ก.ล.ต. เตรียมปรับปรุงหลักเกณฑ์การขายหน่วยลงทุนให้ชัดเจนขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 12, 2012 16:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--ก.ล.ต. นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยภายหลังการประชุมระหว่าง ก.ล.ต. และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ประจำไตรมาสแรกของปี 2555 ว่า ที่ประชุมได้หารือแนวทางพัฒนาธุรกิจจัดการกองทุนในหลายเรื่อง โดยมีเป้าหมายให้อุตสาหกรรมกองทุนรวมเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นแหล่งลงทุนที่ประชาชนสามารถเข้าถึงด้วยความเชื่อมั่น ให้บริการอย่างมีคุณภาพ พร้อมกับมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ก.ล.ต. มีแนวคิดที่จะปรับปรุงหลักเกณฑ์การขายหน่วยลงทุนให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น สืบเนื่องจากการสุ่มตรวจการขายหน่วยลงทุนของธนาคารพาณิชย์จำนวน 18 แห่ง รวม 55 สาขา ในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่าการขายหน่วยลงทุนยังต้องปรับปรุงเกี่ยวกับการให้ข้อมูลและคำแนะนำแก่ผู้ลงทุน ซึ่ง ก.ล.ต. ได้แจ้งให้สมาคมธนาคารไทยทราบแล้ว และขอความร่วมมือจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ในฐานะเป็นผู้มอบหมายให้ธนาคารขายหน่วยลงทุนช่วยดูแลในเรื่องนี้ด้วย สำหรับหลักเกณฑ์ที่จะปรับปรุง เช่น ต้องมีจำนวนผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนที่เพียงพอ ผู้ขายต้องแสดงตนชัดเจนกับผู้ลงทุน เช่น การติดบัตร ผู้ขายต้องมีความรู้อย่างแท้จริงเกี่ยวกับสินค้าที่ตนเองแนะนำและขายให้แก่ผู้ลงทุน (product due diligence) ต้องแจกสรุปข้อมูลสำคัญ (fact sheet) ทุกครั้ง รวมถึงจัดทำการประเมินระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม (suitability test) ของลูกค้าก่อนเริ่มให้คำแนะนำ และให้แยกพื้นที่ให้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนให้ชัดเจน โดย ก.ล.ต. จะเข้าไปสุ่มตรวจอีกครั้ง ในเรื่องเกี่ยวกับการจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์นั้น ก.ล.ต. ขอให้สมาคมจัดทำแนวปฏิบัติในการควบคุมภายในและการบริหารจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เพื่อปิดช่องทางที่อาจทำให้ผลตอบแทนที่ควรไปถึงผู้ลงทุนรั่วไหลได้ โดย บลจ. และผู้ดูแลผลประโยชน์ควรให้ความสำคัญกับการมีระบบควบคุมภายในที่รอบคอบและรัดกุม รวมถึงมีการบริหารจัดการกองทุนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ก.ล.ต. แจ้งให้ บลจ. พิจารณาที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์กองทุนรวมที่มีรูปแบบสอดคล้องกับความต้องการออมเงินและความต้องการผลตอบแทนของประชาชนแต่ละกลุ่มซึ่งมีเป้าหมายต่างกัน อาทิ 1) กองทุนรวมที่สร้างวินัยการลงทุน เช่น กองทุนที่ให้ผู้ลงทุนใส่เงินลงทุนสม่ำเสมอและลงทุนต่อเนื่อง 2) กองทุนรวมที่กำหนดเป้าหมายการลงทุนเป็นการเฉพาะ เช่น กองทุนรวมเพื่อการศึกษาบุตรในระดับ อุดมศึกษา 3) กองทุนรวมกึ่งบังคับทางอ้อมสำหรับกลุ่มวิชาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีแนวโน้มเปลี่ยนนายจ้างบ่อย และ 4) กองทุนรวมสำหรับวัยหลังเกษียณ โดยกำหนดให้มีการจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถเลี้ยงชีพได้ อีกทั้งจะช่วยให้เม็ดเงินลงทุนระยะยาวยังคงอยู่ในระบบตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง “ขณะนี้เป็นช่วงเวลาเหมาะสมสำหรับ บลจ. ในการนำเสนอรูปแบบกองทุนรวมใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน เนื่องจากประชาชนมีความคุ้นเคยกับกองทุนรวมมากขึ้น แต่การลงทุนยังกระจุกตัวอยู่เฉพาะในบางนโยบายที่มีความเสี่ยงต่ำทั้งที่อาจไม่ได้ให้ผลตอบแทนตามที่ต้องการ ก.ล.ต.จึงเสนอแนวคิดให้ บลจ. นำไปพิจารณาที่จะเพิ่มรูปแบบกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนที่มีเป้าหมายเฉพาะหรือเหมาะกับผู้ลงทุนเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันการพัฒนาคุณภาพในการขายก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ทั้งด้านผู้ขาย ระบบงาน และการให้ข้อมูลและคำแนะนำ จำเป็นต้องได้รับการดูแลใกล้ชิดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลงทุนโดยขาดความเข้าใจของผู้ลงทุน ซึ่งอาจส่งผลถึงความเชื่อมั่นต่อธุรกิจกองทุนรวมโดยรวมได้” นายวรพล กล่าว นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า “อุตสาหกรรมกองทุนรวมจำเป็นต้องมีการพัฒนาปรับปรุงให้มีความใกล้ชิดต่อผู้ลงทุนมากขึ้น รูปแบบกองทุนที่จะนำเสนอจึงควรปรับให้สอดคล้องกับช่องว่างในการออมและลงทุนที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายยังขาดอยู่ และเข้าใจได้ง่าย นอกจากนี้การนำเสนอจะต้องกระทำโดยผู้แนะนำที่มีคุณภาพและจำนวนที่เพียงพอเพื่อทำให้ผู้ลงทุนเข้าใจได้ชัดเจน ดังนั้น แนวทางที่ ก.ล.ต. แนะนำมานี้จึงเป็นแนวทางที่มีประโยชน์ยิ่ง”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ