กรุงเทพฯ--2 ธ.ค.--สำนักวิจัยเอแบคโพลล์
เอแบคโพลล์เปิดโครงการ “คนดีมีที่ยืน” ถวายแด่ในหลวง เชิญชวนผู้พบเห็นคนทำความดีนำมาเผยแพร่ใน “โซเชียลเน็ตเวิร์คพิทักษ์คุณธรรม” www.police.au.edu
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ระบุว่าศูนย์วิจัยความสุขชุมชนได้รับมอบหมายจาก อ.ก.ตร.จริยธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดทำโครงการโซเชียลเน็ตเวิร์คพิทักษ์คุณธรรมและทำเว็บไซต์ อ.ก.ตร.จริยธรรม เพื่อเผยแพร่ความดีของข้าราชการตำรวจ ข้าราชการทุกสังกัดและประชาชนทุกหมู่เหล่าที่ประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดีของแผ่นดิน จึงได้เปิดโครงการ “คนดีมีที่ยืน” ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นโครงการต่อเนื่องและมุ่งหวังให้ยั่งยืนคู่สังคมไทยตลอดไป
ดร.นพดล เล่าให้ฟังว่า โครงการนี้มาจากการสนทนาทางโทรศัพท์กับนายตำรวจท่านหนึ่งชื่อ พ.ต.ท.ดร.พงษ์นคร นครสันติภาพ อยู่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในการระบุชื่อนายตำรวจท่านนี้เนื่องจากนักวิจัยนักวิชาการต้องให้เครดิตกับแหล่งที่มาขององค์ความรู้ของโครงการ นายตำรวจท่านนี้แนะนำว่า ศูนย์วิจัยความสุขชุมชนน่าจะจัดทำโครงการโซเชียลเน็ตเวิร์คพิทักษ์คุณธรรมขึ้นเพราะข้าราชการที่ดีมีอยู่เป็นจำนวนมากถือว่าเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ จึงน่าจะมีโครงการยกย่องเชิดชูแบบไม่จำกัดพื้นที่ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่กลุ่มข้าราชการจำนวนมากเหล่านั้นที่อาจไม่ปรากฏให้เห็นในสื่อมวลชนหรือในระบบราชการตามสายการบังคับบัญชาและอาจไม่ได้รับความดีความชอบตามสายงานของตน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่ศูนย์วิจัยความสุขชุมชนตั้งใจจะดำเนินการคือโครงการ “คนดีมีที่ยืนถวายแด่ในหลวง”
ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า โครงการโซเชียลเน็ตเวิร์คพิทักษ์คุณธรรมจึงเปิดโครงการ “คนดีมีที่ยืนถวายแด่ในหลวง” ขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ดีๆ ให้กับข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐทุกสังกัด และประชาชนทุกหมู่เหล่าที่ทำความดีหรือพบเห็นผู้อื่นทำความดีนำมาเผยแพร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มข้าราชการตำรวจที่ประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ทำหน้าที่ด้วยความเสียสละ อดทนอดกลั้น บริการและรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน เป็นตำรวจในอุดมคติน่ายกย่องเชิดชูเกียรติ และยังเปิดกว้างให้กับข้าราชการทุกสังกัดและประชาชนทุกสาขาอาชีพที่ทำความดีอย่างจริงจังต่อเนื่องอีกด้วย ผ่านห้องภาพความดีซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับคัดเลือกคนดีประจำห้องในสามกลุ่มของการประพฤติปฏิบัติตนด้วยกันคือ
กลุ่มที่ 1 ด้านความประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจังต่อเนื่อง เช่น การใช้ชีวิตพอเพียง การต่อต้านทุจริตคอรัปชั่นทุกรูปแบบ การเป็นข้าราชการที่ดี และการเป็นประชาชนผู้มีจิตอาสาอย่างจริงจังต่อเนื่อง เป็นต้น
กลุ่มที่ 2 ด้านสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การเป็นคนดีในช่วงชุมชนประสบภัยพิบัติต่างๆ การเป็นผู้เสียสละช่วยเหลือผู้อื่นในยามฉุกเฉินและในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย ช่วยติดตามจับกุมคนร้าย เป็นต้น
กลุ่มที่ 3 ด้านความดี ปกติในชีวิตประจำวันที่ปรากฏในที่สาธารณะ เช่น ช่วยคนสูงอายุ เด็ก ผู้พิการ ข้ามถนน ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อที่นั่งให้กับคนสูงอายุ เด็ก สตรีบนรถโดยสารสาธารณะ และช่วยเหลือรถยนต์ที่จอดเสียข้างทาง เป็นต้น
โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกคนดีศรีสังคมได้แก่
1) จำนวนคลิก Like ในโซเชียลมีเดีย
2) คณะกรรมการบริหารโครงการ คนดีมีที่ยืน ในระบบโซเชียลเน็ตเวิร์คพิทักษ์คุณธรรม (มติจากคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุดในทุกกรณี)
ผู้พบเห็นคนทำความดีสามารถส่งภาพถ่าย เล่าเรื่อง ระบุยศ (ถ้ามี) ชื่อ ตำแหน่ง สังกัดของคนทำความดี มาได้ที่ [email protected] หรือ [email protected] หรือเข้าสู่โซเชียลเน็ตเวิร์คพิทักษ์คุณธรรมได้ที่ เฟซบุค (FACEBOOK) ชื่อ อนุกรรมการ กตร จริยธรรม และทวิตเตอร์ @PoliceMoral และเว็บไซต์ www.police.au.edu
รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ 027191546—7 หรือ ส่งจดหมายมาที่ ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ 592/3 ซอยรามคำแหง 24 ถ.รามคำแหง หัวหมาก บางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10250