
ในยุคที่การซื้อขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล กำลังกลายเป็นช่องทางหลักที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าและบริการได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว แต่ในความสะดวกสบายก็อาจแฝงความเสี่ยงโดยไม่รู้ตัว หากใช้โดยขาดวิจารณญาณและการรู้เท่าทัน ปัจจุบันมิจฉาชีพฉกฉวยโอกาสจากช่องโหว่ของกฎหมาย สร้างกลลวงและวงจร "สินค้าผิดกฎหมาย - ไม่ได้มาตรฐาน" บนโลกออนไลน์ อย่างกรณีที่ตกเป็นประเด็นดัง หญิงสาวสั่งซื้อกระดาษทิชชูเปียกผ่านทางออนไลน์ แต่กลับได้ลำโพงที่ภายในซุกซ่อนยาเสพติด หรืออีกหลายกรณีที่ผู้บริโภคต้องตกเป็นเหยื่อ ทั้งจากสินค้าไม่ตรงปก สินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน
เมื่อเร็วๆ นี้- ETDA หน่วยงานกำกับดูแลแพตฟอร์มดิจิทัล ที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดการสร้างระบบนิเวศน์ของการทำธุรกรรมออนไลน์ที่ทุกคนมั่นใจ ได้เปิดเวทีเสวนาเดินหน้าแคมเปญใหญ่ "DPS Trust Every Click" ใต้แนวคิด "รวมพลังต้านภัย สินค้าออนไลน์ ผิดกฎหมาย - ไร้มาตรฐาน" เชิญผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์โดยตรงกับการจัดการปัญหาการซื้อ-ขาย 'สินค้าออนไลน์' จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภค,ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย., สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และแพลตฟอร์มดิจิทัล อย่าง Shopee (ประเทศไทย) มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองพร้อมเจาะลึกปัญหา ร่วมหาแนวทางสกัดกั้นปัญหา สร้างพื้นที่การทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น
เมื่อ 'ของถูก' กลายเป็นกับดัก ปัญหาไม่ใช่แค่ตัวเลขร้องเรียน แต่คือ 'วิกฤตสาธารณะ'
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาการซื้อขายสินค้าออนไลน์ในปัจจุบันไม่ได้เกิดจากเจตนาร้ายของมิจฉาชีพเพียงฝ่ายเดียว แต่มักเป็นผลจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ขาดความตระหนัก และมีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้าจาก "ราคาถูก" มากกว่าคุณภาพหรือแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ หลายกรณีผู้บริโภคซื้อสินค้าราคาต่ำผิดปกติ เช่น ตู้เย็นราคาไม่ถึง 200 บาท หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าไร้มาตรฐาน ส่งผลให้ไม่ได้รับสินค้าตามที่สั่ง ถูกหลอกให้โอนเงิน หรือได้รับสินค้าที่ไม่สามารถใช้งานได้ และไม่แจ้งความหรือติดต่อหน่วยงานเพราะมูลค่าความเสียหายต่ำ จนนำไปสู่พฤติกรรม "ยอมรับความเสียหาย" ซึ่งเปิดช่องให้กลุ่มมิจฉาชีพเติบโตในโลกออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสถิติจากศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ หรือ 1212 ETDA พบว่า ปี 2567 มีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 35,358 ครั้ง ปัญหาที่พบมากสุดคือ 'การซื้อขายของออนไลน์' เช่น ได้ของไม่ตรงปก ไม่ได้รับสินค้า หรือสินค้าปลอม รวมถึงถูกฉ้อโกงต่าง ๆ จากแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งเป็น 74% ของเรื่องที่ถูกร้องเรียนทั้งหมด
ด้านสภาองค์กรของผู้บริโภคชี้ว่าแม้มูลค่าความเสียหายต่อรายจะเฉลี่ยเพียง 500 บาท แต่เมื่อรวมกันในระดับประเทศ ความเสียหายกลับอยู่ในระดับ "หมื่นล้านบาท" จนทำให้ปัญหาระดับปัจเจกบุคคลกลายเป็น 'วิกฤตสาธารณะ' ที่ไม่อาจไม่ข้าม และที่สำคัญมีความซับซ้อนมากขึ้น ด้านกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เผยว่าวิธีการของมิจฉาชีพมีความซับซ้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้ "บัญชีม้า" หรือบุคคลอื่นในการเปิดบัญชีรับโอนเงิน ทำให้ยากต่อการตามจับตัวผู้กระทำผิด อีกทั้งยังพบการหลอกซ้อนหลอก เช่น มิจฉาชีพหลอกคนให้เปิดบัญชีโดยอ้างว่าจะได้ผลตอบแทน แล้วใช้บัญชีนั้นหลอกลวงคนอื่นอีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้ สื่อบางส่วนมักนำเสนอเนื้อหาที่สื่อถึงวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ นี่ก็ทำให้กลายเป็นช่องทางให้กลุ่มมิจฉาชีพศึกษาแนวทางการสืบสวนและหาวิธีเลี่ยงการจับกุม จึงมีข้อเสนอให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ผลิตเนื้อหาสื่อต่างๆ รวมถึงสื่อมวลชน ให้ตระหนักถึงผลกระทบทางอ้อมที่อาจเกิดขึ้นต่อการบังคับใช้กฎหมาย
ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือ เติมเต็ม ปิดจุดอ่อน ซื้อขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์
ตัวแทนจากทุกหน่วยงาน ต่างร่วมสะท้อนบทบาท บทเรียน และแนวทางในการรับมือกับปัญหา ไว้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น
- สภาองค์กรของผู้บริโภค - การซื้อขายออนไลน์กลายเป็น "ภัยสาธารณะยุคใหม่" ที่อาจทำให้เงินในบัญชีหายไปในพริบตา ผู้บริโภคจำนวนมากถูกหลอกให้ซื้อสินค้าที่ไม่มีคุณภาพหรือไม่ได้รับของเลย โดยเฉพาะจากการซื้อขายผ่านช่องทางส่วนตัวอย่าง Facebook ที่ไร้การตรวจสอบตัวตน สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงเน้นย้ำให้มี "สติก่อนช้อป" ผลักดันกฎหมาย "Lemon Law" หรือ (ร่าง) พระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า ให้มีผลบังคับใช้เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถขอเปลี่ยนหรือคืนสินค้าได้ในกรณีที่สินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น
- ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. - ได้รับเรื่องร้องเรียน เฉลี่ยปีละ 3,000 - 4,000 เคส มากกว่า 50-60% เป็นปัญหาเกี่ยวกับ โฆษณาหลอกลวง หรือโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาต และที่น่าตกใจคือ ผู้บริโภคบางส่วน มักเลือกซื้อยาจากออนไลน์ ทั้งที่ร้านขายยามีทั่วไป บางรายไม่สามารถแยกแยะสินค้าปลอมได้ ที่สำคัญไม่ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของร้านค้า และยอมรับความเสี่ยงโดยไม่ตั้งคำถาม อย.ย้ำ พร้อมเดินหน้าร่วมมือกับแพลตฟอร์ม และพัฒนา AI ตรวจจับผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ไม่ได้มาตรฐาน โดยเริ่มจากกลุ่มอาหาร AI พร้อมเน้นใช้ ฉลากภาษาไทย เป็นตัวบ่งชี้เบื้องต้นของความน่าเชื่อถือ เมื่อ AI ตรวจจับได้ อย. จะทำหน้าที่สกรีน ตรวจสอบ และประสานแพลตฟอร์มเพื่อปิดการขายสินค้า พร้อม ดำเนินคดีตามกฎหมาย
- สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม - แพลตฟอร์มออนไลน์เติบโตแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้สินค้าหลายประเภท รวมถึงสินค้าจากจีน หลั่งไหลเข้าสู่ตลาดออนไลน์และหลายรายการไม่ผ่านการควบคุมคุณภาพ สร้างความท้าทายต่อการคุ้มครองผู้บริโภค ปัจจุบัน สมอ. มีมาตรฐานบังคับ 145 รายการ และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 200 รายการในปี 2570 พร้อมเดินหน้าทำงานร่วมกับ ตำรวจ แพลตฟอร์มดิจิทัล ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อเฝ้าระวังและขับเคลื่อนความรู้เรื่องมาตรฐานในสังคมไทย โดยเฉพาะการให้แพลตฟอร์มช่วยแจ้งเตือนสินค้าขายดีผิดปกติเพื่อจัดลำดับความเสี่ยงและสกัดสินค้า อันตรายตั้งแต่ต้นทาง จุดมุ่งหมายของ สมอ. ไม่ใช่แค่ควบคุม แต่คือการสร้างภูมิคุ้มกันแก่ผู้บริโภค ยกระดับความปลอดภัยของโลกออนไลน์ให้เป็นพื้นที่ที่ไว้ใจได้ในทุกคลิก
- สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค - พฤติกรรมผู้บริโภคยังไม่ระวังภัยออนไลน์ หลงเชื่อโฆษณาเกินจริง โดยปี 2567 มีเรื่องร้องเรียนกว่า 40,000 เรื่อง ภายใน 4 เดือนของปี 2568 ทะลุ 16,000 เรื่อง โดยเหยื่อส่วนใหญ่ มักเป็นผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อ แต่เมื่อเจอปัญหากลับไม่สามารถจัดการระบบออนไลน์ได้ด้วยตนเอง แนะสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้บริโภคตั้งแต่วัยเรียน ส่งเสริมให้ความรู้เรื่อง "สิทธิของผู้บริโภค" และทักษะในการตัดสินใจผ่านระบบการศึกษา เพื่อป้องกันการถูกหลอกในอนาคต ควบคู่การพัฒนาโครงการ "ALL CLEAR" เชื่อมระบบแพลตฟอร์มออนไลน์เข้ากับฐานข้อมูลของ สคบ. เพื่อให้ตรวจสอบข้อร้องเรียนได้รวดเร็วขึ้น ตั้งเป้าตอบสนองภายใน 48 ชั่วโมง ในอนาคต ผลักดันให้แพลตฟอร์มจดทะเบียนตลาดแบบตรง โดยเฉพาะผู้ขายออนไลน์ที่มียอดเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนกับ สคบ. เพื่อสร้างกลไกกำกับดูแลร่วมกัน และใช้มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคได้ชัดเจน และกระตุ้นให้แพลตฟอร์มมีบทบาทเชิงรุกในการป้องกันมิจฉาชีพแฝงตัวเข้าระบบเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคตั้งแต่ต้นทาง
- กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง - การติดตามผู้กระทำผิดหลอกออนไลน์ เป็นเรื่องยากเพราะเส้นทางการเงินซับซ้อน เชื่อมโยงหลายบัญชี ต้องใช้เวลาและขั้นตอนทางกฎหมาย ที่สำคัญคดีความมีจำนวนมาก ทำให้กระบวนการฟ้องศาลพิจารณาใช้เวลานาน บางคดีต้องรอถึงปีถัดไป แนวทางการรับมือ มุ่งเน้นการดำเนินคดีกับบัญชีม้า ขอความร่วมมือจากสื่อและแพลตฟอร์มให้เลี่ยงการเผยรายละเอียดวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อไม่เปิดช่องให้คนร้ายปรับกลยุทธ์หนีการจับกุม ประสานการทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง พร้อมเสนอให้รัฐควบคุม "ตลาดมืด" ให้เข้าสู่ระบบตรวจสอบเช่นเดียวกับแพลตฟอร์มใหญ่ เพื่อให้รู้ตัวตนของผู้ขายทั้งหมดสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนถึงขั้นตอนกระบวนการทางคดีและการเยียวยาต่างๆ
แพลตฟอร์มดิจิทัลต้องร่วมเป็น "ด่านหน้า" คัดกรองสินค้า
ฝั่งตัวแทนแพลตฟอร์มดิจิทัล อย่าง Shopee ย้ำในเวทีนี้ถึงการเน้นสร้างความร่วมมือกับภาครัฐในการแชร์ข้อมูลและตรวจสอบผู้ขาย เพื่อป้องกันการฉ้อโกงออนไลน์ โดยใช้ระบบ AI ตรวจจับความผิดปกติก่อนสินค้าจะขึ้นขาย พร้อมเข้มงวดกับสินค้าผิดกฎหมาย สินค้าปลอม และสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน มีระบบ "Shopee Guarantee" ที่ให้ผู้ซื้อคืนสินค้า/ขอเงินคืนได้ภายใน 7-14 วัน หากสินค้าไม่ตรงปก นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังสามารถรีพอร์ตพฤติกรรมผิดปกติผ่านแพลตฟอร์มได้โดยตรง พร้อมยอมรับ การคุ้มครองผู้บริโภคมากเกินไปอาจกระทบต่อผู้ขาย โดยเฉพาะกรณีผู้ซื้อที่คืนสินค้าบ่อยโดยไม่เหมาะสม จึงอยู่ระหว่างการพัฒนานโยบายที่สมดุลและเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย โดยตั้งเป้าสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคผ่านคอนเทนต์แบบวิดีโอ ไลฟ์สด และการนำเสนอข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้นโดยเฉพาะต่อกลุ่มผู้ซื้อที่ยังไม่มั่นใจในร้านค้า เป็นต้น
"การป้องกันง่ายกว่าการแก้ไข" นี่คือสิ่งที่เวทีเสวนาเห็นพ้องร่วมกัน และก่อนคลิกซื้อถามตัวเองสักนิด "ราคานี้สมเหตุสมผลไหม?" "ผู้ขายน่าเชื่อถือแค่ไหน?" แค่คำถามง่าย ๆ ก็อาจช่วยคุณรอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อออนไลน์ได้ แต่แค่สติยังไม่พอ ต้องมีระบบที่เชื่อถือได้ ETDA จึงผลักดัน 'กฎหมาย DPS' ที่กำหนดให้แพลตฟอร์มดิจิทัลไม่เพียงแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจ
และปฏิบัติตามมาตรฐาน แต่ยังออกเครื่องหมายรับแจ้ง "ETDA DPS Notified" ให้แพลตฟอร์มที่ผ่านการรับรอง เพื่อช่วยยืนยันว่าแพตฟอร์มที่เราเลือกใช้ ปลอดภัย โปร่งใส เป็นธรรม ทั้งยังเสริมด้วย "4 คู่มือสำคัญ" ที่ครอบคลุม ทั้งการยืนยันตัวตน การควบคุมโฆษณา การขายสินค้าที่มีมาตรฐาน และการจัดการรีวิวออนไลน์ ทั้งหมด ก็เพื่อให้ ทุกคลิก ของคุณ เกิดขึ้นด้วยความมั่นใจ ไม่ใช่ความเสี่ยง-ติดตามความเคลื่อนไหวเพิ่มเติมได้ที่ เพจ ETDA Thailand