วอร์เนอร์ บราเดอร์ส พิกเจอร์ส ภูมิใจเสนอภาพยนตร์ เรื่อง The day after tomorrow วิกฤติวันสิ้นโลก

ข่าวทั่วไป Thursday May 20, 2004 14:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--วอร์เนอร์ บราเดอร์ส พิกเจอร์ส
กำหนดฉายวันที่ 28 พฤษภาคม 2547
จะเป็นอย่างไรหากโลกเรากำลังจะเข้าสู่ยุคน้ำแข็งครั้งใหม่?
นี่เป็นคำถามที่ตามหลอน แจ็ค ฮอลล์ (เดนนิส เควด) ผู้เป็นนักกาลวิทยา ผลที่ได้จากการค้นคว้าของฮอลล์ระบุว่า สภาวะโลกร้อนอาจเป็นชนวนหายนะแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหันของภูมิอากาศโลก แกนน้ำแข็งที่เขาทำการเจาะในทวีปแอนตาร์กติกาบ่งว่ามันเคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อหนึ่งหมื่นปีก่อน และในตอนนี้เขาได้ส่งคำเตือนไปยังหน่วยราชการ ว่ามันอาจเกิดขึ้นอีกครั้งหากไม่มีการดำเนินการโดยทันที แต่คำเตือนของเขามาถึงช้าเกินไป
ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นเมื่อฮอลล์ได้เจอกับก้อนน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่พอๆ กับรัฐโร้ดไอส์แลนด์ ซึ่งแตกออกมาจากภูเขาน้ำแข็งในขั้วโลกใต้ และจากนั้นคือปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงของอากาศอย่างรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปทั่วโลก : ลูกเห็บขนาดใหญ่เท่าผลส้มโอตกกระหน่ำเมืองโตเกียว ลมพายุเฮอริเคนรุนแรงชนิดทำลายสถิติพัดเข้าสู่ฮาวาย หิมะตกที่เมืองนิวเดลี และจากนั้นพายุทอร์นาโดหลายลูกก็เข้ากวาดเมืองลอสแอนเจลิส
โทรศัพท์ที่เขาได้รับจากศาสตราจารย์แร็พสัน (เอียน โฮล์ม) เพื่อนร่วมงานในสก็อตแลนด์ ยืนยันให้กับความกลัวที่ร้ายแรงที่สุดของแจ็ค : สภาวะอากาศรุนแรงเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั่วโลก น้ำแข็งที่ปกคลุมบนขั้วโลกได้ละลายและทำให้น้ำไหลทะลักลงสู่มหาสมุทร และรบกวนกระแสคลื่นซึ่งเป็นตัวสร้างสมดุลย์ของระบบภูมิอากาศของเรา สภาวะโลกร้อนได้ผลักดันให้โลกเฉียดเข้าไปใกล้กับยุคน้ำแข็งครั้งใหม่ และมันจะเกิดขึ้นในระหว่างที่พายุมหึมาลูกหนึ่งถล่มไปทั่วโลก
ในขณะที่แจ็คเตือนทำเนียบขาวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่กำลังคุกคามโลกนั้น แซม (เจค กิลเลนฮาล) ลูกชายวัย 17 ของเขาก็ติดอยู่ในนิวยอร์ค ซิตี้ ในระหว่างที่เขาและเพื่อนๆ ไปร่วมแข่งขันด้านวิชาการระดับมัธยม และตอนนี้เขาต้องเผชิญกับอุทกภัยร้ายแรงและอุณหภูมิที่กำลังดิ่งลงอย่างรวดเร็วในแมนฮัตตัน ต่อมาเมื่อได้ถูกอพยพเข้าไปอยู่ในหอสมุดสาธารณะแห่งแมนฮัตตัน แซมจึงสามารถติดต่อกับพ่อของเขาได้ทางโทรศัพท์ แจ็คมีเวลาที่จะเตือนลูกเพียงข้อเดียวเท่านั้น : จงอยู่แต่ในอาคารไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
ในขณะที่การอพยพประชากรครั้งใหญ่เพื่อมุ่งหน้าลงใต้เริ่มขึ้นนั้น แจ็คก็เดินทางขึ้นเหนือสู่นิวยอร์ค ซิตี้ เพื่อช่วยแซม แต่แม้แต่แจ็คก็ไม่ได้เตรียมตัวที่จะเผชิญกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น - กับตัวเอง กับลูกชายของเขา และกับโลกของเขา
ในภาพยนตร์เรื่อง INDEPENDENCE DAY โรแลนด์ เอ็มเมอริค เคยพาเราไปพบกับโลกที่เกือบจะถูกทำลายโดยมนุษย์ต่างดาวมาแล้ว คราวนี้ในเรื่อง THE DAY AFTER TOMORROW เราจะได้พบกับศัตรูที่สามารถทำลายล้างได้มากยิ่งขึ้นไปกว่า : ธรรมชาติ
มันเป็นตำนานแห่งเรื่องราวของการเอาชีวิตรอดและความเป็นวีรบุรุษพร้อมด้วยงานแอ็คชั่นแบบไม่มีการหยุดพัก และวิชวลเอ็ฟเฟ็คตระการตา" มาร์ค กอร์ดอน ผู้อำนวยการสร้างกล่าว "หนังเรื่องนี้จะนำเสนองานวิชวลแบบเด็ดดวงที่บรรดาผู้ชมคาดหวังจะได้เห็นจากโรแลนด์ เอ็มเมอริค"
แม้ว่าเครื่องหมายประจำตัวแห่งความตระการตาของเอ็มเมอริค จะสมบูรณ์ด้วยการเล่าเรื่อง แต่เขากล่าวว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้ขาดแคลนปัจจัยที่เป็นมนุษย์แต่อย่างใด "ไม่สำคัญว่าเอ็ฟเฟ็คจะยิ่งใหญ่ขนาดไหน" เอ็มเมอริคกล่าว "หัวใจของหนังยังคงเป็นเรื่องราวของมนุษย์ ตัวละครพ่อและลูกที่รับบทโดยเดนนิส เควด และ เจค กิลเลนฮาลนั้นมีความอ่อนไหว ความขัดแย้ง และความรัก นั่นคือสิ่งที่สร้างความตื่นเต้นอย่างมากเมื่อพวกเขาต้องดิ้นรนต่อสู้ท่ามกลางพลังแห่งธรรมชาติอันเหลือเชื่อ มันเป็นการดิ้นรนของมนุษย์ทั่วโลกต่อธรรมชาติ มันเป็นการเอาตัวรอดจากลิขิตพระเจ้า ท้ายที่สุดมันคือชัยชนะแห่งจิตวิญญาณมนุษย์"
"โดยพื้นฐาน นี่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคนธรรมดาๆที่ได้พบว่าตัวเองกำลังต่อสู้กับสถานการณ์ที่ไม่ธรรมดา" เจฟฟรีย์ นัคแมนอฟ ผู้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์กล่าว "มันเป็นเรื่องของครอบครัวที่พยายามเอาชีวิตรอดจากหายนะแห่งความเป็นจริง สมาชิกแต่ละคนของครอบครัวต้องยืนหยัดผจญกับเหตุการณ์ หนุ่มน้อยต้องกลายเป็นผู้นำ; พ่อผู้บ้างานต้องหาญกล้าเพื่อเผชิญทุกอย่าง เพื่อช่วยลูกชายของเขาให้ได้; และแม่ผู้เลือกที่จะเสี่ยงชีวิตของตัวเองเพื่อแลกกับลูกชายตัวน้อยของเธอ มันเป็นเรื่องราวของความรัก ความอดทน และการดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดของมนุษยชาติตลอดกาล "และมันเป็นเรื่องเตือนสติเราถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้น หากเรายังคงทำในสิ่งที่เป็นการยั่วยุต่อธรรมชาติต่อไปอีก"
ภาพยนตร์ยอดฮิตแห่งปี 1996 ของทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์ เรื่อง INDEPENDENCE DAY นั้นเป็นหนังไซไฟขนานแท้; มันไม่ได้อิงจากความเชื่อที่มีกันอย่างกว้างขวาง ว่าการบุกรุกจากมนุษย์ต่างดาวนั้นเป็นเรื่องที่ใกล้เข้ามาทุกที แต่ THE DAY AFTER TOMORROW มาจากสถานการณ์ที่หยั่งรากมาจากความกังวลอย่างแท้จริงเกี่ยวกับสภาวะของโลกเรา "เราเดินทางไปถึงช่วงเวลาที่ยุคน้ำแข็งอาจเกิดขึ้นเพื่อให้มีเรื่องราว" มาร์ค กอร์ดอนกล่าว "แต่ทฤษฎีที่ว่าภาวะโลกร้อนอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอากาศอย่างฉับพลันนับว่ากำลังอยู่ในความสนใจของคนส่วนใหญ่ ในขณะที่ไม่มีใครรู้ว่าผลที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร กับการที่มนุษย์สะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มเข้าไปในชั้นบรรยากาศ ผู้เชี่ยวชาญบางคนได้อ้างถึงมันว่าเป็น 'การทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่อาจควบคุมได้ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์'"
อาจเป็นการประชดหรือบังเอิญก็ว่าได้ ที่ระหว่างการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้เกิดปรากฎการณ์อากาศที่รุนแรงติดต่อกันหลายต่อหลายครั้งทั่วโลก ซึ่งนับเป็นการเพิ่มเติมหลักฐานยิ่งขึ้นไปอีกว่าการเปลี่ยนแปลงของอากาศได้เริ่มขึ้นแล้ว
ในเดือนกรกฎาคมปี 2002 ระหว่างเตรียมการถ่ายทำ พายุลูกเห็บมฤตยูได้ถล่มประเทศจีนตอนกลาง ลูกเห็บซึ่งมีขนาดใหญ่เท่ากับไข่และพายุได้คร่าชีวิตคนจำนวน 25 ราย และผู้เคราะห์ร้ายหลายคนได้รับบาดเจ็บสาหัสจากแผลบนศีรษะ พายุดังกล่าวถอนรากถอนโคนต้นไม้ ทำให้กระจกรถยนต์แตกเสียหาย กระแสไฟฟ้าขัดข้อง และทำลายอาคารบ้านเรือนในตอนเหนือของจังหวัดฮีนาน
เดือนถัดมา บางส่วนของทวีปยุโรปได้รับความเสียหายจากสิ่งที่รู้กันในภายหลังว่าเป็น "อุกทกภัยแห่งศตวรรษ" พายุฝนที่ตกกระหน่ำในแถบนั้นเป็นเวลาเกือบสามอาทิตย์จนกระทั่งเกิดน้ำท่วมระบบรถไฟใต้ดินของลอนดอน ทำลายไร่องุ่นและสวน โอลีฟทางตอนเหนือของอิตาลีอย่างย่อยยับ และยังพัดกวาดเอาบรรดานักท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลดำของรัสเซีย จนคร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวน 108 คน และประชากรอีกหลายหมื่นคนต้องถูกอพยพ
ในเดือนพฤศจิกายน เพียงสามวันก่อนจะเริ่มการถ่ายทำหลักในเมืองมอนทรีออล อากาศก็เกิดวิปริตอย่างต่อเนื่อง และเกิดพายุทอร์นาโดหลายลูกในสหรัฐฯ ที่นับได้ถึง 75 ลูกในเพียงหนึ่งวัน ทำให้คนเสียชีวิตไป 36 ราย และสร้างความเสียหายให้กับ 13 รัฐ นอกจากนั้นทางกองถ่ายยังต้องทนทรมาณเป็นเวลาสี่เดือนกับหน้าหนาวที่หนาวเหน็บที่สุดจนทำลายสถิติของมอนทรีออล โดยมีอุณหภูมิในช่วงกลางวันอยู่ที่ -25oC ในหลายโอกาสด้วยกัน
ในตัวอย่างของศิลปะการเลียนแบบชีวิตจริงที่น่าแปลกยิ่งไปกว่าก็คือภูเขาน้ำแข็งลาร์เส็นบี (Larsen B) ในทวีปแอนตาร์กติกาที่ได้หลุดร่วงลงสู่ทะเลเมื่อเดือนมีนาคม 2002 เพียงไม่กี่อาทิตย์ หลังจาก ที่เอ็มเมอริคและนัคแมนอฟได้เขียนฉากที่บรรยายถึงการถล่ม "ในตอนนั้นเรายังล้อกันว่าเราควรจะรีบเริ่มถ่ายทำได้แล้ว หรือไม่งั้นอาจกลายเป็นว่าเราทำหนังสารคดี" เอ็มเมอริคเล่า
ด้วยเหตุที่ปรากฎการณ์ในชีวิตจริงได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาของการเตรียมงานและถ่ายทำ เอ็มเมอริค กอร์ดอน และนัคแมนอฟ จึงตกลงกันว่า THE DAY AFTER TOMORROW ควรจะสะท้อนถึงแนวความคิดทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนให้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
"ในแกนเรื่องของ 'หนังภัยพิบัติ' ทุกเรื่องนั้นย่อมมีเรื่องจริงเป็นฐาน ความจริงบางอย่างที่ผู้ชมจะยึดเป็นหลักได้" เอ็มเมอริคกล่าว "สิ่งที่เราเคยรู้เกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของอากาศได้กลายเป็นข้อมูลพื้นฐานแห่งความเป็นจริงสำหรับหนัง และมีผลโดยตรงต่อความน่าเชื่อถือของตัวละคร และโลกที่เราได้สร้างให้กับพวกเขา"
"หนังเริ่มการเดินทางจากความเป็นวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงอย่างสมบูรณ์ ในอัตราความเร็วที่ทุกอย่างควรจะเกิดขึ้น" กอร์ดอนเล่า "เมื่อนักวิทยาศาสตร์พูดกันถึงอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่าง 'ฉับพลัน' คือพวกเขาพูดถึงในอีกห้าถึงสิบปีข้างหน้า ไม่ใช่อีกสองสามอาทิตย์ข้างหน้า เป้าหมายของเราก็คือไม่พยายามค้นหาเรื่องทางวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อนในหนังความยาวสองชั่วโมง เราอยากทำหนังซัมเมอร์เรื่องเยี่ยมที่อาจ - แค่อาจจะ - ไม่เพียงแต่สร้างความบันเทิงให้กับคนดู แต่ยังทำให้พวกเขาได้รับความกระจ่างพร้อมกันไปด้วย"
ในอีกหนึ่งความบังเอิญก็คือ เมื่อเพนตากอนได้ออกรายงานในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2004 ซึ่งประเมิณความเสี่ยงในด้านความปลอดภัยของประเทศ ที่ยังผลมาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก รายงานดังกล่าวได้พิจารณาอย่างจริงจังถึงความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันและร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นจากสภาวะโลกร้อน; สรุปโดยย่อก็คือ เรื่องราวแนวนิยายของ THE DAY AFTER TOMORROW อาจไม่ได้ดูเป็นนิยายเท่าใดนัก
การเปลี่ยนแปลงของอากาศ การละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ยุคน้ำแข็ง ความ "เย็นสุดขั้ว" ตามความเห็นของเดนนิส เควด คำเหล่านั้นบรรยายถึงสภาพอากาศภายใน และ ภายนอกซาวด์สเตจของมอนทรีออล ที่ซึ่งกองถ่ายได้ตั้งอยู่เป็นเวลาห้าเดือนระหว่างช่วงฤดูหนาวของปี 2002-03"มันหนาวไปหมดซะทุกที่" เควด ผู้รับบทเป็นแจ็ค ฮอลล์ นักกาลวิทยากล่าว "มันหนาวข้างนอกสเตจ มันหนาวระหว่างวันและหนาวยิ่งกว่านรกในตอนกลางคืน เราอยู่ที่มอนทรีออลตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเมษายน ในช่วงหน้าหนาวที่หนาวที่สุดจนทำลายสถิติ ในการถ่ายทำหนังที่เป็นเรื่องราวแห่งหายนะเกี่ยวกับยุคน้ำแข็งเพชรฆาตครั้งต่อไป เราหนีไปไหนไม่ได้ มันถึงขนาดที่ว่าเราเรียนรู้ที่จะจำใครต่อใครได้ไม่ใช่จากใบหน้า แต่เป็นสีของเสื้อกันลมของแต่ละคน
"ระหว่างการถ่ายทำ ถ้าหากว่าเราไม่ได้เดินย่ำอยู่กลางหิมะ" เควดเล่า "เราก็จะตัวเปียกปอนหนาวเหน็บ เพราะฝนที่ตกกระหน่ำ หรือพายุลูกเห็บ หรือน้ำท่วม หรือเฮอริเคนที่กำลังเกิดขึ้นในสเตจอื่นๆ ใครที่ไม่ได้เป็นแฟนของช่องพยากรณ์อากาศมาก่อน คงจะต้องคอยติดตามดูมัน หลังจากที่ได้ดูหนังเรื่องนี้เพราะมันมีทุกอย่าง มันเป็นหนังเรื่องราวภัยพิบัติที่คุณเคยดูมา รวมกันเป็นหายนะครั้งยิ่งใหญ่ที่ไม่รู้จบของอุตุนิยมวิทยาทั่วโลก"จากการบรรยายของเควดอาจทำให้บางคนเดาว่า THE DAY AFTER TOMORROW จะนำเสนอความท้าทายจำนวนมากเป็นพิเศษ ไม่เพียงแต่สำหรับผู้สร้าง แต่สำหรับเควดและเพื่อนดาราอีกด้วย
"ความท้าทายยังนับว่าน้อยเกินไป" เควดพูดปนหัวเราะ "มันเป็นการเอาชีวิตรอดมากกว่า เราทุกคนพยายามเอาชีวิตรอดจากการถ่ายหนังเกี่ยวกับการเอาชีวิตรอด ผมเคยทำงานกับหนังสเปเชียลเอ็ฟเฟ็คหลายเรื่องมาก่อน แต่ไม่เคยทำอะไรที่ใหญ่ขนาดนี้ มันมีความท้าทายที่แตกต่างอย่างมาก ที่บรรดานักแสดงจะต้องเอาชนะ เราต้องใส่เสื้อผ้ากันหนาวหนาถึงสี่ห้าชั้น และรองเท้าบู๊ต แล้วพวกเขาก็เริ่มเป่าหิมะปลอมเข้าใส่เราด้วยพัดลมขนาดมหึมา ความแรงลมประมาณแปดสิบไมล์ต่อชั่วโมง หิมะพวกนั้นปลิวเข้าปากเข้าจมูกและในลูกนัยน์ตา แล้วเราก็ต้องพยายามลืมตาเอาไว้ให้ได้ "มันเป็นเรื่องที่เน้นเกี่ยวกับจิตใต้สำนึกอย่างแท้จริงในบางครั้ง เป็นหนังซัมเมอร์ประเภทที่ผมอยากไปดู…เรื่องดีเยี่ยม, เอ็ฟเฟ็คดีเยี่ยม, สื่อความหมายได้ดี…ดังนั้นสำหรับการที่ผมได้อยู่ในหนังเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ระทึกมาก มันเป็นเรื่องตื่นเต้นอย่างใหญ่หลวงของผม และมันเป็นเรื่องที่ดีกว่าการทำงานเพื่อยังชีพ"
"ผมต้องยอมรับว่า ในฐานะนักแสดงมันเป็นเรื่องแปลกในการถ่ายทำเรื่องนี้" เจค กิลเลนฮาลบอก "แต่แปลกในทางที่ดี ในการเป็นนักแสดง เรารู้ดีว่าในหนังประเภทนี้ เราเล่นใน 'บท' เล็กๆ ใน 'เรื่องทั้งหมด' ที่ยิ่งใหญ่ หนึ่งในสิ่งที่น่าสนใจสำหรับผมก็คือ ผมใช้เวลาหกเดือนถ่ายทำในสิ่งที่ผมไม่รู้เรื่อง และผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเศษสามส่วนสี่ของเรื่องจะเป็นอย่างไร เพราะหลายส่วนในหนังถูกสร้างสรรค์โดยไม่มีผมกับนักแสดงคนอื่นๆ หรือจะถูกสร้างหลังจากถ่ายทำเสร็จแล้ว มันเกือบเหมือนการเป็นสมาชิกคนหนึ่งของผู้ชมทำนองนั้น และผมไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป มันคงสนุกที่จะได้นั่งอยู่ในโรงหนังที่ปิดไฟมืดและได้เฝ้าดูเรื่องราวทั้งหมดเผยตัวออกมา" เช่นเดียวกับเควด กิลเลนฮาลก็ต้องเผชิญกับความหนาวเหน็บและเปียกปอนในบทนำที่เขาได้รับเป็นแซม ฮอลล์ หนุ่มวัยรุ่นที่ไม่มีเป้าหมายชีวิตซึ่งกลายเป็นวีรบุรุษ
"มันเป็นครั้งแรกที่ผมได้แสดงในหนังแบบนี้ ดังนั้นผมมจึงรู้ว่าผมได้มาร่วมงานที่จะได้เจอกับเรื่องประหลาดใจ" กิลเลนฮาลบอก "ผมนึกภาพดูว่าถ้าผมจะทำงานกับหนังแบบนี้ โรแลนด์ เอ็มเมอริคคือคนที่ควรจะทำ เขาเป็นอัจฉริยะกับหลายอย่าง และเขาเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงธรรมชาติของอสูรร้ายประเภทนี้
กิลเลนฮาล ร่วมกับเอ็มมี่ รอสซัม, อาร์เจย์ สมิธ และออสติน นิโคลส์ ต้องดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดในฉากน้ำท่วมเมืองนิวยอร์ค ซิตี้อย่างถึงพริกถึงขิง ที่ถ่ายทำกันในแทงค์น้ำขนาดยักษ์ที่ถูกสร้างไว้ในโรงซ่อมบำรุงรถไฟขนาดยักษ์ของบริษัทอัลสตอมในเมืองมอนทรีออล เป็นเวลาสองอาทิตย์ที่บรรดานักแสดงและตัวประกอบหลายร้อยคนต้องผจญกับลมพายุและฝนที่พัดกระหน่ำ ในนขณะที่วิ่งขึ้นลงไปตาม "ถนน" ในแมนฮัตตัน ที่จมอยู่ใต้น้ำลึกเกือบสี่ฟุต
"มันเหมือนได้เต้นแอโรบิคในน้ำทั้งวันเป็นเวลาสองอาทิตย์ โดยใส่เสื้อผ้าขนสัตว์เปียกๆ" รอสซัมเล่า เธอรับบทลอร่า นักเรียนสาวแสนสวยผู้ชาญฉลาด "ลองนึกดูซิว่าต้องวิ่งไปมาตามถนนและขึ้นลงบันไดของหอสมุดที่มีน้ำท่วมอยู่ลึกประมาณสี่ฟุต มันเป็นประสสบการณ์ที่เหลือเชื่อ - ร้อนและเย็นสลับกันไป ตั้งเหนียวตัวและหนาวสั่น ทรมาณด้วยแรงลมพัดและฝนขณะอยู่ในน้ำ และมันเป็นเรื่องที่หนาวมากที่สุดเท่าที่ฉันเคยเจอมาในชีวิต" สมาชิกคนหนึ่งในบรรดานักแสดงที่รอดพ้นจากการเข้าฉากกับอากาศที่เลวร้ายขนดหนักไปได้นั้นคือ เซล่า วอร์ด ซึ่งแสดงเป็นหมอลูซี่ ฮอลล์ ภรรยาของแจ็ค แม่ของแซม ซึ่งอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อช่วยชีวิตคนไข้ตลอดเวลาที่เกิดพายุ
"นอกจากความชอบที่มีต่อบทของลูซี่" วอร์ดกล่าว "ฉันคิดว่ามันมีความหมายที่ยิ่งใหญ่ภายใต้งานเอ็ฟเฟ็คที่ยอดเยี่ยมเหล่านั้น ฉันคิดว่าหนังสื่อถึงครอบครัวของผู้รอดชีวิตและความสำคัญที่จะดิ้นรนเพื่อรักษาสิ่งนั้นไว้ "และแน่นอน มันเป็นข้อความที่ฝากถึงเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หรือเป็นการเตือน" วอร์ดพูด "ถึงแม้ว่าหนังจะเป็นเรื่องราวของคน และในบางครั้งได้ถูกขยายความเพื่อเน้นถึงความเป็นตัวละคร แต่ก็มีพื้นฐานที่หนักแน่นเกี่ยวกับสิ่งที่พูดถึงว่า : ถ้าเราไม่ดูแลโลกของเราเสียตั้งแต่ตอนนี้ มันก็คงจะอยู่ดูแลพวกเราไปได้อีกไม่นานเท่าไหร่ มันเป็นความคิดที่มีเหตุผลและฉันคิดว่าคนดูบางคนคงจะได้คิดตอนที่ออกมาจากโรงหนังแล้วพูดว่า 'วิ้ว…เฮ้ ดีใจนะที่มันเป็นแค่หนัง'"
งานที่น่าหวาดหวั่นในการจัดทำ สร้างสรรค์ ก่อสร้าง และนำเสนอจากมุมมองของโรแลนด์ เอ็มเมอริค ตกเป็นหน้าที่ของผู้ออกแบบฝ่ายศิลป์ แบรี่ ชูซิด, ผู้ควบคุมวิชวลเอ็ฟเฟ็ค แคเรน กูเลคาส, ผู้ควบคุมสเปเชียลเอ็ฟเฟ็คเจ้าของรางวัลตุ๊กตาทอง นีล คอร์โบลด์ และทีมงานของบรรดาช่างตกแต่ง, ช่างไม้, ผู้ใช้แรงงาน และช่างเทคนิค หัวหน้าของทั้งสามแผนกได้เคยร่วมงานกับผู้กำกับฯ เอ็มเมอริคมาก่อนแล้ว
"ในหนังเรื่องนี้" ชูซิดบอก "เรามีพายุลูกเห็บในโตเกียว เฮอริเคนที่ฮาวาย ทอร์นาโดในลอสแอนเจลิส น้ำท่วมในแมนฮัตตัน และความหนาวสุดขั้วในแถบชายฝั่งตะวันออก เราได้เห็นสก็อตแลนด์ เม็กซิโก นิวเดลี และแม้กระทั่งจากนอกโลก ดังนั้น เราจึงไล่เรียงฉากทั้งหมด ตั้งแต่ภายในห้องนักบินของเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็ก ไปจนถึงฉากถนนที่คลุมไปด้วยหิมะในนิวเดลี ไปจนกระทั่งพื้นที่ 15,000 ตารางฟุตในหอสมุดสาธารณะของแมนฮัตตัน
"การที่เคยทำงานกับโรแลนด์มาก่อน นับว่าช่วยเราได้มากในแง่ความรู้ใจถึงความชอบและไม่ชอบของเขา แต่ในเรื่อง THE DAY AFTER TOMORROW จะมีความซับซ้อนมากมาย แค่เพียงขนาดของฉากและเอ็ฟเฟ็ค จนกระทั่งบางครั้งมันทำให้รู้สึกตื้นตันที่ได้เห็นว่าเราและแผนกของเราว่าสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ขนาดไหน"
หลังจากที่กองถ่ายได้เสร็จสิ้นการถ่ายทำในโลเคชั่นที่ลอสแอนเจลิส นิวยอร์ค และวอชิงตัน ดีซี การถ่ายทำหลักก็เริ่มต้นขึ้นที่มอนทรีออลในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2002 ห้าอาทิตย์แรกของกำหนดการทำงานเต็มไปด้วยฉากทั้งภายในและภายนอกของหนัง ที่ถ่ายทำกันในเมืองมอนทรีออลและบริเวณโดยรอบ รวมทั้งฉากที่เกี่ยวกับวันหิมะตกในนิวเดลี
ชูซิดและทีมของเขาได้ใช้ช่วงตึกที่สวยงามที่สุดทางด้านเหนือของดาวน์ทาวน์เมืองมอนทรีออล และเแปลงโฉมให้กลายเป็นตลาดจอแจที่เต็มไปด้วยสีสันและแถมด้วยกลิ่นอายของนิวเดลี สถานที่ดังกล่าวสมบูรณ์ไปด้วยงานศิลปะ รถลาก และรถยนต์ที่ถูกส่งมาจากอินเดียโดยทางเรือเพื่อใช้งานในฉากนี้โดยเฉพาะ เรเน่ เอพริล ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ได้แต่งตัวให้กับตัวประกอบกว่า 1,000 คนด้วยชุดส่าหรีพื้นเมืองของอินเดีย และทีมงานสเปเชียลเอ็ฟเฟ็ค (ธรรมชาติ) ของนีล คอร์โบลด์ เป็นผู้จัดแสงและหิมะหนานุ่มของวัน
ภาระอันหนักหน่วงอีกสองอย่างของชูซิด ก็คือฉากภายในและภายนอกของหอสมุดของแมนฮัตตัน (ซึ่งมีพื้นที่รวม 50,000 ตารางฟุต) และเรือบรรทุกสินค้าที่ถูกแช่แข็งของรัสเซียที่แล่นเข้ามาจนถึงฟิฟธ์อเวนิว
สำหรับด้านนอกของห้องสมุด ซิดได้ออกแบบถนนของแมนฮัตตันที่พาไปพบกับขั้นบันไดหินขนาดยักษ์ขึ้นสู่หอสมุด ฉากถนนและส่วนหน้าอาคารหอสมุดที่มีสัดส่วน 100' x 60' ถูกสร้างขึ้นในแทงค์น้ำขนาดยักษ์ที่ใช้เพื่อถ่ายทำฉากน้ำท่วมครั้งยิ่งใหญ่แห่งตำนาน ฉากภายในหอสมุดได้ถูกสร้างขึ้นจากบรรดาฉากขนาดใหญ่ยักษ์หลายชิ้น ที่สร้างขึ้นไว้ในสเตจหลายแห่งรอบๆ มอนทรีออล ทีมงานได้สร้างฉากภายในไว้ตามสเตจหลายแห่งเพื่อทำให้มีความยืดหยุ่นสำหรับทีมผู้สร้างที่จะ "แต่ง" แต่ละฉากให้เป็นไปตามสภาพอากาศที่ต้องการสำหรับฉากแต่ละฉากในหอสมุด
ชูซิดเป็นผู้ออกแบบเรือบรรทุกสินค้าของรัสเซีย และต่อมาแคเรน กูเลคาสผู้ควบคุมวิชวลเอ็ฟเฟ็ค ก็จะตวรจสอบความต้องการใช้เอ็ฟเฟ็คที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์ จากนั้นชูซิดจึงจะสามารถตัดสินใจว่าแผนกของเขาจะต้องสร้างส่วนไหนของเรือ โดยส่วนที่เหลือจะถูกเติมเต็มด้วยภาพที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์ "ผมรู้สึกดีใจอย่างมากที่เราต้องสร้างบางส่วนของเรือบรรทุกสินค้า" ชูซิดเล่า "แทนที่จะสร้างด้วย CGI ทั้งหมด เพราะผมคิดว่ามันกลายเป็นฉากที่มหัศจรรย์มาก"
แคเรน กูเลคาส และทีมงานของเธอ เช่นเดียวกับทีมวิชวลเอ็ฟเฟ็คที่ Digital Domain ในลอสแอนเจลิส ได้ใช้เทคโนโลยีหลายชิ้นด้วยกันในการสร้างงานวิชวลเอ็ฟเฟ็ค
"เราใช้โปรแกรมซอฟท์แวร์สร้างฉากภาพเสมือนจริงที่เรียกว่า Terragenƒ ซึ่งพัฒนาขึ้นมาโดย Digital Domain" กูเลคาสกล่าว "เพื่อช่วยให้เราได้สร้างภูมิประเทศของแอนตาร์กติกา เรายังใช้ Lidar ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการสแกนด้วยเลเซอร์ ซึ่งทำให้เราสามารถสแกนตึกใหญ่ๆ ในลอสแอนเจลิสและช่วงตึก 13 ช่วงของนิวยอร์คได้อย่างมีรายละเอียดมาก เราไม่ได้สร้างแบบจำลองของนิวยอร์ค ต้องขอบคุณข้อมูลของ Lidar และนิวยอร์คจากบริษัทที่ชื่อว่า Urban Data Solutions โดยที่เราสร้างทั้งเมืองขึ้นมาด้วยคอมพิวเตอร์"นีล คอร์โบลด์ ผู้ควบคุมสเปเชียลเอ็ฟเฟ็คกล่าวว่า ความปรารถนาที่จะได้ความสมจริงของโรแลนด์ เอ็มเมอริค ได้ถูกถ่ายทอดอย่างเห็นได้ชัดในทุกฉากของภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นพายุหิมะ พายุลูกเห็บ น้ำท่วม หรือความหนาวเหน็บ "เราพยายาม ไม่ว่าจะใช้ความสามารถมากแค่ไหน ที่จะทำทุกอย่างขึ้นมา- ตั้งแต่ลูกเห็บไปจนถึงน้ำท่วม จนกระทั่งหลุมอากาศเครื่องบิน - ให้ดูเหมือนจริงมากที่สุดสำหรับเขา" คอร์โบลด์เล่า
สำหรับลูกเห็บ (ซึ่งมีตั้งแต่ขนาดเท่าผลส้มโอ ไปจนถึงลูกโบว์ลิ่ง) ที่ถล่มโตเกียวนั้น คอร์โบลด์และทีมได้ซื้อน้ำแข็งหลายร้อยก้อน และแกะให้เป็นลูกเห็บแต่ละลูกตามขนาดที่ต้องใช้ในฉาก พวกเขาสร้างฉากเฮอริเคนขึ้นที่โคน่า ฮาวาย โดยใช้เครื่องเป่าลมขนาดยักษ์ เครื่องทำฝนจำนวนมาก และสายเคเบิลกับระบบไฮโดรลิคที่ซับซ้อน เพื่อทำให้เกิดการกระพือและบินว่อนของวัสดุบนชายหาด ล่าสุด เอ็ฟเฟ็คที่ดูสมจริงที่สุดคือฉากน้ำท่วมถนนในนิวยอร์ค ทีมงานจำนวนนับไม่ถ้วนจากหลายแผนกทำงานกันเจ็ดวันต่ออาทิตย์ เป็นเวลาหกอาทิตย์ติดต่อกัน ในการสร้างแทงค์น้ำด้วยการเชื่อมและเสริมแผงกั้นถนนคอนกรีตสูง 3.5 ฟุตรอบๆ ฉากถนนของแมนฮัตตัน และต่อมาได้พ่นเยื่อบุกันน้ำเพื่อเชื่อมแผงกั้น เมื่อมัน "พร้อมรับน้ำ" ทีมผู้สร้างจึงใส่น้ำ 250,000 แกลลอนที่ผ่านความร้อนและการกรอง แทงค์ "สำรอง" น้ำแห่งที่สองได้ถูกสร้างขึ้นด้านหลังฉาก และใส่น้ำในปริมาณ 150,000 แกลลอนไว้ เครื่องปั่นฝนสิบตัวถูกเรียงติดตั้งไว้ที่ด้านบนของฉาก และต่อเข้ากับเครื่องสูบน้ำที่มีระบบอันซับซ้อน ซึ่งจะหมุนเวียนน้ำเข้าไปในแทงค์สองใบ ในปริมาณ 5,000 แกลลอนต่อนาที สำหรับเอ็ฟเฟ็คเพิ่มเติมนั้น เครื่องเป่าลม V-8 ขนาดยักษ์สองตัวได้ถูกติดไว้กับ "ซูมบูม" (เครื่องกลประเภทฟอร์คลิฟท์) ซึ่งทำให้เครื่องเป่าลมถูกดึงขึ้นไปในอากาศได้สูงถึง 20 ฟุต และปรับให้อยู่ในตำแหน่งที่ใกล้หรือไกลจากงานแอ็คชั่นตามต้องการ
"ฉากน้ำท่วมเป็นการผสมผสานของเทคโนโลยีใหม่และเก่าอย่างแท้จริง" คอร์โบลด์กล่าว "และมันเป็นความพยายามร่วมงานกันของทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ ผมคิดว่ามันจะเป็นภาพตระการตาด้วย"
ภาพยนตร์ประเภทนี้เฟื่องฟูเป็นอย่างมากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่หนังแผ่นดินไหว ตึกถูกผลาญด้วยไฟนรก การถล่มของขอบมหาสมุทร
- แม้กระทั่งรถไฟเหาะที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทำไมผู้ชมจึงชอบเรื่องหายนะประเภทนี้กันนัก? อะไรคือสิ่งที่ทำให้หนังเหล่านี้ดึงดูดใจต่อบรรดาผู้ชมอย่างกว้างขวาง?
"ทุกคนมีความอยากรู้อยากเห็น รวมทั้งผมด้วย" เดนนิส เควดบอก "ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้หรือรถไฟชนกัน เราทุกคนต้องหยุดดู ในเสี้ยวหนึ่งของวินาทีเราอาจสงสัยว่าเป็นคนที่เรารู้จักหรือเปล่า …แล้วก็นึกขอบคุณที่มันไม่ใช่...แล้วเราก็จะสงสัยว่า 'ถ้าเราเจอเข้าอย่างนั้นจะทำยังไง?' ภัยพิบัติ
- และหนังเกี่ยวกับความหายนะ
- ดูเหมือนจะกระตุ้นอารมณ์สะเทือนใจของมนุษย์ ผมคิดว่าคนดูสนุกกับการผสมผสานของการขึ้นสูงและตกต่ำ และผมคิดว่าพวกเขาชอบให้จินตนาการได้ถูกจุดประกายด้วยสถานการณ์ประเภท 'ถ้าเผื่อว่า'"
"หนังที่เกี่ยวกับเรื่องความหายนะทุกเรื่องนั้นเป็นเรื่องของความเป็นมนุษย์ของคนเรา" เจฟฟรีย์ นัคแนอฟบอก "สำหรับคนดู พวกเขาต้องการเห็นว่าคนอื่นๆ ตอบโต้กับความหายนะอย่างไร; บางคนทำด้วยความกล้าหาญ อีกหลายคนทำด้วยความขี้ขลาด และบางทีก็มีคนที่พยายามหาประโยชน์ใส่ตัวเองจากสถานการณ์เหล่านั้น ผมคิดว่าคนดูชอบที่จะมองหาตัวเอง และแทบตลอดเวลาก็จะจินตนาการเอาว่าตัวเองเป็นพระเอก"
"คนดูชอบการเล่าเรื่องด้วยภาพ" มาร์ค กอร์ดอนกล่าว "พวกเขาชอบความตระการตา แอ็คชั่น และการผจญภัย และชอบติดตามดูตัวละครในสถานการณ์ที่ใหญ่เกินกว่าชีวิตจริง ในเวลาสองชั่วโมง พวกเขากลายเป็นพระเอกหรือเหยื่อ เป็นผู้ปกป้องหรือผู้ถูกปกป้อง พวกเขากลายเป็นส่วนหนึ่งของบางอย่างที่ไม่มีโอกาสได้ประสบในชีวิตของพวกเขา พวกเขาไม่เพียงแต่ชอบที่ได้พบตัวเองตกอยู่ในภัยพิบัติ แต่ยังชอบที่ได้ปล่อยตัวเองไปตามเนื้อเรื่องอีกด้วย"
"หากว่าโลกล่มสลาย เราก็ต้องหันกลับมามองชีวิตของเราเอง" โรแลนด์ เอ็มเมอริคกล่าว "และคนดูก็รู้ดีเวลาที่ได้ดูหนังเกี่ยวกับความหายนะ พวกเขาต้องมองกลับมายังชีวิตของตัวเอง และต้องตัดสินใจ กับเรื่องความต้องการของตนและคนที่ตัวเองรัก มันทั้งน่ากลัวและน่าตื่นเต้นไปในเวลาเดียวกัน
"นั่นคือเหตุผลที่ผมชอบหนังประเภทนี้" เอ็มเมอริคบอก "ผมยังเคยสงสัยว่าตัวเองจะทำยังไง…แม้กระทั่งในขณะที่ผมอยู่ในระหว่างการทำหนัง ผมก็ยังถามตัวเองว่า 'เราจะทำยังไงในสถานการณ์นี้?' มันเป็นคำถามที่กดดันมาก และบางทีคำตอบอาจไม่ใช่เรื่องง่าย"--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ