(ต่อ1) ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ประจำวันที่ 20 มกราคม 2547

ข่าวทั่วไป Wednesday January 21, 2004 16:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--ศูนย์ปชส. กระทรวงคมนาคม
2. เรื่อง การจัดโครงสร้างองค์กรรูปแบบอื่นที่มิใช่ส่วนราชการ : หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามมติคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ การจัดโครงสร้างองค์กรรูปแบบอื่นที่มิใช่ส่วนราชการ : หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ ดังนี้
1. การจัดโครงสร้างองค์กรแบบหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ
2. การนำรูปแบบการจัดโครงสร้างดังกล่าวในข้อ 1 ไปทดลองใน 5 หน่วยงาน คือ 1) สำนักกษาปณ์กรมธนารักษ์ 2) กองโรงพิมพ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 3) สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีสำนักงาน ก.พ.ร. 4) หน่วยงานทางด้านศิลปะ วัฒนธรรมหรือพิพิธภัณฑ์ 5) หน่วยงานทางด้านห้องปฏิบัติการ
การทดลองให้แบ่งเป็น 2 ระยะ สำหรับระยะแรกทดลองใน 3 หน่วยงานแรก สำหรับระยะที่สองให้คัดเลือกส่วนราชการที่เหมาะสมแล้วจึงทดลองปฏิบัติ
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานว่า
1. ตามแนวความคิดของแผนยุทธศาสตร์พัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2546 - 2550) ประกอบกับเจตนารมณ์และเงื่อนไขตามมาตรา 16 ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ซึ่งกำหนดว่า "ในวาระแรกให้ ก.พ.ร. ดำเนินการเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีการปรับปรุงโครงสร้าง ระบบราชการระบบงบประมาณ ระบบบุคลากร การปรับเปลี่ยนส่วนราชการเป็นองค์การมหาชน หรือองค์กรรูปแบบอื่นที่มิใช่ส่วนราชการเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของประชาชน ทั้งนี้ ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ" ทำให้เกิดความจำเป็นในการออกแบบโครงสร้างองค์กรรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ส่วนราชการ โดยเฉพาะในส่วนของภารกิจเกี่ยวกับการให้บริการหรืองานสนับสนุนบางประการ ซึ่งยังไม่สมควรหรือไม่มีเหตุผลสนับสนุนรองรับในการยุบเลิกและให้เอกชนเข้ามาดำเนินการแทน แต่การดำเนินงานดังกล่าวต้องอาศัยนวัตกรรมทางการบริหารจัดการและความเป็นอิสระคล่องตัว โดยเฉพาะการมุ่งเน้นถึงประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความคุ้มค่าของเงิน คุณภาพและความพึงพอใจของลูกค้าผู้รับบริการ
2. ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ครั้งที่ 9/2546 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม 2546ได้พิจารณาเรื่อง การจัดโครงสร้างองค์กรรูปแบบอื่นที่มิใช่ส่วนราชการ : หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (Service Delivery Unit) แล้วเห็นชอบในหลักการจัดรูปแบบหน่วยงาน กระบวนการขั้นตอนในการจัดตั้งและระบบบริหารงาน รวมทั้งให้ทดลองปฏิบัติใน 5 ส่วนราชการก่อน ดังนี้
2.1 หน่วยบริการรูปแบบพิเศษคืออะไร
1) หน่วยบริการรูปแบบพิเศษมีสถานะเป็นหน่วยงานให้บริการภายในของระบบราชการ โดยมีลักษณะกึ่งอิสระหรือมี arm's length แต่ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลยังคงถือเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงหรือกรม และอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของปลัดกระทรวงหรืออธิบดีสุดแล้วแต่กรณี มีเป้าหมายให้บริการหน่วยงานแม่เป็นอันดับแรก และหากมีกำลังการผลิตส่วนเกินจะให้บริการหน่วยงานอื่นได้ ในการส่งมอบผลผลิตต้องมีระบบการประกันคุณภาพ
2) มีลักษณะของการจัดโครงสร้างการบริหารในแบบการกระจายอำนาจ แยกส่วนออกมาเป็นหน่วยงานเอกเทศ หรือเรียกกันว่า ศูนย์รับผิดชอบ (responsibility center) ที่สามารถดูแลรับผิดชอบการดำเนินงาน การบริหารทรัพยากรและการส่งมอบผลผลิตของตนเองในลักษณะเดียวกันกับศูนย์กำไร (profit center) ที่นิยมจัดตั้งขึ้นในบริษัทธุรกิจโดยทั่วไป
3) มีการถ่ายโอนและโยกย้ายข้าราชการและลูกจ้างบางส่วนออกไป ลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่าย รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพของการดำเนินงานให้ดีขึ้น
2.2 ลักษณะงานที่อาจกำหนดเป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ จะต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
1) มีลักษณะหรือธรรมชาติการดำเนินงานเป็นเรื่องของการให้บริการ
2) สามารถดำเนินการได้อย่างชัดเจนภายใต้กรอบนโยบายที่กำหนดขึ้น
3) มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงและสร้างภาระรับผิดชอบต่อหน่วยงานแม่ต้นสังกัดได้
4) สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม
5) มีขนาดที่เหมาะสมเพียงพอต่อการแยกส่วนออกมาจากหน่วยงานแม่ต้นสังกัด
6) ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
2.3 การบริหารงานอาจดำเนินการในรูปของคณะกรรมการอำนวยการหรือคณะกรรมการบริหารที่ได้รับการแต่งตั้งจากหน่วยงานแม่ต้นสังกัด (หรือในกรณีที่เป็นศูนย์บริการร่วมอาจมีผู้แทนของหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาร่วมกันเป็นคณะกรรมการบริหาร) ประมาณ 3 - 5 คน โดยให้มีผู้อำนวยการซึ่งผ่านการคัดเลือกตามเงื่อนไขที่กำหนด ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารงานให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าว ทั้งนี้ หน่วยบริการรูปแบบพิเศษจะต้องมีอิสระความคล่องตัวในการจัดโครงสร้างองค์กร อัตรากำลังและค่าตอบแทนของตนได้เองตามความเหมาะสมโดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการหรือคณะกรรมการบริหาร หรือผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานแม่สุดแล้วแต่กรณี
2.4 รายได้และรายจ่าย หน่วยบริการรูปแบบพิเศษสามารถจะเรียกเก็บค่าบริการจากหน่วยงานแม่ต้นสังกัดหน่วยงานหรือลูกค้าผู้รับบริการอื่น ๆ ได้ (ทั้งในรูปแบบของ direct charge หรือ internal charges) เพื่อหารายได้ให้พอเพียงกับการดำเนินงานของตนเองและไม่จำเป็นต้องส่งรายได้ทั้งหมดให้แก่กระทรวงการคลัง แต่ต้องนำรายได้ส่งคลังในอัตราส่วนเดียวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล รายได้ส่วนที่เหลือจากการนำส่งคลังให้นำไปใช้ในการสร้างแรงจูงใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน การลงทุนเพิ่มเติม การพัฒนาองค์การและบุคลากรให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นในระยะยาว และอาจต้องจัดสรรส่วนหนึ่งเข้าสวัสดิการของหน่วยงานแม่
อย่างไรก็ดี ในบางกรณีกระทรวงการคลังร่วมกับ ก.พ.ร. อาจเสนอให้คณะรัฐมนตรีวางเงื่อนไขให้หน่วยบริการรูปแบบพิเศษใดจัดส่งรายได้เข้ารัฐเมื่อมีเหตุอันสมควรก็ได้ หรืออาจเข้าแทรกแซงโดยการเสนอสำนักงบประมาณให้ปรับลดวงเงินงบประมาณที่จัดสรรให้แก่หน่วยงานแม่ต้นสังกัดลง เป็นต้น
2.5 กระบวนการและขั้นตอนในการจัดตั้งหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ มี 4 ขั้นตอน คือ
1) หน่วยงานต้นสังกัดวิเคราะห์ความเหมาะสมของหน่วยงานที่ประสงค์จะจัดตั้งเป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษเสนอกระทรวงเพื่อพิจารณา
2) กระทรวงพิจารณาข้อเสนอ หากเห็นชอบให้ส่งคำขอจัดตั้งหน่วยบริการรูปแบบพิเศษมายังสำนักงาน ก.พ.ร. พร้อมรายละเอียดในรูปแบบของ "เอกสารกรอบการดำเนินงาน" ในกรณีที่กระทรวงประสงค์จัดตั้งก็จัดทำคำขอพร้อมรายละเอียดเช่นเดียวกันส่งมายังสำนักงาน ก.พ.ร.
3) สำนักงาน ก.พ.ร. วิเคราะห์ความเหมาะสมในด้านภารกิจศักยภาพขององค์การด้านต่าง ๆ ตลอดจนระบบการบริหารจัดการ และระบบการกำกับดูแลจากหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อเสนอ ก.พ.ร. ให้ความเห็นชอบ
4) ก.พ.ร. นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป
(ยังมีต่อ)
-รก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ