
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. เปิดทิศทางใหม่ มุ่งยกระดับระบบประเมินคุณภาพการศึกษาไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน ด้วยแนวคิด 'ลดภาระ เพิ่มคุณภาพ' พร้อมพัฒนาผู้ประเมินภายนอกสู่บทบาท 'ที่ปรึกษาคุณภาพ' และสร้างกลไกความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั่วประเทศ
ศาสตราจารย์ ดร.องอาจ นัยพัฒน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. เปิดเผยว่า ทิศทางและแผนการดำเนินงานของ สมศ. ต่อไปนี้ จะเป็นการมุ่งประเมินเชิงส่งเสริม สร้างความร่วมมือ เชื่อมโยงผลสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้ สมศ. เป็นหน่วยตรวจประเมินคุณภาพภายนอกระดับชาติ ที่ส่งเสริมคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง ด้วยแนวคิด "ลดภาระ เพิ่มคุณภาพ" ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การปรับบทบาทผู้ประเมินภายนอก และกลไกความร่วมมือเชิงรุกกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา สมศ.ได้รับเสียงสะท้อนจากสถานศึกษาว่าการประเมินเป็นภาระ ใช้เวลามาก ต้องเตรียมเอกสารจำนวนมาก และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เชิงพัฒนาอย่างแท้จริง สมศ.จึงได้พลิกโฉมการดำเนินงาน ปรับกระบวนการโดยลดจำนวนวันลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเหลือเพียงวันเดียว นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลผ่านระบบดิจิทัล และใช้ "ซอฟต์ไฟล์" (Soft file) จากหน่วยงานต้นสังกัดตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้รบกวนการเรียนการสอน เป็นการเปลี่ยนภาพจำเก่า สู่ระบบประเมินที่ยืดหยุ่น เข้าถึงง่าย และสามารถนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกไปใช้ได้จริง
ทั้งนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ สมศ. วางเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพระบบประเมินและสถานศึกษา โดยแบ่งเป็น 3 แกนหลักขับเคลื่อนภารกิจเพื่ออนาคต ได้แก่
ความร่วมมือดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้สถานศึกษานำข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประกันคุณภาพภายนอกไปใช้วางแผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ให้ข้อเสนอแนะที่เหมาะสมในการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ทั้งนี้ การดำเนินการจะไม่เพิ่มภาระแก่สถานศึกษา และยังเป็นการกระตุ้นให้สถานศึกษาจัดทำกระบวนการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามวงจรควบคุมคุณภาพ (PDCA)
"สมศ. คาดหวังว่าผลการประเมินคุณภาพภายนอกเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมและขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาให้เกิดขึ้นจริงในทุกพื้นที่ โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการประเมินภายนอกรูปแบบใหม่อย่างเต็มรูปแบบ หากสามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมศ. จะก้าวข้ามจากบทบาทผู้ประเมิน ไปสู่การเป็น "หุ้นส่วนพัฒนาคุณภาพการศึกษา" อย่างแท้จริง พร้อมเดินหน้าในฐานะ สมศ. โฉมใหม่ที่ร่วมขับเคลื่อนอนาคตการศึกษาไทย" ศาสตราจารย์ ดร.องอาจ นัยพัฒน์ กล่าวสรุป