วันที่หก รณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย ตายเป็นศูนย์” ศปถ. กำชับทุกจังหวัดดำเนินการตามแผนฯ

ข่าวทั่วไป Tuesday April 17, 2012 15:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--ปภ. ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2555 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 16 เม.ย. 55 เกิดอุบัติเหตุ 291 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 29 ราย ผู้บาดเจ็บ 308 คน รวม 6 วัน (วันที่ 11 — 16 เม.ย. 55) เกิดอุบัติเหตุ 2,872 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 282 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,059 คน พร้อมประสานทุกจังหวัดกำชับเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนดำเนินการตามมาตรการลดอุบัติเหตุทางถนนตามแผนที่ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความปลอดภัยในการเดินทางกลับของประชาชน นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะประธานแถลงข่าว เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2555 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 16 เมษายน 2555 ซึ่งเป็นวันที่หกของการรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย ตายเป็นศูนย์” เกิดอุบัติเหตุ 291 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 29 ราย ผู้บาดเจ็บ 308 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 36.77 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 24.40 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.87 รถปิคอัพ ร้อยละ 6.71 พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ การโดยสารรถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 32.05 ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ร้อยละ 6.23 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 59.79 บนถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 34.02 ถนนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 31.96 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 — 20.00 น. ร้อยละ 29.90 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 52.82 จังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ 14 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ตราด นครนายก นนทบุรี บึงกาฬ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ยโสธร เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สมุทรปราการ และหนองบัวลำภู จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ 13 ครั้ง จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต 53 จังหวัด จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงราย ตาก ราชบุรี สระบุรี และอุดรธานี จังหวัดละ 2 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บ 16 จังหวัด จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สุพรรณบุรี 16 คน ทั้งนี้ ได้จัดตั้ง จุดตรวจหลัก 2,400 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 69,580 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 694,795 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 104,104 ราย โดยมีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 30,630 ราย รองลงมา ไม่มีใบขับขี่ 30,039 ราย สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 6 วัน (วันที่ 11 — 16 เม.ย. 55) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,872 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 282 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 3,059 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในช่วง 6 วัน มี 9 จังหวัด ได้แก่ ตรัง ตราด นครพนม ปัตตานี ยะลา ระนอง ลพบุรี สตูล และสิงห์บุรี จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บในช่วง 6 วัน มี 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ และยโสธร จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสูด ได้แก่ เชียงราย 116 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ สระบุรี สุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 11 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 117 คน นายฉัตรป้อง กล่าวต่อไปว่า ศปถ. ได้ประสานให้ทุกจังหวัดกำชับเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนดำเนินการตามมาตรการลดอุบัติเหตุทางถนนตามแผนที่ได้กำหนดไว้ เพื่อรองรับการเดินทางกลับของประชาชนและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ซึ่งจะช่วยลดสถิติอุบัติเหตุทางถนน และสร้างความปลอดภัยในการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ จากการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 6 วัน ของการรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย ตายเป็นศูนย์” วันที่ 11 — 16 เมษายน 2555 พบว่า สถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2555 เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ร้อยละ 23.14 โดยมีปัจจัยเสี่ยงหลักจากดัชนีความรุนแรงของอุบัติเหตุทางถนน (สัดส่วนผู้เสียชีวิตต่อการอุบัติเหตุทางถนนแต่ละครั้ง) สูงกว่าปีที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 9.80 โดยเฉพาะอุบัติเหตุใหญ่ มีสาเหตุหลักจากรถกระบะที่บรรทุกคนตอนท้ายกระบะ อีกทั้งผู้ขับขี่มีพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ ทั้งการขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด การดื่มสุรา และการหลับใน ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้อุบัติเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่า อุบัติเหตุรถตู้และรถโดยสารสาธารณะอยู่ในอัตราต่ำกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการนำระบบ RFID มาใช้ในการควบคุมความเร็ว คุณภาพรถทั้งสภาพรถและความพร้อมของพนักงานขับรถ รวมถึงมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด อีกทั้งถนนสายรองที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุ การเสียชีวิตและการบาดเจ็บน้อยลง ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจะได้นำข้อสังเกตซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการลดอุบัติเหตุไปกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อปรับแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและปัจจัยเสี่ยง พร้อมนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และประสาน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนการดำเนินงานไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป เพื่อให้อุบัติเหตุทางถนน มีสถิติการตายเป็น “ศูนย์”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ