กบข. จัดกระบวนทัพบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน

ข่าวทั่วไป Thursday April 1, 2004 10:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--กบข.
กบข. จัดกระบวนทัพบริหารความเสี่ยงด้านการบริหารเงินและการลงทุน ล่าสุดจัดตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง เพื่อการพัฒนาระบบและวางแนวทางการบริหารความเสี่ยงให้กับ กบข. ในอนาคต
นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการ กบข. เปิดเผยถึงการที่ กบข. ได้ทำการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง เพื่อทำหน้าที่ในการพัฒนาระบบและวางแนวทางการบริหารความเสี่ยงด้านการเงินและการลงทุนของ กบข. ว่า เนื่องจากการบริหารเงินกองทุนของ กบข. ในปัจจุบันอยู่ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง นวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่ได้สร้างโอกาสและเป็นข้อจำกัดหลายประการ ซึ่งทำให้ กบข. ต้องมีการกำหนดแนวทางการลงทุนต่างๆ ที่เหมาะสมตลอดเวลา เพื่อการก้าวเข้าสู่การเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญระบบสากล
สำหรับคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงของ กบข. ในครั้งนี้มี ดร..สมชัย ฤชุพันธ์ ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลังทำหน้าที่เป็นประธานคณะอนุกรรมการ นอกจากนี้ ยังประกอบด้วย อนุกรรมการ ที่ปรึกษา และเลขานุการ รวมทั้งสิ้น 8 ท่าน โดยมีหน้าที่พิจารณาและให้ความเห็นต่อนโยบาย แนวทาง และกระบวนการในการบริหารความเสี่ยงด้านตลาด ด้านเครดิต ด้านการปฏิบัติการเพื่อบริหารและควบคุมความเสี่ยงดังกล่าวให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ รวมทั้งการพิจารณาให้ความเห็นต่อแผนการบริหารความเสี่ยง จำนวนและคุณสมบัติของบุคลากรในฝ่ายบริหารความเสี่ยงและกำกับการลงทุนให้มีความเหมาะสม ตลอดจนให้มีจัดการฝึกอบรมและหาเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้งานบริหารความเสี่ยงมีประสิทธิภาพ ส่วนในด้านการควบคุมและ ประเมินผล คณะอนุกรรมการจะทำหน้าที่รายงานผลการประเมินความเสี่ยง ภายใต้สภาวการณ์และสมมติฐานที่แตกต่างกัน โดยกำหนดเป็นมาตรการต่างๆ ที่เอื้อให้เกิดความถูกต้อง และเป็นอิสระในการตรวจวัดควบคุม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการติดตามและประเมินความเสี่ยงของทั้งองค์กรต่อไป
ความหมายและที่มาของสัญลักษณ์ กบข.
สัญลักษณ์ "กบข." สีทอง เหนือตัวหนังสือ "กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ" สีน้ำเงินหมายถึง ความมั่งคั่งบนพื้นฐานของความซื่อสัตย์มั่นคง
รูปแบบสัญลักษณ์ กบข. นั้น มีที่มาจาก "ทองคำแท่ง" โดยนำเส้นรอบนอกทองคำแท่งมาออกแบบเป็นตัวอักษร กบข. เนื่องจากทองคำแท่งนั้น สื่อความหมายถึงความร่ำรวยมั่งคั่ง ซึ่งสอดคล้องกับหน้าที่หลักของ กบข. คือ การบริหารเงินสมาชิกให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด สำหรับการเลือกใช้ตัวอักษร กบข. มาเป็นสัญลักษณ์ของกองทุนนั้น เนื่องจากสื่อความหมายถึง ความเป็น กบข. ได้อย่างลึกซึ้งและตรงไปตรงมามากที่สุด ทุกคนที่เป็นสมาชิกทราบว่า กบข. คือ ชื่อย่อ ของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ นอกจากนี้ตัวอักษร กบข. ยังมีความเรียบง่ายและความร่วมสมัยในตัวเอง เข้าได้กับทุกยุคทุกสมัย โดยตัวอักษรที่บิดเกลียวเกี่ยวคล้องกันนั้น ให้ความรู้สึกนุ่มนวลและเคลื่อนไหว ซึ่งสื่อถึงความหมายของการเงินสะพัดหรือสภาพคล่องของกองทุน และการที่ตัวอักษรบิดเป็นเกลียวเชื่อมต่อกันนั้น ได้ทำให้สัญลักษณ์นี้มีหลายมิติด้วย
เก็บมาฝากสมาชิก กบข.
ฝากเงินหลายบัญชี
หลายต่อหลายคนประสบความสำเร็จ และเป็นตัวอย่างที่ดีในการออมและการลงทุน ที่หลายคนต้องการนำมาเป็นตัวอย่าง แต่อีกหลายคนก็พยายาม แต่ก็มักจะมีอุปสรรคอยู่ร่ำไป
ไม่ว่าจะเป็นสิ่งต่างๆ รอบตัวที่คาดคิดและไม่คาดคิด ที่มักจะมีอิทธิพลต่อการโน้มน้าว ให้เปลี่ยนใจ นำเงินไปใช้จ่ายมาก เกินกว่าที่จะมีเหลือเก็บไว้ นั่นเป็นเพราะวินัยในการออมเงิน อาจหย่อนยานไปนิดหนึ่ง
เมื่อพิจารณากันแล้วปัญหาส่วนใหญ่ที่อาจทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการออมเงิน อาจเป็นเพราะว่ามีบัญชีออมทรัพย์เพียงบัญชีเดียว จึงทำให้เก็บเงินไม่ค่อยอยู่ เพราะจะเห็นเงินทั้งหมดในบัญชีแล้วนึกว่าเป็นเงินที่ยังนำไปใช้ได้อยู่เรื่อย เลยถอนมาให้จนหมดหรือเกือบหมดถึงรู้ตัวว่า เงินไม่เหลือให้ออมแล้ว
ดังนั้น วันนี้เรามาดูกันว่า จะออมเงินโดยวิธีการฝากเงินหลายบัญชี ได้อย่างไรกัน
ก่อนอื่นเราต้องคิดก่อนว่า เรามีเงิน 1 ก้อน อาจจะเป็นเงินเดือนทุกเดือนนั้น เราจะต้องแบ่งเงินไปไว้ที่ไหนกันบ้าง เพราะ เงินต้องมีที่อยู่เสมอไม่ว่าจะอยู่ในบัญชี อยู่ในกระเป๋า อยู่ในธนาคาร หรืออยู่ในเครื่องมือการลงทุนต่างๆ ก็ต้องมีที่อยู่ของเงินเสมอ ดังนั้น ถ้าเรารู้ว่าเรามีเงิน และต้องการนำเงินไปทำอะไร ลองแบ่งบัญชีไว้ ดังนี้
บัญชีสำหรับใช้จ่ายทั่วไป โดยใช้ฝากเงินเดือน หรือรายได้ทั้งหมดที่ได้รับ ซึ่งควรเป็นบัญชีประเภทออมทรัพย์ เพราะเราสามารถถอนออกมาใช้เมื่อไหร่ก็ได้ โดยเมื่อได้รับมาแล้วก็ควรรู้อย่างมีสติว่า เงินนี้จะต้องนำออกไปไว้ที่ไหนและทำอะไร ไม่ควรนำเงินแช่ไว้นิ่งๆ โดยเราเองอาจจะถอนเงินไปใช้จ่ายอย่างไม่คิดจนแทบไม่เหลือ หรือจะเรียกได้ว่าเดือนชนเดือนก็อาจจะทำให้เราลำบากเมื่อไม่มีเงินเหลือไว้บ้าง ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน
บัญชีสำหรับอนาคต โดยจะต้องตั้งเกณฑ์ไว้อย่างชัดเจน เช่น ต้องหักเงิน 10% ของเงินเดือน หรืออาจมากกว่าเพื่อเก็บไว้ในบัญชีนี้ แต่บัญชีนี้จะต้องมีเงื่อนไขว่าจะไม่ถอนเงินออกมาใช้อย่างเด็ดขาด จนกว่าจะมีเงินออมเป็นก้อนเพียงพอ ซึ่งบัญชีนี้ควรเป็นแบบฝากประจำระยะยาว เพราะว่าการคิดดอกเบี้ยแบบทบต้นทบดอกจะได้ดอกเบี้ยในอัตราที่มากกว่าแบบออมทรัพย์ และยังป้องกันไม่ให้เราถอนเงินออกมาใช้ก่อนเวลากันสมควรอีกด้วย
ทั้งนี้หากบัญชีนี้เราตั้งเป้าหมายไว้ เพื่อให้ตัวเองหรือลูกหลานได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ก็จะทำให้สามารถทำได้โดยไม่ต้องกู้ยืม และจะได้รู้สึกเป็นอิสระ
บัญชีเพื่อการลงทุน ชีวิตเราปัจจุบันต้องคิดเรื่องการลงทุนด้วย ถ้าใครไม่คิดเรื่องการลงทุน ปล่อยให้ชีวิตล่องลอยไปเรื่อยๆ โดยแล้วแต่โชคชะตาฟ้าลิขิต อาจจะพบกับการไม่มีเงินเพียงพอจะใช้ในยามที่ไม่มีเงินจะใช้
ดังนั้นต้องให้เงินออมของเราไปทำงานให้ได้ผลตอบแทน ภายใต้ความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ โดยเราเองจะต้องฝากเงินไปเรื่อยๆ จนได้เงินเป็นก้อนเพียงพอที่จะไปซื้อเพชรที่มีมูลค่า หรือนำไปลงทุนในเครื่องมือการลงทุนต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย หรืออาจจะไปลงทุนซื้อผลงานศิลปะที่สวยงามมีราคา ที่อาจทำให้เรามีทั้งความพึงพอใจในตอนลงทุน และอาจก่อให้เกิดรายได้จากการลงทุนของเราได้ต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ หากมีเงินออมเป็นก้อนแล้ว เราก็จะมีของดี มีมูลค่าอยู่กับตัวได้เสมอ และเมื่อถึงเวลา เราก็อาจจะได้ขายต่อเพื่อทำกำไร หรือมอบให้เป็นมรดกให้แก่คนที่เรารัก ก็ย่อมทำได้
อย่างไรก็ตาม การฝากเงินโดยใช้วิธีฝากหลายๆ บัญชีนี้ จะต้องทำอย่างตั้งใจ อดทน และมีวินัยในการใช้จ่ายอย่างยิ่งยวด ไม่เช่นนั้นคุณก็จะไม่มีทางทำได้สำเร็จอย่างแน่นอน
ที่สำคัญที่สุด คือ "การไม่มีหนี้ (ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มเติม) เป็นลาภอันประเสริฐสุด" นั่นเอง
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 29 มีนาคม 2547
คอลัมน์ Financial Planing โดย คุณอมฤดา สุวรรณจินดา.
หมายเหตุ
ในกรณีที่กบข. ส่งข่าว 3 ครั้งแล้วไม่สำเร็จก็จะทำการลบ Address โดยอัตโนมัติ หากคุณต้องการรับข่าวสาร สามารถสมัครใหม่ได้ค่ะ
หากท่านมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่
ศูนย์บริการข้อมูลสมาชิกโทร. 1179 กด 6 เพื่อติดต่อกับเจ้าหน้าที่โดยตรง
หรือ email: member@gpf.or.th
หรือฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์กบข. ตู้ปณ. 19 ปณฝ. กระทรวงการคลัง กรุงเทพฯ 10411--จบ--
-นท-

แท็ก กบข.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ