วธ.ชี้ปัญหาเยาวชน ๔ ด้าน ใช้มิติทางวัฒนธรรมช่วยแก้

ข่าวทั่วไป Friday January 6, 2012 13:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ม.ค.--วธ. นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงวัฒนธรรมได้ร่วมกับสถาบันต่างๆ ทำการวิจัยสำรวจปัญหาของเด็กและเยาวชนในหลายๆด้าน ซึ่งคาดว่าปี 2555 นี้ แนวโน้มของปัญหาแต่ละด้านจะมีเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จากการที่ได้สำรวจปัญหาที่มีแนวโน้มและส่งผลกระทบต่อเยาวชนอย่างชัดเจน มีทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ ๑.แนวโน้มเด็กกับสื่อในโลกออนไลน์ โดยจากข้อมูลของโครงการ Chil Watch จากปี ๒๕๕๐ เป็นต้นมาพบว่าแนวโน้มเด็กที่เล่นอินเตอร์เน็ตประจำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ ๒๓ ในปี ๒๕๕๐ มาเป็นร้อยละ ๓๑ ในปี ๒๕๕๒ และน่าจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๓๕-๔๐ ในปี ๒๕๕๕ ซึ่งหากมีการส่งเสริมการจัดการเครือข่ายทางสังคมในโลกออนไลน์เช่นนี้ให้เป็นพื้นที่กิจกรรมทางเลือกของเด็กและเยาวชนที่มีทรัพยากรสนับสนุนมากขึ้นก็อาจเป็นจุดเปลี่ยนของการพัฒนาจิตสำนึกสาธารณะและวัฒนธรรมพลเมืองให้แก่คนรุ่นใหม่ได้อย่างยั่งยืน ๒.แนวโน้มจากสภาพครอบครัวที่อ่อนแอลงในสังคมไทยและปรากฎการณ์เด็กกำพร้าเทียมที่แม้ยังอยู่กับพ่อแม่แต่มีเวลาให้กันน้อยลงมาก จาก ๑๐ ปีที่ผ่านมาจากสถิติการสมรสต่อการหย่าร้างประมาณ ๑๐ ต่อ ๑ ในปี ๒๕๔๒ กลายมาเป็นประมาณ ๓ ต่อ ๑ ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ครอบครัวถือเป็นรากฐานของความแข็งแรงและภูมิคุ้มกันของเยาวชนและจากแนวโน้มที่กล่าวมายังไม่มีท่าทีที่ส่งสัญญาณที่ดีในปี ๒๕๕๕ จึงจะต้องเร่งรัดงานส่งเสริมวัฒนธรรมครอบครัวให้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของชาติให้จน นายสมชาย กล่าวต่อว่า ๓. แนวโน้มเรื่องศาสนากับเยาวชน จากข้อมูลการสำรวจจะพบว่ามีเด็กประกอบกิจกรรมทางศาสนามากขึ้น เช่น การเข้าวัดทำบุญหรือการสวดมนต์ไหว้พระก็ตาม แต่ในภาพรวมก็ยังถือว่าเป็นเด็กส่วนน้อย คือมีเด็กเพียงร้อยละ ๑๒ ที่เข้าวัดทำบุญและมีเด็กเพียงร้อยละ ๒๗ ที่สวดมนต์ไหว้พระเป็นประจำ และนอกจากนี้ ยังพบว่ามีเด็กราวร้อยละ ๔๐ ที่เริ่มไม่เชื่อในกฎแห่งกรรมและบาปบุญคุณโทษอีกต่อไป นอกจากนี้ กระแสทางเลือกของการเข้าถึงที่พึ่งทางจิตวิญญาณตามรสนิยมตามปัจเจกบุคคลหรือเยาวชนคนรุ่นใหม่แต่ละคนในรูปแบบหนังสือ ซีดี เว็บไซต์ กิจกรรมบำบัดต่างๆ ที่ทำให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่กำลังแสวงหาทางเลือกใหม่ๆ ของการมีหลักใจที่มิใช่เพียงแค่การประกอบศาสนกิจและพิธีกรรมมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทบทวนยุทธศาสตร์การเข้าถึงเด็กและเยาวชนของสถาบันศาสนาอย่างจริงจังควบคู่ไปกับการเปิดรับทางเลือกใหม่ๆให้แก่เด็กเยาวชนในการเข้าถึงหลักศาสนาที่ถูกต้องไปด้วย ๔.แนวโน้มความต้องการการทำงานไปด้วยระหว่างเรียนของเด็กและเยาวชนจำนวนมาก เพื่อหารายได้ให้ตนเองในการจับจ่ายใช้สอยหรือช่วยเหลือครอบครัว จากการสำรวจของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในปี ๒๕๕๒ พบว่าเด็กวัยมัธยมขึ้นมาถึงกว่าร้อยละ ๙๐ มีความต้องการอยากทำงานพิเศษเพื่อหารายได้ให้ตนเองเพื่อจับจ่ายใช้สอยหรือเพื่อช่วยเหลือครอบครัว ซึ่งเรื่องนี้หากมีการผลักดันและส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานช่วยเหลือตนเองให้แก่คนรุ่นใหม่ร่วมกับชุมชนท้องถิ่นบนฐานทุนทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นก็อาจเป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้เกิดกระแสคนรุ่นใหม่ที่ใฝ่รู้ใฝ่เรียนและมีความรับผิดชอบต่อตนเองและครอบครัวมากยิ่งขึ้น นายสมชาย กล่าวอีกว่า จากแนวโน้มของปัญหาทั้ง ๔ เรื่องดังกล่าวนี้ การทำงานของกระทรวงวัฒนธรรมในปี ๒๕๕๕ จะเน้นการตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ในทั้ง ๔ มิติ ทั้งการส่งเสริมเครือข่ายสังคมสร้างสรรค์ของเยาวชนในโลกออนไลน์ การส่งเสริมเครือข่ายครอบครัวเข้มแข็งและวัฒนธรรมการเลี้ยงดูลูกที่เท่าทันยุคสมัยและพอเพียง รวมไปถึงยุทธศาสตร์การรวมพลังเครือข่ายองค์กรและศาสนาในการสร้างท่างเลือกใหม่ๆที่ทำให้เยาวชนเข้าถึงที่เพิ่งทางใจและหลักศาสนาที่ถูกต้อง ตลอดจนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสร้างสรรค์บนพื้นฐานทุนทางวัฒนธรรมของทิ้งถิ่นเพื่อให้เยาวชนทุกท้องถิ่นเข้ามามีสว่นร่วมอย่างจริงจัง โดยอาศัยการจัดการเชิงพื้นที่บนฐานการมีข้อมูลเชิงวิชาการรองรับโดยมีบุคลากรของวัฒนธรรมจังหวัดเป็นกลไกการจัดการและประสานงานร่วมกับภาคีอื่นๆในพื้นที่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะมีการชี้แจงให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดได้รับทราบและเริ่มดำเนินการในปี ๒๕๕๕ นี้ อีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ