กทม. ขยายเวลารับจดทะเบียนคนจนถึง 15 มี.ค.47

ข่าวทั่วไป Tuesday March 2, 2004 14:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--กทม.
กทม.เปิดโอกาสให้ผู้ประสบปัญหาความยากจนมาลงทะเบียนได้ถึง 15 มี.ค.นี้ พร้อมตั้งคณะกรรมการรับผิดชอบแต่ละปัญหาเพื่อเร่งแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ขณะเตรียมเปิดเวทีประชาคมตรวจสอบยืนยันผู้เดือดร้อนตัวจริง
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อวานนี้ (1 มี.ค.47) เวลา 11.00 น. ในกิจกรรม “พบกันจันทร์ละหน คนกับข่าว” ครั้งที่ 120 กรุงเทพมหานครแถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจน โดยมี นางณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน และนางผ่องลักษณ์ วาสิกศิริ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าว
ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม.ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการแก้ปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ โดยรับจดทะเบียน ระหว่างวันที่ 5 ม.ค.-29 ก.พ.47 ที่ผ่านมา มีผู้มาจดทะเบียนทั้งสิ้น 346,620 คน จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะมี ผู้มาจดทะเบียนประมาณ 1 แสนราย มียอดรวมปัญหาทั้ง 7 ประการ 384,147 ปัญหา และมีปัญหาอื่นๆ อีก 119,979 ปัญหา รวมทุกปัญหา 504,126 ปัญหา ในจำนวนนี้มีผู้ประสบปัญหาที่อยู่อาศัยมากที่สุด 231,994 ราย รองลงมา คือ ปัญหาหนี้สินภาคประชาชน 123,194 ราย ปัญหาที่ดินทำกิน 13,338 ราย นักเรียนนักศึกษาที่ต้องการงานทำ 12,460 ราย ปัญหาถูกหลอกลวง 2,567 ราย ปัญหาคนเร่ร่อน 333 ราย ปัญหาผู้ประกอบอาชีพผิดกฎหมาย 261 ราย ตามลำดับ อย่างไรก็ดี คาดว่ายังมีผู้ประสบปัญหาที่ยังไม่ได้มาจดทะเบียนอีกเป็นจำนวนมาก กทม.จึงยืดระยะเวลารับจดทะเบียนออกไปอีก 15 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประสบปัญหาไปจดทะเบียนเพิ่มเติม โดยจะรับจดทะเบียนทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 15 มี.ค.47 ในวันและเวลาราชการ ณ สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า ระหว่างที่มีการรับจดทะเบียนผู้ประสบปัญหาสังคมและความยากจนนั้น กทม.ได้มีการดำเนินการแก้ปัญหาควบคู่กับไปด้วย โดยวิเคราะห์ปัญหาเป็นรายบุคคล ปัญหาใดสามารถแก้ไขได้ระดับเขตก็จะดำเนินการในทันที เช่น ปัญหานักเรียนนักศึกษาต้องการงานทำ ได้มีการติดต่อประสานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน บริษัท ห้างร้านในพื้นที่เพื่อรับ นักศึกษาเข้าทำงาน รวมทั้งรับนักศึกษาช่วยงานในโครงการสำรวจและประเมินการจัดเก็บภาษีของสำนักการคลัง กทม. และจัดให้มีการฝึกอาชีพเสริมรายได้ให้แก่ประชาชนเพื่อแก้ปัญหาคนว่างงาน เป็นต้น ซึ่งต่อไป กทม.จะแต่งตั้งคณะกรรมการในระดับกทม. และคณะทำงานฝ่ายต่างๆขึ้นมารับผิดชอบแต่ละปัญหา เพื่อวิเคราะห์และประมวลสภาพปัญหาต่างๆ มาพิจารณาและหาแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะประสานแผนงานและโครงการร่วมกับคณะกรรมการในระดับกระทรวงต่างๆ เพื่อดำเนินการแก้ไขในเชิงบูรณาการ
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เพื่อให้ทราบข้อมูลที่แท้จริงของผู้ประสบปัญหาสังคมและความยากจน ขั้นตอนต่อไปจะมีการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของผู้มาจดทะเบียน โดยการจัดเวทีประชาคมในชุมชนและหมู่บ้าน มีการติดประกาศรายชื่อในชุมชน แยกตามประเภทปัญหา และนำไปเข้าเวทีประชาคม ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนของครัวเรือนอย่างน้อยครัวเรือนละ 1 คน โดยมีองค์กร กลาง ได้แก่ คณะกรรมการชุมชน ผู้นำชุมชน อาสาสมัครในชุมชน ผู้ประสานพลังแผ่นดิน เป็นแกนหลักในการจัดเวทีประชาคม และจะต้องมีผู้มาร่วมประชุมให้ได้มากที่สุดไม่น้อยกว่าร้อยละ 50% จากนั้นจะตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือเป็นรายๆ ไป หากรายใดที่ประชุมมีมติยืนยันเสียงข้างมากก็จะมีสิทธิรับความช่วยเหลือ หากไม่เป็นความจริงจะต้องมีการคัดค้าน เพราะหากทางการทราบภายหลังจะถูกตัดสิทธิขอรับความช่วยเหลือ ทั้งนี้ทุกสำนักงานเขตจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมาตรวจสอบรายชื่อผู้ที่ได้ลงทะเบียนไว้ ณ สำนักงานเขต หากไม่พบรายชื่อให้แจ้งภายใน 7 วัน นับแต่วันปิดประกาศ
สำหรับยอดการจดทะเบียนผู้ประสบปัญหาสังคมและความยากจนในกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ประสบปัญหาที่มีทะเบียนอยู่ในกรุงเทพฯ 66.93% จำนวน 231,981 ราย และผู้ที่อยู่นอกเขตกทม. 33.07% จำนวน 114,639 ราย ในจำนวนนี้ เขตที่มีผู้มาลงทะเบียนมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ เขตลาดกระบัง 13,067 ราย เขตหนองแขม 12,384 ราย และเขตคลองเตย 11,648 ราย ส่วนเขตที่มีผู้มาลงทะเบียนน้อยที่สุด ได้แก่ เขตสัมพันธ์วงศ์ 533 ราย เขตป้อมปราบฯ 1,542 ราย และเขตบางรัก 1,729 ราย ตามลำดับ--จบ--
-นห-

แท็ก ลาว  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ