ปภ.แนะนำเด็กโดยสารรถอย่างปลอดภัย

ข่าวทั่วไป Tuesday April 3, 2012 11:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะผู้ปกครองนำเด็กโดยสารรถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัย หากเป็นทารกให้ใช้เป้หรือถุงจิงโจ้พยุงตัวเด็ก จัดเก็บผ้าที่ห่อตัวเด็กให้เรียบร้อยก่อนที่รถจะเคลื่อนตัว เพื่อป้องกันชายผ้าถูกเกี่ยวหรือพันเข้าไปในโซ่ล้อรถ ทำให้เด็กพลัดตกจากรถ กรณีนำเด็กเดินทางโดยรถยนต์ ควรให้เด็กนั่งที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กบริเวณเบาะด้านหลังรถ ห้ามนำเด็กนั่งซ้อนตักผู้โดยสารด้านหน้าหรือคนขับรถ หากประสบอุบัติเหตุ จะทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า เหตุการณ์อุบัติเหตุเด็กทารกเข้าไปติดในซี่ล้อรถจักรยานยนต์สร้างความสะเทือนขวัญให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งบ่อยครั้งมักได้ยินข่าวเด็กเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ที่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะวิธีนำเด็กโดยสารรถอย่างปลอดภัย ดังนี้ รถจักรยานยนต์ ห้ามนำเด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๓ เดือนโดยสารรถจักรยานยนต์อย่างเด็ดขาด เนื่องจากกล้ามเนื้อคอของเด็กยังไม่แข็งแรง หากเกิดอุบัติเหตุ จะทำให้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต กรณีที่จำเป็นต้องนำเด็กโดยสารรถจักรยานยนต์ ควรใช้เป้หรือถุงจิงโจ้แทนการอุ้ม เพราะจะทำให้มีมือประคองตัวเด็กและทรงตัวได้ดี จึงช่วยป้องกัน เด็กพลัดตกจากรถ กรณีใช้ผ้าห่อตัวเด็ก ควรจัดเก็บชายผ้าให้เรียบร้อยก่อนที่รถจะเคลื่อนตัว เพิ่มความระมัดระวังมิให้ชายผ้าเกี่ยวเข้าไปในซี่ล้อรถหรือโซ่ล้อรถรถจักรยานยนต์ในขณะที่รถกำลังวิ่ง เพราะหากชายผ้าถูกเกี่ยว จะทำให้เด็กถูกกระชากตกจากรถ จนได้รับบาดเจ็บรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพื่อความปลอดภัย ควรนำแผ่นโลหะหรือพลาสติกปิดกั้นบริเวณซี่ล้อรถจักรยานยนต์ รถยนต์ จัดให้เด็กนั่งที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก (Infant Seat) ซึ่งมีความเหมาะสมกับวัย และน้ำหนักของเด็ก ดังนี้ เด็กแรกเกิด — 1 ปี (น้ำหนักน้อยกว่า 10 กก.) ให้ใช้เบาะนั่งนิรภัยแบบหันไปด้านหลังรถเด็กอายุ 1 — 5 ปี (น้ำหนัก 10 — 18 กก.) ให้ใช้เบาะนั่งนิรภัยแบบหันไปด้านหน้ารถตามปกติ เด็กอายุ 5 - 10 ปี (น้ำหนัก 18 - 28 กิโลกรัม) ให้ใช้เบาะนั่งนิรภัยแบบที่นั่งเสริม เพื่อยกตัวเด็กให้สูงพอที่จะคาดเข็มขัดนิรภัย กรณีไม่มีที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ควรให้เด็กนั่งบริเวณเบาะหลังรถ ไม่ควรให้เด็กนั่งบริเวณเบาะด้านหน้ารถ หากจำเป็นต้องเลื่อนเบาะไปทางด้านหลังให้มากที่สุด ที่สำคัญ ห้ามนำเด็กนั่งตักผู้ขับขี่ในขณะขับรถอย่างเด็ดขาด เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ขับขี่ไม่มีสมาธิในการขับรถแล้ว เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินยังทำให้เด็กได้รับอันตรายจากการกระแทกกับพวงมาลัยรถ ถุงลมนิรภัย กระจกหน้ารถ หรือพุ่งออกนอกรถ จนได้รับบาดเจ็บรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ท้ายนี้ ผู้ปกครองควรให้เด็กใช้อุปกรณ์นิรภัยในขณะโดยสารยานพาหนะทุกครั้ง หากประสบอุบัติเหตุจะช่วยลดอัตราบาดเจ็บและเสียชีวิต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ