กระทรวงพลังงานบรรลุข้อตกลง "ความร่วมมือพลังงานไทย-ลาว"

ข่าวทั่วไป Thursday March 25, 2004 14:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--กระทรวงพลังงาน
พลังงานบรรลุข้อตกลงความร่วมมือพลังงานไทย-ลาว พร้อมดำเนินการตามเป้าหมาย ยุทธศาสตร์พลังงานชาติ ชูมาตรการคัทพิค หวั่นหน้าร้อนนี้ การใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นนายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูง ของกระทรวงพลังงานประจำสัปดาห์ว่า ที่ประชุมได้รับทราบเรื่องต่าง ๆ และสามารถสรุปประเด็นสำคัญ ๆ ได้ดังนี้
1. การบรรลุข้อตกลงความร่วมมือพลังงานไทย-ลาว ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมระหว่างประเทศไทย และ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ 20-21 มี.ค. ที่ผ่านมา ในส่วนของความร่วมมือด้านพลังงานนั้น ได้มีข้อเสนอร่วมกันทั้งสองประเทศ ได้แก่ แผนความร่วมมือด้านพลังงานไทย-ลาว ในระยะยาว 10 ปี ซึ่งเป็นข้อเสนอของ ท่านอ่อนเนื้อ พมมะจัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ของประเทศลาว โดยกระทรวงพลังงาน พร้อมจะให้ความร่วมมือในการจัดทำ แผนความร่วมมือพลังงานไทย — ลาว ในระยะยาวความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะรับซื้อไฟฟ้าจากลาว ตั้งแต่ปี 2553 ตามแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยเสนอ 3 โครงการได้แก่ ลิกไนต์หงสา กำลังผลิต 608 เมกะวัตต์ ,น้ำงึม 2 กำลังผลิต 615 เมกะวัตต์ และน้ำงึม 3 กำลังผลิต 430 เมกะวัตต์ ส่วนที่ประเทศลาวเสนอเพิ่มเติม 2 โครงการได้แก่ เทิน-หินบุน/น้ำเทิน 3 กำลังผลิต 450 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นส่วนขยายของโครงการเดิม และโครงการใหม่ได้แก่ น้ำเงี๊ยบ กำลังผลิต 260 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้โครงการที่มีความพร้อมมากที่สุดได้แก่ โครงการน้ำงึม 2 กำลังผลิต 615 เมกะวัตต์ และทางไทยพร้อมจะรับซื้อไฟฟ้าจากลาว โดยยึดหลักความเสมอภาค การแข่งขันเสรี และมีราคาที่คุ้มทุนมากที่สุด
2. กระทรวงพลังงานได้ลงนามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มี.ค.47 ที่ผ่านมา ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์หลัก ไว้ทั้งสิ้น 4 ประการได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้สูงขึ้น การจัดหาพลังงานสำรองในอนาคตอย่างน้อย 50 ปี การให้ประชาชนทุกคนมีพลังงานใช้อย่างทั่วถึง และการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานในภูมิภาค
3. ในส่วนของพลังงานทดแทนโดยเฉพาะ แนวทางการพัฒนาการใช้ก๊าซโซฮอล์ลนั้น กระทรวงพลังงานจะเร่งศึกษาถึงโครงการระยะยาว ในการพัฒนาแบบครบวงจร โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) ศึกษาถึงรายละเอียดต่างๆ และนำเสนออีกครั้งในสัปดาห์หน้า และพร้อมจะร่วมมือกับกระทรวงหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
4. ที่ประชุมฯ ได้กำชับให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เร่งแผนปฏิบัติการบริหารการใช้ไฟฟ้าโดยการลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (คัท พีค) จะต้องรีบดำเนินการ มิฉะนั้นจะส่งผลกระทบถึงราคาไฟฟ้าในช่วงหน้าร้อนที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นที่ทราบว่าจะมีปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นทุกปี--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ