สช. สปร. สานพลังเครือข่ายสมัชชา พลิกวิกฤตอุทกภัย พัฒนาทุกระบบ พร้อมรับมือภัยพิบัติ

ข่าวทั่วไป Tuesday January 10, 2012 12:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จับมือสำนักงานปฏิรูป (สปร.) ร่วมกับองค์กรร่วมจัดกว่า 10 องค์กร และเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ ชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ จัดเวทีสังเคราะห์บทเรียนจากมหาอุทกภัยสู่การพัฒนาระบบจัดการภัยพิบัติ เพื่อพัฒนาข้อเสนอระบบจัดการภัยพิบัติทุกประเภทและทั้งระบบ โดยยึดชุมชนเป็นศูนย์กลาง ภาครัฐ ภาควิชาการร่วมหนุนเสริม นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูป กล่าวในการแถลงข่าว “พลิกวิกฤตมหาอุทกภัย สู่การพัฒนาระบบจัดการภัยพิบัติ” เมื่อโลกเปลี่ยนไป สังคมไทยจำต้องเปลี่ยนตาม “โลกทุกวันนี้ ไม่เหมือนเดิมแล้ว ดิน น้ำ อากาศ เปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้เกิดภัยพิบัติมากมายและถี่ขึ้น ทั้งภัยจากธรรมชาติและภัยจากน้ำมือของมนุษย์ โดยสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมาได้กระตุกให้สังคมไทยได้รู้เห็นถึงปัญหาอีกมาก ขณะเดียวกันก็เห็นสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย” เลขาธิการ คสช. ยังย้ำด้วยว่า หลังน้ำท่วมใหญ่คือโอกาสอันดีที่จะมาทบทวนบทเรียนกัน และบทสังเคราะห์ครั้งนี้ เครือข่ายสมัชชาสุขภาพและสมัชชาปฏิรูป จะนำไปปรับใช้ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำหลังจากนี้ ทางด้าน นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ในฐานะประธานคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น “การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง” กล่าวด้วยว่า ร่างมติที่จะเสนอพิจารณาในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่จะถึงนี้ จะครอบคลุมระบบจัดการภัยพิบัติทุกประเภท เช่น ภัยธรรมชาติ 7 อย่าง ได้แก่ ภัยพิบัติฉับพลันอย่างสึนามิ ภัยจากดินถล่ม แผ่นดินไหว และภัยพิบัติที่คาดว่าจะเสียหายมาก อย่างเช่น มหาอุทกภัย ภัยแล้ง ไฟป่า และหมอกควัน ซึ่งภัยเหล่านี้จะเป็นปัญหากับระบบสุขภาพอย่างมาก ซึ่งจะมุ่งเน้นการยกระดับการจัดการที่ชุมชนต้องเป็นศูนย์กลาง พร้อมที่จะพึ่งตนเอง โดยองค์กรภาครัฐให้การสนับสนุนทรัพยากรอย่างทั่วถึง “ภัยพิบัติในอนาคตจะใหญ่หลวงมาก ลำพังภาครัฐ เอาไม่อยู่แน่นอน จำเป็นอย่างยิ่งที่ชุมชนจะต้องลุกขึ้นมาจัดการตนเอง เลิกรอการช่วยเหลือจากรัฐ” ประธานคณะทำงานวิชาการ กล่าวเสริมว่า ข้อเสนอสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในประเด็นการจัดการภัยพิบัติจะได้รับการปรับปรุงด้วยข้อเสนอที่ได้จากมุมมองต่าง ๆ ของเวทีครั้งนี้ เพื่อประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนชุมชนภาคสังคมและกระตุ้นกลไกรัฐในเวลาเดียวกัน ส่วนประเด็นการจัดการระบบผังเมือง ซึ่งถูกกล่าวถึงกันมากภายหลังภัยพิบัติแต่ละครั้ง นางภารณี สวัสดิรักษ์ ประธานเครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม ได้กล่าวว่า ช่วงเกิดดินโคลนถล่มที่ผ่านมา ประเด็นผังเมืองได้กลายเป็นเรื่องราวที่ถูกยกมาพูดถึงกันมาก จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องชี้แจงว่าผังเมืองไม่ใช่สาเหตุของการเกิดภัยพิบัติ ปัญหาอยู่ที่ “การบังคับใช้” เช่น การทำผังเมืองต้องมีการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัย และถ้าหากไม่มีการนำไปปฏิบัติ ผังเมืองจะเป็นเพียง “แผนที่ระบายสี” เท่านั้น ในขณะที่ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ กล่าวเสริมถึงระบบการแพทย์และการสาธารณสุขในการรับมือภัยพิบัติว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขสามารถรับมือปัญหาได้ระดับหนึ่ง โดยสามารถป้องกันไม่ให้มีการฆ่าตัวตาย และป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาด รวมถึงการจัดสรรเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ขาดแคลน และยังส่งกระจายไปยังพื้นที่ประสบภัยอย่างทั่วถึง ซึ่งหน่วยงานต่างประเทศให้การยอมรับ เลขาธิการ คสช. กล่าวทิ้งท้ายว่าบทเรียนที่เกิดขึ้นจากเวทีครั้งนี้ จะนำบทสรุปที่ได้ไปพัฒนาร่างข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2555 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ และข้อเสนอของสมัชชาปฏิรูปที่จะจัดในช่วงวันที่ 30-31 มีนาคม และ 1 เมษายน 2555 ประสานงาน : สำนักการสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นายเอกชัย เอื้อธารพิสิฐ (เอก) 02-8329148
แท็ก ภัยพิบัติ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ