ทริสเรทติ้งกับอันดับเครดิตในปี 2554 และมุมมองสำหรับอุตสาหกรรมในปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 31, 2012 09:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--ทริสเรทติ้ง ในปี 2554 หุ้นกู้ภาคเอกชนที่ออกใหม่ในประเทศไทยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 254,203 ล้านบาท ลดลง 3.7% จากปี 2553 ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับ 263,969 ล้านบาท ภาคธุรกิจของไทยที่ออกหุ้นกู้ในปี 2554 มากที่สุดคือภาคพลังงาน รองลงมาได้แก่ ธุรกิจเกษตรและอาหาร และธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น บริษัทที่ออกหุ้นกู้เป็นจำนวนมากในกลุ่มพลังงาน คือ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (AA-/Stable) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด (AA/Stable) สำหรับในกลุ่มธุรกิจเกษตรและอาหาร คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (AA-/Stable) และ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (A+/Stable) ในขณะที่ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ คือ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) (A+/Positive) และธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (A-/Positive) ทั้งนี้ มูลค่าหุ้นกู้ดังกล่าวไม่ได้รับการจัดอันดับเครดิตทั้งหมด จากข้อมูลที่รวบรวมโดยทริสเรทติ้งพบว่า 87% ของหุ้นกู้ที่ออกใหม่ในปี 2554 ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยสถาบันจัดอันดับเครดิต และ 13% ของหุ้นกู้ที่ออกใหม่ไม่มีการจัดอันดับเครดิต โดยในส่วนของหุ้นกู้ออกใหม่ที่มีอันดับเครดิตทั้งหมดในปี 2554 เป็นหุ้นกู้ที่จัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งซึ่งคิดเป็นจำนวน 75% ณ สิ้นปี 2554 ทริสเรทติ้งมีลูกค้าที่จัดอันดับเครดิตจำนวนรวมทั้งสิ้น 111 ราย (ประกอบด้วยลูกค้าที่ประกาศผลอันดับเครดิตต่อสาธารณะ 95 ราย และลูกค้าที่ไม่ประกาศผลต่อสาธารณะ 16 ราย) และมีมูลค่าคงเหลือของตราสารหนี้ที่จัดอันดับเครดิตรวม 597,888.69 ล้านบาท ในปี 2554 ลูกค้าของ ทริสเรทติ้งส่วนใหญ่มีอันดับเครดิตอยู่ในช่วงระหว่าง A+ และ BBB โดยลูกค้าที่ได้รับอันดับเครดิตระดับ A- มีจำนวน 23.58% รองลงมาได้แก่ ลูกค้าที่ได้อันดับเครดิตระดับ A+ และ BBB+ ซึ่งมีจำนวนที่เท่ากันคือ 15.09% ในขณะที่ลูกค้าที่ได้อันดับเครดิตระดับ BBB เท่ากับ 12.26% และลูกค้าที่ได้อันดับเครดิตระดับ A เท่ากับ 11.32% ในรอบปีที่ผ่านมาทริสเรทติ้งได้ดำเนินการจัดอันดับเครดิตรวม 123 ครั้ง ซึ่งประกอบด้วยการจัดอันดับเครดิตให้แก่ลูกค้าใหม่จำนวน 13 ครั้ง และการทบทวนอันดับเครดิตของลูกค้าเดิมจำนวน 110 ครั้ง ทั้งนี้ ผลของการทบทวนอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งปรากฏว่ามีบริษัทที่ได้รับการยืนยันอันดับเครดิตเดิมมี 73 ราย บริษัทที่ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตมี 14 ราย และปรับลดอันดับเครดิต 5 ราย ที่เหลือเป็นการปรับแนวโน้มอันดับเครดิต (Rating Outlook) การปรับลดอันดับเครดิตองค์กรในปีที่ผ่านมาประกอบด้วยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก่อสร้าง (2 ราย) อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ (2 ราย) และอุตสาหกรรมโรงแรม (1 ราย) ผู้ประกอบการที่ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิต 14 รายประกอบด้วยผู้ประกอบการในกลุ่มพลังงาน ธุรกิจเกษตรและอาหาร สถาบันการเงิน ค้าปลีก ที่อยู่อาศัย สื่อสาร โรงพยาบาล และอื่น ๆ (ตามรายละเอียดในตารางที่ 1) ในปี 2555 ทริสเรทติ้งยังคงติดตามความเสี่ยงของลูกค้าทุกรายอย่างต่อเนื่อง โดยมีอุตสาหกรรมที่ทริสเรทติ้งเห็นว่าต้องจับตามองเป็นพิเศษดังนี้ 1. บ้านและที่อยู่อาศัย สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในช่วงปลายปี 2554 ยังคงส่งผลกระทบในเชิงลบต่อผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยในปี 2555 โดยความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยลดลง โดยเฉพาะในเขตภัยพิบัติ ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการที่มีโครงการเหลือขายในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม เช่น รังสิต ลำลูกกา สายไหม บางบัวทอง และราชพฤกษ์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่ออันดับเครดิตของผู้ประกอบการต่าง ๆ ยังขึ้นอยู่กับการกระจายตัวของโครงการในเขตต่าง ๆ และความเพียงพอของสภาพคล่องของธุรกิจเพื่อรองรับภาระหนี้ที่จะครบกำหนดในระยะสั้น 2. นิคมอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมและธุรกิจให้เช่าโรงงานและคลังสินค้าที่ถูกน้ำท่วมในปี 2554 มีความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจนถึงปี 2555 ในรูปค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในโครงการและการป้องกันภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นจากนักลงทุน ในขณะที่ความต้องการซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมและการเช่าโรงงานในพื้นที่ประสบภัยพิบัติอาจได้รับผลกระทบในระยะสั้นจากความกังวลของนักลงทุน อย่างไรก็ดี นโยบายของรัฐบาลที่ชัดเจนในการจัดการปัญหาน้ำท่วมน่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของผู้ประกอบการเอกชนในกรณีนี้ได้ 3. สถาบันการเงิน ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบสถาบันการเงินของไทยเท่ากับ 2.8% ลดลงจาก 3.6% ณ สิ้นปี 2553 ผลกระทบจากน้ำท่วมที่มีต่อภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจต่าง ๆ น่าจะก่อให้เกิดการว่างงานและการขาดรายได้ของประชากรบางกลุ่มซึ่งอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ในระยะสั้น อย่างไรก็ดี เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการผ่อนผันให้สถาบันการเงินสามารถคงสถานะการจัดชั้นลูกหนี้ที่เป็นหนี้ปกติหรือกล่าวถึงเป็นพิเศษที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2555 การผ่อนปรนดังกล่าวจึงน่าจะทำให้ยอด NPL ของระบบสถาบันการเงินยังไม่เพิ่มขึ้นในระยะสั้น อย่างไรก็ดี ภายหลังจากมาตรการดังกล่าวสิ้นสุดลง ทริสเรทติ้งคาดว่า NPL น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงตั้งแต่กลางปี 2555 เป็นต้นไป ซึ่งอาจทำให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินประเภท Non-bank จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการที่จะต้องตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่มีอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ 4. ธุรกิจขนส่ง ความต้องการโดยสารทางอากาศของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจ รวมทั้งความต้องการบริการขนส่งสินค้าทางอากาศและทางเรือมีแนวโน้มจะชะลอตัวตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากวิกฤตหนี้ยุโรป จากการประมาณการล่าสุดของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุว่าจำนวนผู้โดยสารทางอากาศจะเติบโต 3.8% ในปี 2555 ลดลงจาก 5.9% ในปี 2554 และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประมาณการอัตราการขยายตัวของการค้าโลกเท่ากับ 3.8% ในปี 2555 ลดลงจาก 6.9% ในปี 2554 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการขนส่งทั้งการขนส่งทางอากาศและการขนส่งทางเรือน่าจะได้รับผลกระทบจากการที่ผู้ประกอบการมีข้อจำกัดในการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารและอัตราค่าระวาง และต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นและทรงตัวอยู่ในระดับสูงในปี 2555 รวมทั้งการที่รัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นราคาขายปลีกในประเทศของก๊าซ LPG ในภาคขนส่งและก๊าซ NGV ตั้งแต่ต้นปี 2555 ย่อมจะเพิ่มต้นทุนการให้บริการขนส่งในประเทศ 5. ธุรกิจเกษตรและอาหาร สินค้าเกษตรและอาหารอาจจะได้รับผลกระทบในด้านการส่งออกเนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปอาจลุกลามจนทำให้เศรษฐกิจโลกทรุดลง และจะส่งผลทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ ภัยธรรมชาติที่เกิดมากขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงอีกประการหนึ่งที่มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยด้วย สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ทริสเรทติ้งคาดว่าน่าจะมีแนวโน้มขยายตัวดีในปี 2555 มีดังต่อไปนี้ 1. ธุรกิจก่อสร้าง การก่อสร้างน่าจะฟื้นตัวในปี 2555 หลังจากน้ำลดลงแล้ว เนื่องจากการที่อุทกภัยใหญ่ในปี 2554 ได้สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เป็นวงกว้างนับเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดโครงการก่อสร้างซ่อมแซมและโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐหลายโครงการ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการบางรายอาจได้รับผลกระทบจากความล่าช้าของโครงการ 2. ธุรกิจค้าปลีก ผู้ประกอบการค้าปลีกเกี่ยวกับอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้าน รวมทั้งเครื่องใช้ภายในบ้าน ของตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบในเชิงบวกจากอุทกภัยเนื่องจากครัวเรือนจำนวนมากต้องซ่อมแซมบ้านที่อยู่อาศัยให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคน่าจะกลับคืนสู่สภาพปกติ 3. ธุรกิจพลังงาน คาดว่าธุรกิจพลังงานน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2555 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจได้รับผลดีจากการปรับขึ้นราคาพลังงานในปี 2555 แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการพลังงานด้วยเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ