สาธิต ม.รังสิต จัดงาน OPEN HOUSE เน้นหลักสูตรสองภาษา พร้อมรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ข่าวทั่วไป Friday March 16, 2012 15:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--กนกรัตน์ แอนด์ เฟรนด์ สาธิต ม.รังสิต เตรียมความพร้อมนักเรียน จัดงาน OPEN HOUSE เน้นหลักสูตรสองภาษา ไม่ทิ้งภาษาไทยพัฒนาควบคู่ภาษาที่สอง พร้อมจัดเสวนาพิเศษ “การศึกษาไทยในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากแวดวงการศึกษา ชี้เด็กไทยต้องได้รับการเรียนภาษาที่สองโดยธรรมชาติ ผ่านการเรียนรู้จากหลักสูตรสองภาษา มั่นใจหลักสูตรของโรงเรียนพร้อมพัฒนาศักยภาพของเด็ก รองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานกรรมการบริหารและอธิการบดี ม.รังสิต กล่าวว่า “การที่ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ส่งผลให้ในปี 2558 ไทยจะต้องเปิดเสรีทางการค้านั้นจะส่งผลดีต่ออำนาจการต่อรองในเรื่องเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกันจะเกิดการไหลเวียนของแรงงานจากต่างประเทศ ดังนั้นจึงควรเร่งพัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษของเด็ก ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยใช้เวลาหลายสิบปีในการเรียน และพัฒนาทักษะทางภาษาอังกฤษให้กับเด็ก แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมานั้นต่ำมาก เพราะนักเรียนใช้เวลาส่วนใหญ่กับแบบฝึกหัดไวยากรณ์ จึงไม่สามารถพูดหรือเขียนเพื่อการสื่อสารได้ เพราะฉะนั้นการเรียนรู้แบบหลักสูตรสองภาษา จึงเป็นคำตอบสำหรับเด็กไทย แต่การจัดหลักสูตรสองภาษาในทุกรายวิชาสำหรับคนไทย ไม่ใช่การลดความสำคัญของภาษาไทยลง แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงบทบาทของประเทศไทยในปัจจุบัน และอนาคตในฐานะสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียน และสังคมโลก ที่ประเทศไทยจะต้องอยู่รอด และสามารถแข่งขันในสังคมโลกปัจจุบันได้” ด้าน ดร.อภิรมณ อุไรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้จัดการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิยาลัยรังสิต กล่าวว่า “การเปิดเสรีอาเซียน เป็นแรงกระตุ้นที่ประเทศไทยจำเป็นจะต้องพัฒนาศักยภาพด้านภาษาให้กับเด็ก ดังนั้น โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้จัดงาน Open House เพื่อแนะนำโรงเรียน และหลักสูตรการเรียนการสอน ที่โรงเรียนได้มีการเตรียมความพร้อมด้านการศึกษา สำหรับการเปิดเสรีสู่ประชาคมอาเซียน รวมถึงจัดให้มีการเสวนาพิเศษในหัวข้อ “การศึกษาไทยในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้เข้าใจถึงการปรับตัว และความจำเป็นในการพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษา โดยเฉพาะความสำคัญในเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษของเด็ก” ทั้งนี้การเปิดเสรีสู่ประชาคมอาเซียนนั้น โรงเรียนได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศอื่นๆ เพื่อใช้ในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพกับชาวต่างชาติ ดังนั้นนักเรียนควรได้รับการพัฒนาศักยภาพ เพื่อการเรียนรู้และการใช้ภาษาที่สองหรือภาษาที่สาม ตั้งแต่วัยก่อนเข้าเรียน ในช่วงสองถึงสามปีแรกซึ่งสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับเด็กในการเรียน และการใช้ภาษาให้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นผ่านการเรียนรู้แบบหลักสูตรสองภาษา สำหรับหลักสูตรของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต มีหลักสูตร International Bilingual School ในระดับชั้นประถม - มัธยมศึกษา หลักสูตรภาษาไทยใช้ของกระทรวงศึกษาธิการ วิชาภาษาอังกฤษทางโรงเรียน บูรณาการหลักสูตรรูปแบบอังกฤษ และอเมริกามาใช้ในการเรียนการสอนเพื่อเป็นต้นแบบของโรงเรียนสองภาษา ที่นักเรียนสามารถใช้ภาษาไทย และภาษาอังกฤษได้เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังได้ให้ความสำคัญกับภาษาที่สามอีกด้วย โดยมีการจัดให้มีการเรียนการสอนภาษาจีนเพิ่มขึ้นอีก 1 คาบเรียน/สัปดาห์ในระดับชั้นอนุบาล และ 2 คาบเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ไปพร้อมกันกับภาษาที่หนึ่ง และภาษาที่สองนั่นเอง หลักสูตรของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิตที่ใช้ คือ Unified Bilingual Curriculum โดยนำกระบวนการจัดการเรียนการสอนหลักๆ 4 กระบวนการ ดังนี้ 1. Process-based teaching methodology เปิดโอกาสให้ครูได้มีโอกาสสังเกตกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนและสามารถให้ความช่วยเหลือหรือมอบหมายกิจกรรมที่ท้าทายในการคิดเชิงวิเคราะห์อย่างเป็นระบบและผู้เรียนจะมีโอกาสแสดงความคิดเห็นและมีปฏิสัมพันธ์ต่อครูและเพื่อนนักเรียนด้วยกัน 2. Interactive Learning Activities กิจกรรมในการเรียนการสอนที่เน้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับครู และนักเรียนกับนักเรียน โดยที่ผู้สอนอาจจะใช้เทคนิคของกระบวนการกลุ่ม หรือเป็นคู่เพื่อแก้ไขปัญหาที่มอบหมายให้และเสนอแนะความเห็นหรือข้อยุติที่สมเหตุสมผล 3. Authentic Assessment การประเมินผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้โดยใช้สภาพการณ์จริง รูปแบบของการประเมินเป็นการอภิปรายรายงานหน้าชั้นเรียน หรือการนำเสนอประเด็นหรือข้อมูลต่อเพื่อนนักเรียนหรือครูในชั้นเรียน ทั้งนี้ผู้สอนจะมีโอกาสทราบว่านักเรียนได้ผลสัมฤทธิ์ ตามที่ตั้งจุดประสงค์ไว้ได้หรือไม่และการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์นั้น ขั้นสุดท้ายเป็นการสอบแบบปกติกลางภาค และปลายภาคอย่างที่ปฏิบัติกันในโรงเรียนทั่วไป 4. ICT Literacy ความสามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถใช้คอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และแสวงหาความรู้เพิ่มเติม อีกทั้งมีความสามารถในการสื่อสารผ่านระบบอิเลคทรอนิกส์ ผู้เรียนจะต้องแสดงความสามารถในการใช้และมีทักษะคอมพิวเตอร์ในระดับหนึ่งและสื่อสารได้ ในการนำเสนอหัวข้อที่เรียนรู้และในการสอบระบบอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยหลักสูตรของโรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอนนั้นเป็นภาษาอังกฤษอยู่แล้ว คณาจารย์เป็นเจ้าของภาษาอย่างแท้จริงในอัตรส่วนครึ่งหนึ่งของครูชาวไทย ดังนั้นนักเรียนของเรามีโอกาสได้ใช้ทักษะภาษาทั้งการฟัง พูด อ่าน ในชีวิตประจำวัน ซึ่งนับว่าเป็นข้อดีที่ดีประการหนึ่ง นอกจากนี้เรายังได้มีการจัดกิจกรรมรูปแบบสองภาษา และรณรงค์ให้ความรู้เรื่องอาเซียนให้แก่นักเรียนอีกด้วย “สำหรับผู้ปกครองที่จะให้เด็กเข้าเรียนในหลักสูตรสองภาษานั้น อยากให้เข้าใจว่าในช่วงระยะเวลา 5 ปีแรกของการเรียนรู้ จะต้องใช้ความอดทนทั้งครูผู้สอน ผู้บริหารโรงเรียนและผู้ปกครอง เพื่อให้โอกาสผู้เรียนได้ฝึกฝนการใช้ภาษาในบริบทที่ถูกต้องเหมาะสมและเพียงพอในชั้นเรียน ซึ่งผู้ปกครองไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไปหากระหว่างที่ผ่านขั้นตอนการเรียนรู้โดยธรรมชาติแล้ว อาจทำให้พัฒนาการทางวิชาการของเด็กช้าลงในช่วง 2-3 ปีแรก หลังจากนั้นเด็กจะสามารถใช้ภาษาได้คล่องแคล่ว ผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการและการเรียนรู้ด้วยตนเองจะพัฒนาอย่างรวดเร็ว นั่นคือประสบการณ์ที่เราได้รับจากโรงเรียนแห่งนี้ นักเรียนของเราสามารถใช้ภาษาไทย และภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว ขณะเดียวกันนักเรียนของเราก็สามารถทำผลงานการทดสอบความรู้ทักษะทางวิชาการด้านต่างๆได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งล่าสุดนักเรียนของเราได้รับรางวัลเหรียญทองในวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ระดับชั้นประถมศึกษาในการสอบคัดเลือกตัวแทนนักเรียนแข่งขันวิชาการระดับนานาชาติ ปีพ.ศ. 2555 ระดับเหรียญทองในการทดสอบความรู้ทางวิชาการระดับต่างๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่านักเรียนของเราไม่ได้เก่งแค่การใช้ภาษาเท่านั้นแต่ความรู้ความสามารถในวิชาสามัญก็ไม่น้อยไปกว่าทักษะทางภาษาเช่นกัน การให้การศึกษาในหลักสูตรสองภาษา จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะมอบให้แก่ลูกหลานของเราในปัจจุบันนี้” ดร.อภิรมณ กล่าวในที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ