กกต.คือใคร และมีหน้าที่อย่างไร

ข่าวทั่วไป Tuesday February 1, 2005 11:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.พ.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
ปัจจุบันการเมืองการปกครองถือเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนในระบอบประชาธิปไตยจะต้องเรียนรู้และศึกษา เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญที่มีความเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องมาถึงความเป็นอยู่และความสำเร็จของชีวิตประชาชน การศึกษาหาความรู้ทางด้านการเมืองการปกครองจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นทั้งนี้ เพื่อนำมาศึกษา วิเคราะห์การเมืองไทยที่มีต่อสังคมโดยตรง ฉะนั้นในวันอาทิตย์ที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ จึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญของประชาชนทุกคนที่มีอายุ ๑๘ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ต้องไปใช้สิทธิอธิปไตยในการ เลือกผู้แทนเข้าไปบริหารประเทศ หากท่านผู้อ่านได้ติดตามฟังสารคดีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตลอดมาพอจะทราบแล้วว่า ทำไมเราถึงต้องมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.ปกครองประเทศ วันนี้มารับรู้กันต่อว่า "คณะกรรมการการเลือกตั้ง" หรือ กกต.คือใคร และมีอำนาจหน้าที่ในการเลือกตั้งอย่างไร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งประธานกรรมการ การเลือกตั้ง และกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. จำนวน ๕ คน เพื่อทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลการเลือกตั้งครั้งนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปตามวัตถุประสงค์ โดยมีอำนาจหน้าที่ดังนี้
- บริหารการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ
- การสืบสวน สอบสวนและวินิจฉัยเมื่อมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะเมื่อมีการ ร้องเรียนหรือคัดค้านว่ามีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
- การกำกับและสนับสนุนพรรคการเมือง ในหน้าที่ของนายทะเบียน และของผู้บริหารกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง
- การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งรวมถึงการให้การศึกษา แก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองและระบอบประชาธิปไตยและการตรวจสอบการเลือกตั้ง
สำหรับ กกต.ที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ประกอบด้วย
๑. พลตำรวจเอก วาสนา เพิ่มลาภ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง
๒. นายปริญญา นาคฉัตรีย์ กรรมการการเลือกตั้ง
๓. นายจรัล บูรณะพันธุ์ศรี กรรมการการเลือกตั้ง
๔. นายวีระชัย แนวบุญเนียร กรรมการการเลือกตั้ง
๕. พลเอกจารุภัทร เรืองสุวรรณ กรรมการการเลือกตั้ง
ประธาน กกต.ได้มีการประชุมหารือเพื่อสร้างความเข้าใจในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ โดยใช้การปฏิบัติงานครั้งนี้ว่า "แผนพระราม ๑" แผนดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่การรับสมัครเลือกตั้ง ไปจนถึงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ จะมีการลงคะแนนพร้อมกันทั่วประเทศ หลังจากนั้น กกต.ต้องประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.เขต ๔๐๐ เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ๑๐๐ คน รวม ๕๐๐ คน ให้เสร็จภายใน ๓๐ วัน หลังวันเลือกตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนให้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรภายใน ๓๐ วัน เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรเลือก "นายกรัฐมนตรี"--จบ--

แท็ก กกต.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ