เปิดประเด็นเด่น“ อภิมหาโปรเจกต์ สู้น้ำ : คิดดี คิดชอบ คิดรอบ หรือยัง?” เชิญกูรูเสวนาอาทร ให้แง่คิดมุมมองรอบด้าน ตั้งรับ-รับมือ สู้น้ำ ปี 55

ข่าวทั่วไป Friday January 27, 2012 14:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--ไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อวันพุธที่ 25 มกราคม 2555 ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการเปิดเวทีสาธารณะอาทรเสวนา ผ่าน Social Media เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย ครั้งที่ 1 ขึ้นมา จากความร่วมมือกันของ สถาบันพระปกเกล้า โดย นักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 3 กลุ่มการเมือง ร่วมกับ สถาบันเอเชียศึกษา ด้วยการเปิดประเด็นเด่น “ อภิมหาโปรเจกต์ สู้น้ำ : คิดดี คิดชอบ คิดรอบ หรือยัง? ” เชิญกูรูเสวนาอาทร ให้แง่คิดมุมมองรอบด้าน ตั้งรับ-รับมือ สู้น้ำ ปี 55 ในการเปิดเวที Peacetlak ครั้งนี้ ท่านพลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะ ผู้อำนวยการหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข เรียกโดยย่อว่า หลักสูตร 4 ส ได้รายงานความเป็นมาและวัตถุประสงค์ในการจัดงานเสวนาในครั้งนี้ว่า โครงการเวทีสาธารณะอาทรเสวนาผ่าน Social Media เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย ครั้งที่ 1 เรื่อง “อภิมหาโปรเจกต์ สู้น้ำ : คิดดี คิดชอบ คิดรอบ หรือยัง?” เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การเสริมสร้างสังคมสันติสุข ซึ่งได้เปิดอบรมต่อเนื่องมาถึงรุ่นที่ 3 ผู้เข้ารับการศึกษา ประกอบด้วย สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการระดับสูงฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำ ข้าราชการศาลยุติธรรม และภาคประชาชน ได้แก่ ผู้บริหารภาคเอกชน ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำศาสนา องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน ผู้นำชุมชน ซึ่งล้วนเป็นผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาความขัดแย้งที่สำคัญในสังคมไทย วัตถุประสงค์หลักของการศึกษาในหลักสูตร มุ่งเน้นการสร้างความรู้ ความเข้าใจในสภาพปัญหาและแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ อย่างสันติวิธี ทั้งนี้ เนื่องมาจากปรากฎการณ์ของสังคมไทยในช่วงเกือบทศวรรษที่ผ่านมานั้น ได้เกิดประเด็นปัญหาความขัดแย้งที่มีความซับซ้อนและทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งยังสร้างความแตกแยกบาดหมางระหว่างคนในสังคม และก่อให้เกิดความเสียหายโดยรวมแก่ประเทศชาติ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในอดีต ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งจากมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความขัดแย้งอันเกิดจากการช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ และความขัดแย้งอันเป็นผลจากปัญหาในการจัดการภาวะวิกฤติ ซึ่งได้ลุกลามขยายตัวเป็นความขัดแย้งของคนในสังคมตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับชาติ ดังเป็นที่ประจักษ์กันดีแก่ทุกฝ่าย จากปัญหาดังกล่าว รัฐบาลและทุกภาคส่วนในสังคมจึงกำลังมุ่งมั่นพยายามที่จะสร้างความสมานฉันท์และความปรองดองของคนในชาติ โดยหวังให้ทุกคนร่วมมือกันกอบกู้และฟื้นฟูประเทศชาติด้วยการเรียนรู้จากบทเรียนของปัญหาในอดีต ซึ่งก็ได้สะท้อนให้เราเห็นว่า สังคมไทยยังขาดการเรียนรู้ในการป้องกัน แก้ไข และบริหารจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเชิงสันติวิธีอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ นักศึกษาหลักสูตร 4 ส รุ่นที่ 3 ของสถาบันฯ จึงได้เห็นพ้องกันจัดทำโครงการอาทรเสวนาผ่าน Social Media เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย โดยเปิดพื้นที่การสื่อสารผ่านเว็บไซด์อาทรเสวนา peacetalk.in.th เพราะเห็นว่า องค์ประกอบสำคัญในการเสริมสร้างสังคมสันติสุขนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับคนในสังคม ซึ่งถือเป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยให้คนที่มีความคิดเห็นขัดแย้ง แตกต่าง ได้มีพื้นที่และช่องทางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อปรับทัศนคติและความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน สร้างบรรยากาศความเข้าใจอันดีและก่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของสังคมอย่างสันติสมานฉันท์ โดยอาศัยความก้าวหน้าและอิทธิพลของเทคโนโลยีสารสนเทศในยุคโลกาภิวัฒน์ที่ได้เข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมเราทุกระดับ ในวงกว้างเป็นช่องทางหรือเครื่องมือสร้างปฏิสัมพันธ์สื่อสาร เพื่อสะท้อนแนวคิดและมุมมองเกี่ยวกับประเด็นปัญหาความขัดแย้งต่างๆ อย่างมีพลวัตร หลังการกล่าวรายงาน ศาสตราจารย์ ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวต้อนรับและกล่าวถึงความร่วมมือกับสถาบันพระปกเกล้า ด้วยเห็นว่ามีแนวทางที่สอดคล้องกับพันธะกิจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการที่จะผนึกกำลังกับสังคม สร้างชุมชนทางปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยามที่บ้านเมืองเราต้องเผชิญกับวิกฤติ จะได้ร่วมกันเป็นกำลังสำคัญ ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ต่อจากนั้น ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับคณะนักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข ของสถาบันพระปกเกล้า ถือได้ว่าเป็นเจตนารมณ์อันดีที่จะร่วมกันสนองนโยบายเสริมสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ ซึ่งกำลังมีประเด็นปัญหาความขัดแย้งหลากหลายในสังคม สามารถพัฒนาการไปสู่การใช้ความรุนแรง สร้างความเสียหายและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศให้ก้าวเดินไปข้างหน้า เช่นกัน ประเด็นเด่นปัญหาสังคมไทยที่นำมาในเวทีครั้งนี้ คือ “ ความเสียหายจากอุทกภัยในปี 2554 ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชน และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จากสาเหตุหลักของมหาอุทกภัยครั้งนี้ เป็นผลจากการที่พื้นที่ป่าไม้ลดลง ระบบนิเวศน์ถูกทำลาย องค์กรที่มีอำนาจบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบยังไม่มีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอ การขาดแผนหลักและงบประมาณในการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว ตลอดจนระบบข้อมูลทรัพยากรน้ำของประเทศยังไม่มีประสิทธิภาพ กฎหมายด้านการจัดการทรัพยากรน้ำไม่ทันสมัย และการขาดความพร้อมในการเผชิญอุทกภัยขนาดใหญ่ แม้ว่ารัฐบาลจะได้จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่สำคัญ และยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.) ขึ้น เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ป้องกัน บรรเทา และลดผลกระทบจากอุทกภัยในอนาคต แต่ปัจจัยความสำเร็จดังกล่าว รัฐบาลเอง ก็ตระหนักและยอมรับว่า จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ ภาคธุรกิจเอกชน องค์กรเอกชนอาสาสมัคร เครือข่ายจิตอาสา สื่อมวลชน รวมถึงความเชื่อมั่นจากนานาประเทศ บนพื้นฐานของการสร้างความรู้-ความเข้าใจของภาคประชาสังคมเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้แผนแม่บทบรรลุผลสำเร็จ โดยเฉพาะแผนในระยะเร่งด่วน ซึ่งประกอบด้วยแผนจัดการน้ำ เชิงวิศวกรรม อาทิ การบริหารน้ำในเขื่อน การสร้างขีดความสามารถระบายน้ำ การสร้างพื้นที่รับน้ำ เป็นต้น และในส่วนของแผนการบริหารจัดการภัยน้ำท่วม ประกอบด้วย ระบบเตือนภัยที่มีเอกภาพ กลไกการบริหารจัดการน้ำ การกู้ภัย การอพยพ การจัดระบบขนส่งระบบสาธารณูปโภคฉุกเฉิน เป็นต้น เหล่านี้ล้วนจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้เข้ามาช่วยในการบริหารการจัดการ ต้องพยายามส่งเสริมให้ประชาชนใน พื้นที่ต้นน้ำ มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เข้าใจเรื่องการบริหารจัดการ ๒๕ ลุ่มน้ำ เร่งส่งเสริมการปลูกป่าตามแนวพระราชดำริ การชะลอน้ำ การสร้างฝาย เพื่อไม่ให้น้ำไหลบ่าอย่างรุนแรง ส่วนใน พื้นที่กลางน้ำ ก็ต้องเข้าใจเรื่องพื้นที่รองรับน้ำแก้มลิง หรือทางระบายน้ำหลาก (ฟลัดเวย์) ในขณะที่ประชาชนใน พื้นที่ปลายน้ำ ก็ต้องเตรียมความพร้อมรับผลกระทบจากการเร่งระบายน้ำและผลักดันน้ำสู่ทะเล และในกรณีที่ไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้ปัญหาที่จะเกิดตามมา ก็คือ การบริหารความขัดแย้งของมวลชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ ดังที่เป็นข่าวปรากฏในหลายพื้นที่ในช่วงเกิดอุทกภัย” ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ ยังกล่าวทิ้งท้าย เชื่อมั่นว่า โครงการเวทีสาธารณะอาทรเสวนาผ่าน Social Media เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย ครั้งที่ 1 เรื่อง “อภิมหาโปรเจกต์ สู้น้ำ: คิดดี คิดชอบ คิดรอบ หรือยัง? ” และ การขอเปิดตัวเว็บไซต์www.peacetalk.in.th เครือข่ายสังคมออนไลน์ (social media network) ของนักศึกษาหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 3 ในวันนี้ จะได้ช่วยจุดประกายความหวังและสร้างพลังในการขับเคลื่อนสังคมไทยให้ผ่านพ้นปัญหาความขัดแย้ง เสริมสร้างสังคมสันติสุขด้วยแนวทางสันติวิธี ทั้งจะเป็นประโยชน์ในการนำเสนอต่อรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องต่อไป สำหรับการบรรยายและเสวนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ เพื่อให้เกิดแง่คิดมุมมองอย่างรอบด้าน นั้น ได้นำเสนอประเด็นปัญหาที่เป็นวาระแห่งชาติ เริ่มจากปัญหาอุทกภัย ซึ่งได้สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนอย่างร้ายแรงเป็นประวัติการณ์ และยังมีแนวโน้มความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหานี้ได้อีกในอนาคต เป็นที่หวั่นวิตกของประชาชนทั่วไป หากรัฐบาลและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องไม่เตรียมความพร้อมในการป้องกันรับมือปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติก็จะนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพและความมั่นคงเป็นผลตามมา ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่ยังมีผลลุกลามไปถึงเอกภาพและความมั่นคงในระดับภูมิภาคอีกด้วย โดยได้เชิญวิทยากรกูรูผู้รอบรู้และมีประสบการณ์มาบรรยาย ในช่วงเช้าและบ่าย ในหัวข้อ วิเคราะห์มหาอุทกภัยและภัยพิบัติประเทศไทย โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ คณะกรรมการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย , ประสบการณ์ภาคประชาสังคมในช่วงวิกฤติอุทกภัย โดย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา และ นายแบงค์ งามอรุณโชติ นักวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี , แนวทางพระราชดำริ และการบริหารจัดการน้ำ โดย ดร.ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน, การบริหารจัดการความขัดแย้งในภาวะวิกฤติ โดย นายแพทย์ พลเดช ปิ่นประทีป คณะกรรมการ ThaiPBS , ประเด็นมุมมองด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาด้านสาธารณภัย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งนี้ในช่วงสุดท้าย คุณกิตติ สิงหาปัด จาก รายการสามมิติ ครอบครัวข่าว 3 สื่อมวลชนคนข่าวผู้มีประสบการณ์ตรงจากการลงพื้นที่ช่วยเหลือและทำข่าวเจาะลึกในหลายแง่มุมของประเด็นปัญหามหาอุทกภัย ได้มาเป็นผู้ดำเนินรายการจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ ในหัวข้อ การบริหารจัดการ ตั้งรับ - รับมือ อย่างไร เมื่อภัยมา? ร่วมกับ ดร.ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน (มุมมองการแก้ปัญหาน้ำท่วม) ดร.อดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร (ผู้ประสานงานการแก้ปัญหาอุทกภัยเหนือแนวบิ๊กแบ๊ก) นายจรูญ สุขแป้น ผู้นำ“เครือข่ายท่อทองแดงกำแพงเพชร - สุโขทัย” (การบริหารจัดการน้ำ : ภาคเหนือแบบมีส่วนร่วม) ติดตามการจัดเวทีสาธารณะอาทรเสวนา ข่าวสารในสังคมแบบเฮฮาศาสตร์ มีสาระและข้อคิดดี ๆ และเข้าไปร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้ เพื่อปรับทัศนคติ ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ขัดแย้ง แตกต่าง แต่ไม่แตกแยก และรวมพลังแก้ปัญหาต่างๆ ของสังคมอย่างสันติสมานฉันท์ ผ่านช่องทางการสื่อสารออนไลน์ Social Media ที่เว็บไซต์อาทรเสวนา peacetalk.in.th จัดทำโดย นักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 3 กลุ่มการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ