เจ.ดี.พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิค รายงาน ปัญหาเครื่องยนต์และระบบเกียร์ในรถยนต์ใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากปี 2553

ข่าวยานยนต์ Tuesday December 20, 2011 09:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--จิ๊กซอ คอมมิวนิเคชั่นส์ โตโยต้าคว้ารางวัลคุณภาพรถยนต์ใหม่ 4 รุ่น มาสด้า3 และฮอนด้า ซีอาร์-วี คว้ารางวัลในสาขาเดิมเป็นปีที่ห้าติดต่อกัน กรุงเทพฯ วันที่ 16 ธันวาคม 2554 - เจ.ดี.พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิค เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยคุณภาพรถใหม่ ประจำปี 2554 (Initial Quality StudySM — IQS) ในวันนี้ พบว่า คุณภาพรถยนต์ผลิตใหม่โดยรวมในประเทศไทยลดลงจากปี 2553 เหตุหลักๆมาจากการที่มีการแจ้งเข้ามาของเจ้าของรถยนต์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับปัญหาเครื่องยนต์และระบบเกียร์อย่างมาก การศึกษาวิจัยครั้งนี้ซึ่งเป็นการศึกษาปัญหาคุณภาพรถยนต์ใหม่ที่เจ้าของรถยนต์ได้ประสบในช่วง 2-6 เดือนแรกของการเป็นเจ้าของ การศึกษานี้ได้ตรวจสอบถึงปัญหาหรือความผิดปกติมากกว่า 200 รายการ และสามารถจัดกลุ่มปัญหาหรือความผิดปกติที่พบได้เป็น 8 หมวดหมู่ โดยเรียงตามลำดับความถี่ของปัญหาที่มีการรายงานเข้ามา ปัญหาแรก ได้แก่ ปัญหาภายนอกรถยนต์ ตามมาด้วยปัญหาเครื่องยนต์และระบบเกียร์ ปัญหาประสบการณ์ในการขับขี่ ปัญหาจากอุปกรณ์ ปุ่มควบคุมและแผงหน้าปัด ปัญหาจากระบบฮีทเตอร์ ระบบระบายอากาศและระบบแอร์ (HVAC) ปัญหาจากที่นั่ง ปัญหาจากภายในรถยนต์ และ ปัญหาด้านเครื่องเสียง ระบบความบันเทิงและระบบนำทาง การวัดผลด้านคุณภาพผลการศึกษานี้คำนวณจากจำนวนปัญหาหรือความผิดปกติที่พบจากรถยนต์ใหม่ทุก 100 คัน (ในที่นี้ เรียกว่า PP100) โดยรถยนต์รุ่นใดที่ได้คะแนนน้อย ถือว่ารถยนต์รุ่นนั้นมีคุณภาพสูง ในปี 2554 ค่าเฉลี่ยคุณภาพรถใหม่โดยรวมอยู่ที่ 113 ต่อรถยนต์ 100 คัน เทียบปี 2553 ซึ่งคะแนนอยู่ที่ 106 ต่อรถยนต์ 100 คัน สัดส่วนปัญหาเครื่องยนต์และระบบเกียร์ที่มีการรายงานเข้ามาเพิ่มขึ้นเป็น 22% ในปี 2554 จากเดิมที่อยู่ที่ 17% ในปี 2553 และจากปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น สัดส่วนปัญหาเครื่องยนต์และระบบเกียร์เป็นปัญหาที่มีการรายงานเข้ามามากป็นอันดับสองรองจากปัญหาภายนอกรถยนต์ “เมื่อเทียบปัญหาเครื่องยนต์และระบบเกียร์รวมถึงปัญหาการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงกับปัญหาอื่นๆของรถยนต์แล้ว ถือว่าปัญหานี้ส่งผลอย่างมากต่อความพึงพอใจของลูกค้าที่มีต่อคุณภาพรถยนต์ใหม่” โลอิค เปอ็อง ผู้จัดการอาวุโสของ เจ.ดี.พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิค ประจำประเทศไทย กล่าว ปัญหาที่สืบเนื่องมาจากปัญหาเครื่องยนต์และระบบเกียร์ซึ่งเจ้าของรถยนต์มีการแจ้งเข้ามาบ่อยที่สุด ได้แก่ ปัญหาการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง (โดยเฉพาะรถยนต์อเนกประสงค์) ปัญหาการเข้าเกียร์ยาก (โดยเฉพาะรถกระบะ) และปัญหาเสียงดังและเสียงผิดปกติจากเครื่องยนต์และระบบเกียร์ “การพัฒนาประสิทธิภาพของน้ำมันเชื้อเพลิง และการบุกตลาดของรถ eco car, CNG และรถยนต์ Hybrid ทำให้เจ้าของรถยนต์คาดหวังว่ารถยนต์จะประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้น” เปอ็อง กล่าว “นอกจากนั้น เสียงผิดปกติจากระบบเกียร์ยังเกิดขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะกับรถยนต์ขนาดเล็กและรถยนต์ขนาดกลางระดับต้นซึ่งเป็นในส่วนตลาดของรถยนต์ใหม่ที่มียอดจำหน่ายเติบโตเพิ่มขึ้นเร็วที่สุด” ผลการศึกษารุ่นรถในแต่ละส่วนตลาดรถยนต์ ในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางระดับต้น พบว่า โตโยต้า ยาริส ครองอันดับหนึ่งด้วยคะแนน 90 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน ตามมาด้วยมาสด้า2 (111 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน) และ ฮอนด้า แจ๊ซ (114 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน) รั้งอันดับ 3 มาสด้า 3 (94 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน) ได้รับคะแนนสูงสุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ตามมาด้วย โตโยต้า พรีอุส (98 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน) และ ฮอนด้า ซีวิค (102 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน) โตโยต้า แคมรี่ และ แคมรี่ ไฮบริด ได้รับคะแนนสูงสุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางระดับพรีเมียมด้วยคะแนนเท่ากัน (รุ่นละ 68 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน) ที่สองเป็นของ ฮอนด้า แอคคอร์ด (76 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน) ตามมาด้วย นิสสัน เทียน่า(98 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน) ในกลุ่มรถยนต์ SUV ฮอนด้า ซีอาร์-วี ได้รับคะแนนสูงสุดติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ด้วยคะแนน 81 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ตามมาเป็นอันดับสอง (96คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน) ขณะที่ อีซูซุ มิว-7 ตามมาเป็นอันดับสาม (99 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน ในส่วนของรถกระบะมีแค็บ โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ พรีรันเนอร์ สมาร์ทแค็บ ได้รับคะแนนสูงสุดติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ด้วยคะแนน 101 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน ตามมาด้วย โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ สมาร์ทแค็บ (111 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน) และ เชฟโรเล็ท โคโลราโด (119 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน) ในส่วนของรถกระบะ 4 ประตู โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ ครองอันดับสูงสุดติดต่อกันเป็นปีที่ 2 (96 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน) ส่วน โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ พรีรันเนอร์ ครองอันดับ 2 ด้วยคะแนน 107 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน ขณะที่ อีซูซุ ดี แม็กซ์ ไฮแลนเดอร์ ตามมาเป็นอันดับ 3 (125 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน) ผลการศึกษาเพิ่มเติมสำหรับตลาดรถยนต์ จากการศึกษาพบว่ามากกว่า 2 ใน3 ของเจ้าของรถยนต์ (69%) ซึ่งกล่าวว่า “พอใจมาก” (โดยการให้คะแนน 10 จาก 10 ในช่วงคะแนน 1 ถึง 10 คะแนน) กับคุณภาพรถยนต์โดยรวม บอกว่าพวกเขาจะแนะนำรถยนต์ที่เขาใช้ให้กับมิตรสหาย ญาติพี่น้อง และเพื่อนร่วมงาน “อย่างแน่นอน” อย่างไรก็ตาม มีเพียง 45% เท่านั้นของเจ้าของรถยนต์ที่ “ผิดหวัง” (โดยการให้คะแนน 1-5 จาก 10 ในช่วงคะแนน 1 ถึง 10 คะแนน) ที่บอกว่าจะแนะนำผู้อื่น และในทำนองเดียวกัน เจ้าของรถยนต์ที่ “พอใจมาก” กับคุณภาพรถยนต์ของตนซึ่งเจ้าของรถยนต์ในกลุ่มนี้มีจำนวนมากกว่าเจ้าของรถยนต์ที่ “ผิดหวัง” เกือบ 4 เท่า ( 49% ต่อ 13% ตามลำดับ) บอกว่าพวกเขาจะกลับมาซื้อรถยนต์ยี่ห้อเดิมอีก “อย่างแน่นอน” “จากการที่มีการแจ้งปัญหาเข้ามาน้อยลง ทำให้ทัศนคติต่อคุณภาพรถยนต์โดยรวม รวมถึงความจงรักภักดีของลูกค้าและการบอกต่อปากต่อปากดีขึ้นไปพร้อมๆกัน” เปอ็อง กล่าว “ผู้ผลิตรถยนต์ที่คงคุณภาพระดับสูงในการผลิตอย่างสม่ำเสมอ โดยที่รถยนต์ไม่มีปัญหาจุกจิก อาจจะได้รับการสนองตอบที่เพิ่มมากขึ้นในแง่ของการบอกต่อและความตั้งใจกลับมาซื้อใหม่ ” การศึกษาวิจัยคุณภาพรถใหม่ในประเทศไทยประจำปี 2554 จัดทำขึ้นโดยประเมินผลจากเจ้าของรถยนต์ใหม่จำนวน 4,275 ราย ที่ซื้อรถยนต์ระหว่างเดือน ตุลาคม 2553 ถึงเดือนมิถุนายน 2554 โดยทำการศึกษาจากผู้ซื้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถกระบะ และรถยนต์อเนกประสงค์ จำนวนทั้งสิ้น 64 รุ่น จากรถยนต์ 13 ยี่ห้อ การศึกษานี้ได้เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนเมษายน ถึงเดือนกันยายน 2554 ห้ามนำข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ครั้งนี้ไปใช้ในการโฆษณาหรือการส่งเสริมการขายอื่นๆ โดยไม่ได้รับการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจนจาก เจ.ดี. พาวเวอร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ http://www.jdpower.com/corporate

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ