ค่าจ้างขั้นต่ำ: โจทก์หรือจำเลยของเศรษฐกิจไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 27, 2012 14:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--TMB Analytics ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ห่วง ขึ้นค่าแรงผู้ประกอบการ และ SMEs ปรับตัวไม่ทัน แบกรับ 8 ใน 10 ส่วน ที่เหลือส่งผ่านดันค่าครองชีพประชาชนสูงขึ้น ค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายนศกนี้ โดยในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และ ภูเก็ต จะปรับเพิ่มเป็น 300 บาท (จากเดิมที่ 215 บาท ของ 6 จังหวัด และ 221 บาทสำหรับภูเก็ต) ส่วนจังหวัดอื่นๆก็จะมีอัตราลดหลั่นกันลงไปตามฐานอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แตกต่างกัน แต่ล้วนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึงประมาณร้อยละ 40 ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี 4 เดือนจากการปรับขึ้นค่าจ้างครั้งล่าสุดเมื่อต้นปีที่แล้ว ซึ่งหัวใจหลักของนโยบายดังกล่าวคือ ความพยายามในการเพิ่มอำนาจการซื้อให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ที่อำนาจการซื้อถดถอยมาเรื่อยๆเป็นเวลากว่า 10 ปี ในด้านผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ต้นทุนค่าแรงที่จะเพิ่มขึ้นนี้ จะเป็นภาระแตกต่างกันไปตามโครงสร้างแรงงานของแต่ละอุตสาหกรรม อีกทั้ง อุตสาหกรรมนั้นมีความสามารถที่จะส่งผ่านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภคได้มากน้อยเพียงใด ตัวอย่างเช่น สิ่งทอ อัญมณีเครื่องประดับ ใช้แรงงานเป็นสัดส่วนที่สูงและผลักภาระด้วยการขึ้นราคาได้ยากจากการแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงต่ำกว่ามาก โดยกำไรที่เคยทำได้ก็จะหดลงถึงกว่าร้อยละ 20 ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นที่ใช้แรงงานเป็นสัดส่วนน้อยกว่า และ มีหนทางที่จะส่งผ่านต้นทุนด้วยการเพิ่มราคาขายได้มากกว่าอย่าง อาหาร กำไรก็จะถูกกระทบน้อยกว่าคือราวร้อยละ 13-16 โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีต้นทุนแรงงานเฉลี่ยประมาณร้อยละ 16 ของต้นทุนการผลิต เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากกว่า โดยการแข่งขันที่รุนแรงทำให้การผลักภาระหรือส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้วยการปรับราคาขายของ SMEs ให้สูงขึ้นนั้นทำได้ไม่ง่ายเลย ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่มีต้นทุนแรงงานเฉลี่ยต่ำกว่า โดยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 13 ก็มีอำนาจต่อรองในด้านราคากับผู้บริโภคมากกว่าด้วย แน่นอนว่าภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งตกมายังผู้บริโภค ซึ่งจากการศึกษาของ TMB Analytics พบว่า โดยถัวเฉลี่ยแล้ว ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 100 บาท ผู้ประกอบการจะแบกรับภาระต้นทุนไว้ 80 บาท อีก 20 บาท ก็จะกลายเป็นภาระของผู้บริโภคที่จะต้องจ่ายค่าสินค้าและบริการแพงขึ้นกว่าเดิม แต่การปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจทำให้อัตราส่วนนี้เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาอาหารซึ่งเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นในการปรับราคาค่อนข้างมาก ทั้งนี้ในสองเดือนแรกของปีนี้ ดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.4 ถ้าเป็นเฉพาะอาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9.2 มากกว่าดัชนีราคาสินค้าโดยรวมที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.4 ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นนี้อาจจะส่งผลให้เงินเฟ้อหมวดอาหารเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 4 จากระดับปัจจุบันสู่ร้อยละ 11-13 ในปีนี้ จริงอยู่ ปัจจุบันผู้ใช้แรงงานไทยนั้นมีรายได้ที่ปรับขึ้นไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทุกๆปี และการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นกลไกหนึ่งในการเพิ่มกำลังซื้อให้คนกลุ่มนี้ได้รวดเร็วที่สุด แต่ทว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเร่งตัวภายในระยะเวลาอันสั้น อาจทำให้ค่าครองชีพของประชาชนดีดขึ้นไปกว่าที่ควรจะเป็นเนื่องจากผู้ประกอบการไม่มีเวลาในการปรับตัว จึงเลือกการส่งผ่านต้นทุนให้ผู้บริโภคมากที่สุดเป็นทางออก สุดท้ายผลกระทบทางลบจะตกกับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านอาหารจะมีสัดส่วนต่อรายได้ที่สูงกว่าโดยเปรียบเทียบ อีกทั้งยังมีงานศึกษาของ TDRI ที่ชี้ถึงการนำไปสู่การพยายามลดแรงงานในบางอุตสาหกรรมเพื่อประหยัดต้นทุน และกลุ่มแรงงานที่อาจได้รับผลกระทบเชิงลบนี้ก็คือกลุ่มเดียวกันกับที่นโยบายตั้งใจจะช่วย สุดาวรรณ ไชยภัทรพงศ์ สื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร Tel: 02 242 3260. Fax: 02 242 3254

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ