Operation Twist จะช่วยกอบกู้เศรษฐกิจได้หรือไม่

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 25, 2011 16:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--บลจ.บัวหลวง ในภาวะอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 0.25% การบริโภคภายในประเทศซบเซา ตัวเลขอัตราการว่างงานสูง ผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์หนี้สาธารณะของกลุ่มยูโรโซน ได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก และการเข้าสู่สภาวะถดถอย (หรือใกล้เคียง) ของสหรัฐในปัจจุบัน คำถามก็คือ สหรัฐจะทำอย่างไรได้เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อการลดดอกเบี้ยไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และจากอัตราหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงใกล้เคียง 100% เข้าทุกขณะ ทำให้ภาครัฐไม่สามารถเพิ่มหนี้โดยการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มได้โดยง่าย ดังนั้น ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ “เฟด” จำเป็นต้องสรรหานโยบายรูปแบบใหม่เพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว และนี่จึงเป็นที่มาของ Operation Twist หรือ ปฏิบัติการสับเปลี่ยนตราสารหนี้ จากแถลงการณ์ Operation Twist เฟดจะทำการขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้นที่มีอยู่ ซึ่งจะครบกำหนดภายใน 3 เดือนถึง 3 ปี จำนวน 4 แสนล้านเหรียญ และนำเงินที่ได้นั้นไปซื้อพันธบัตรระยะยาว ซึ่งมีกำหนดครบใน 6 ปีถึง 30 ปี นอกจากนี้ เงินที่ได้จากการครบกำหนดของ Mortgage-backed security (MBS) หรือหลักทรัพย์ที่แปลงมาจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย จะถูกนำกลับไปลงทุนใน MBS ต่อไป ในอีกความหมายหนึ่ง Operation Twist คือ การเพิ่มอายุครบกำหนดเฉลี่ยของสินทรัพย์ในงบดุลของเฟด โดยไม่มีการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจเพิ่มนั่นเอง คำถามก็คือ เฟดหวังผลลัพธ์อะไรจากแผนการดังกล่าว? กลไกของ Operation Twist นั้น เมื่อเฟดซื้อตราสารหนี้ หรือ “ดูด” ตราสารหนี้ระยะยาวออกจากตลาด ทำให้ปริมาณอุปทานลดลง ราคาตราสารหนี้iระยะยาวจึงพิ่มขึ้น (ราคาซื้อขายพันธบัตรเพิ่มขึ้น แปลว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรลดลง) ซึ่งจะจูงใจให้นักลงทุนที่ครอบครองตราสารหนี้ระยะยาวจำนวนหนึ่งเทขายพันธบัตรออกมา แล้วนักลงทุนก็จะนำเงินที่ได้ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเท่าเทียมกันหรือมากกว่า เช่น ตราสารหนี้ภาคเอกชน เพื่อรักษาผลตอบแทนในพอร์ตการลงทุน และต่อมาเมื่อตราสารหนี้ภาคเอกชนมีความต้องการสูงขึ้น ราคาเพิ่มขึ้น นักลงทุนที่ครอบครองตราสารหนี้เอกชนดังกล่าวก็จะขายออกมา และความต้องการก็จะขยับไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงและผลตอบแทนสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งกระบวนการดังกล่าว จะส่งผลกระทบในวงกว้างแก่ระบบเศรษฐกิจ เพราะจะเพิ่มความต้องการในสินทรัพย์ทุกประเภท ทำให้ราคาของสินทรัพย์ทุกอย่างเพิ่มขึ้น รวมไปถึงตลาดหุ้น ทางด้านการคาดประมาณประสิทธิภาพของการเข้าซื้อครั้งนี้ นักวิเคราะห์ของธนาคารวาณิชธนกิจ Goldman Sachs คาดว่า Operation Twist จะดึงพันธบัตร 10 ปี ออกจากตลาดประมาณ 4 แสนล้านเหรียญ ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียง หรือมากกว่า QE2 เล็กน้อยเสียด้วยซ้ำ หนึ่งในจุดมุ่งหมายหลักของ Operation Twist คือ การกดให้ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน ซึ่งคือ อัตราดอกเบี้ยระยะยาวนั้นให้อยู่ในระดับที่ต่ำมากๆ โดยหวังให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้รับการกระตุ้นให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการเพิ่มการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ ดอกเบี้ยระยะยาวที่จะต่ำลง ย่อมหมายถึงต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลงของบรรดาองค์กรและธุรกิจต่างๆ ซึ่งจะกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ สร้างงานแก่ประชากร เพิ่มการจับจ่ายใช้สอย และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในที่สุด อย่างไรก็ตาม ตลาดบางส่วนกลับไม่เห็นด้วยว่า Operation Twist จะมีประสิทธิภาพมากนัก บริษัทจัดการกองทุน Blackrock มองว่า Operation Twist มีแต่จะทำให้ yield curve แบนราบลง หรือ ผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะสั้นเพิ่มขึ้น และระยะยาวลดลง ซึ่งจะส่งผลเสียแก่บรรดาธนาคาร และบริษัทประกันภัยเพราะจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนระยะยาวลดลงหากไม่รับความเสี่ยงมากขึ้น และก็ไม่ได้การันตีว่า จะธนาคารจะปล่อยกู้เพิ่มขึ้นอีกด้วย นอกจากนั้น ต้นทุนการกู้ยืมทางธุรกิจที่ลดลงที่จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทและองค์กรต่างๆ ซึ่ง Blackrock คาดว่า บริษัทบางส่วนจะกู้ยืมเงินในราคาถูก เพื่อซื้อคืนหุ้นบริษัทตนเอง แทนที่จะนำไปลงทุน เพื่อสร้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่เฟดต้องการ ในส่วนของสินเชื่อที่อยู่อาศัย นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า การที่ประชากรสหรัฐชะลอการซื้อบ้านในปัจจุบันไม่ได้เป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงเกินไป แต่เป็นเพราะขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจ กังวลว่าเศรษฐกิจจะถดถอย เนื่องจากราคาบ้านกำลังปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง และอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับสูงทำให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้สิน ทำให้นักวิเคราะห์บางส่วนคาดว่า แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะลดลงก็จะไม่สามารถดึงดูดให้คนซื้อบ้านได้มากนัก ปฏิบัติการ Operation Twist แม้จะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มากก็น้อย แต่ก็ไม่น่าจะได้ผลเท่ากับครั้ง QE2 ซึ่งตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นเกือบ 30% ภายใน 6 เดือน หลังจากเริ่มต้นอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ เพราะ Operation Twist เป็นเพียงการเปลี่ยนการถือครองตราสารหนี้ของเฟดและไม่มีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่เศรษฐกิจโดยตรง สิ่งที่คัญที่สุดก็คือ ดอกเบี้ยที่ลดลงจะสามารถดึงดูดผู้บริโภคและนักลงทุนได้เพียงใดภายใต้เศรษฐกิจโลกที่ผันผวนยากที่จะคาดเดาในปัจจุบัน ดังนั้น สิ่งที่ต้องจับตาดูคือ ตัวเลขการซื้อบ้านของตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ ว่าจะตอบรับแผน Operation Twist มากหรือน้อย และเร็วหรือช้า เพียงใด กร ดุรงคเวโรจน์ Disclaimer : ข้อมูลในเอกสารนี้ รวบรวมจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ ทั้งนี้ บลจ.บัวหลวง ไม่สามารถยืนยันหรือรับรองความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าว และไม่ว่ากรณีใด บทวิเคราะห์ในเอกสารนี้ มิได้เป็นการชี้นำในการตัดสินใจ หรือโฆษณาการดำเนินธุรกิจของบริษัท การตัดสินใจใดๆ ของผู้อ่าน ล้วนเป็นการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน ซึ่ง บลจ.บัวหลวง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดๆ ทั้งสิ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ