กรมการแพทย์ห่วงเด็กเล็กถูกทำร้าย

ข่าวทั่วไป Thursday March 15, 2012 11:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 มี.ค.--กรมการแพทย์ กรมการแพทย์เตือนผู้ปกครองให้ความห่วงใยและดูแลเอาใจใส่เด็กเล็กอย่างใกล้ชิด รู้จักควบคุมอารมณ์และหลีกเลี่ยงความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ แพทย์หญิงวิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเด็กที่ถูกทำร้ายและได้รับบาดเจ็บรุนแรงเพิ่มมากขึ้นและเป็นปัญหาสำคัญ เด็กและทารกที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกทำร้ายที่ส่งผลกระทบต่อสมอง เช่น การตกจากที่สูงในลักษณะศีรษะกระแทกหงายท้อง การเขย่าเด็กแรงๆโดยไม่ได้ตั้งใจทำให้สมองได้รับการกระทบกระเทือน ถึงแม้ว่าในช่วงแรกอาจไม่พบความผิดปกติและเด็กไม่สามารถบอกรายละเอียดเกี่ยวกับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับตนได้ ทำให้ผู้ปกครองไม่พาไปพบแพทย์ทันที อาการส่วนใหญ่ที่อาจส่งผลภายหลังคือ เลือดออกในกะโหลกศีรษะ สมองช้ำ กระหม่อมโป่ง อาเจียน ซึม ชักและอาจเสียชีวิต บางรายแม้จะได้รับการรักษาแต่ก็อาจประสบปัญหา เช่น สมองพิการ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เป็นโรคลมชัก มีพัฒนาการช้า ปัญญาอ่อน ก้าวร้าว อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย สังคมไทยและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องควรให้ความสนใจและปกป้องคุมครองให้เด็กได้อยู่ใน สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้อต่อการพัฒนาทั้งทางร่างกายและจิตใจเพราะหากเกิดการบาดเจ็บหรือมีการกระทำที่รุนแรงกับเด็ก ไม่เพียงแต่เกิดบาดแผลที่เห็นภายนอกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงจิตใจของเด็กที่จะต้องได้รับการเยียวยาในระยะยาวอีกด้วย สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีได้รับเด็กและทารกที่บาดเจ็บจากการถูกกระทำรุนแรงเฉลี่ย ปีละ4-6 ราย อายุระหว่าง 2 เดือน - 2 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น สาเหตุการบาดเจ็บส่วนใหญ่ คือ การตกจากที่สูง เช่น เตียง โต๊ะ เก้าอี้ ที่มีความสูงมากกว่า 2 เท่าของความสูงของเด็กพบมากในเด็กอายุ 9 เดือน — 2 ปี การถูกเขย่าแรง ๆมักเกิดในเด็กอายุ 2-6 เดือน การถูกทำร้ายโดยบุคคลในครอบครัวหรือ คนใกล้ชิดซึ่งเกิดได้ทุกช่วงอายุ และการจมน้ำ พบในเด็กอายุ 9 เดือน — 2 ปี แนวทางในการป้องกัน ได้แก่ ไม่ควรปล่อยเด็กไว้ตามลำพัง อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับเก็บกักน้ำ เช่น สระน้ำ บ่อเลี้ยงปลาควรมีที่กั้นเพื่อไม่ให้เด็กเข้าไปได้ หากพ่อแม่ไม่ได้ดูแลบุตรด้วยตนเองควรคัดเลือกผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงเด็ก ด้วยการประเมินวุฒิภาวะทางอารมณ์อย่างละเอียด ถูกหลักวิชาการ และควรสังเกตเกี่ยวกับกิริยาท่าทางของเด็ก พฤติกรรมการกิน การนอน หากพบความผิดปกติควรไปพบแพทย์เพื่อ รับการตรวจวินิจฉัยและบำบัดรักษาต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ