เตือนภัยหนอนกอระบาดนาข้าว

ข่าวทั่วไป Friday March 30, 2012 16:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--สำนักงานเกษตร จ.มหาสารคาม สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม เตือนการระบาดของหนอนกอข้าวที่สามารถทำลายตั้งแต่ต้นข้าวยังเล็ก จนถึงระยะข้าวออกรวง พร้อมแนะนำวิธีการป้องกันและกำจัดสามารถทำได้ง่าย ผลผลิตเกษตรไม่มีสารพิษตกค้าง ปลอดภัยต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ว่าที่ ร.ต.จักรภัทร ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของศัตรูข้าวนาปรังในช่วงนี้โดยเฉพาะที่อำเภอโกสุมพิสัย และอำเภอเชียงยืน พบการระบาดของหนอนกอข้าวเป็นศัตรูที่สำคัญของชาวนา ซึ่งทำความเสียหายให้กับแปลงนาเป็นอย่างมาก โดยหลังหนอนฟักจากไข่จะเจาะเข้าทำลายกาบใบอ่อน ทำให้กาบใบมีสีเหลืองหรือน้ำตาล ถ้าเข้าทำลายในระยะข้าวแตกกอนี้ทำให้เกิดอาการ "ยอดเหี่ยว"ถ้าหนอนเข้าทำลายในระยะข้าวตั้งท้องหรือหลังจากข้าวออกรวงจะทำให้เมล็ดข้าวลีบทั้งรวง รวงข้าวมีสีขาวเรียกอาการนี้ว่า "ข้าวหัวหงอก" สถาบันสร้างเสริมนวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง กรมส่งเสริมการเกษตร มีคำแนะนำไว้ว่าการใช้สมุนไพรในธรรมชาติในการป้องกันและกำจัดหนอนกอเป็นวิธีการหนึ่งที่ปลอดภัยกับทุกฝ่ายและช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้ บอระเพ็ดเป็นพืชที่มีรสขมมาก เกษตรกรสามารถนำมาใช้ในการป้องกันหนอนกอข้าวมาทำลายข้าวโดยนำบอระเพ็ดทุบให้ละเอียดแล้วแช่ในนา จะทำให้ต้นข้าวมีรสขมหนอนกอจะไม่มากัดกินวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ ประกอบด้วยบอระเพ็ด ตะกร้า และเชือก วิธีการในช่วงระยะการทำนา ตั้งแต่ช่วงการปักดำข้าวให้เกษตรกรนำบอระเพ็ดจำนวนมากน้อยแล้วแต่ขนาดของแปลงนา โดยนำบอระเพ็ดมาทุบให้ละเอียดแล้วนำมาใส่ในตะกร้า นำเชือกมาผูกให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันไม่ให้บอระเพ็ดไหลออกมา จากนั้นนำตะกร้าบอระเพ็ดไปแช่ในแปลงนา บริเวณที่มีน้ำไหลเข้าแปลงนาจนถึงเวลาข้าวตั้งท้องให้เอาตะกร้าบอระเพ็ดออกจากน้ำ ไม่เช่นนั้นจะทำให้เมล็ดข้าวขม รับประทานไม่ได้ และควรใช้วิธีป้องกันกำจัดหลาย ๆ วิธีจะช่วยให้ได้ผลดีขึ้น เช่น ใช้ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ แตนเบียน จะเข้าทำลายกลุ่มไข่ของหนอนกอ ทำลายตัวหนอน และทำลายดักแด้ จิ้งหรีดหนวดยาว ตั๊กแตนหนวดยาวจะกินไข่ของผีเสื้อหนอนกอ หรือใช้วิธีกลร่วมด้วย เช่น ใช้กับดักแสงไฟล่อให้ตัวแก่ผีเสื้อหนอนมาเล่นไฟแล้วจับทำลาย ผลผลิตข้าวไม่มีสารพิษตกค้าง ปลอดภัยต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามหากพบการระบาดในช่วงข้าวโน้มรวงใกล้เก็บเกี่ยวไม่แนะนำให้ใช้สารเคมี หากมีปัญหาเรื่องศัตรูข้าวสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัด/สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน หรือขอคำปรึกษาและแก้ปัญหาการเกษตร โดยตรงกับเกษตรจังหวัดมหาสารคาม โทรศัพท์หมายเลข ๐๘๑-๗๙๐๕๒๕๖ และหมายเลข ๐๘๘-๕๔๙๗๙๔๔

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ