนุนกิจกรรมของภาคีเครือข่าย เพื่อให้รายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความน่าเชื่อถือ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ มุ่งสู่ Net Zero Emissions ภายในปี 2065
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานหลักด้านนโยบายและมาตรการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รู้สึกยินดีที่ได้ร่วมลงนาม MOU พัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และมีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำเชิงนโยบาย เสนอโจทย์วิจัยและเทคโนโลยี รวมถึงสนับสนุนการจัดทำข้อมูลและงบประมาณ เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของประเทศไทย และขับเคลื่อนสู่เป้าหมายความยั่งยืนระดับโลก