ม.อ.วิทยาเขตตรัง เร่งศึกษาสถาปัตยกรรมอาคารเก่าเมืองตรัง ถอดรหัสภูมิปัญญาการออกแบบ หวังอนุรักษ์อาคารเก่าในชุมชน

ข่าวทั่วไป Thursday April 26, 2012 20:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ม.อ. วิทยาเขตตรัง จัดทำโครงการเพื่ออนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นภาคใต้ฝั่งตะวันตก หวังถอดรหัสวิธีคิดและภูมิปัญญาการสร้างที่อยู่อาศัยในพื้นที่ จัดทีมลงเก็บข้อมูลเพื่ออนุรักษ์อาคารเก่าแก่ 3 แห่งในจังหวัด เพื่อนำมาปรับใช้เพื่อช่วยอนุรักษณ์อาคารเก่าในจังหวัดตรัง มั่นใจเอื้อประโยชน์ต่อการผลิตบัณฑิตสถาปัตย์รุ่นใหม่ที่ทั้งใส่ใจสิ่งแวดล้อม และเข้าใจสถาปัตยกรรมท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง อาจารย์ตรีชาติ เลาแก้วหนู นักวิชาการประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) วิทยาเขตตรัง เปิดเผยว่า ในขณะนี้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์อยู่ระหว่างการจัดทำโครงการเพื่ออนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นภาคใต้ฝั่งตะวันตก เพื่อนำมาใช้เป็นองค์ความรู้สำหรับการศึกษา ในหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต ที่การเรียนการสอนจะมุ่งเน้นความเป็นสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืน ใน 4 ด้านได้แก่ สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น สถาปัตยกรรมชุมชนที่ตอบสนองความต้องการของผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง สถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้นและสถาปัตยกรรมสีเขียวที่เน้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยทั้ง 4 ด้านจะถูกนำมาใช้เพื่อการเรียนการสอนสำหรับผลิตบัณฑิตรุ่นใหม่ ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและมีความรู้เรื่องสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับโครงการที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.อ.วิทยาเขตตรัง กำลังดำเนินการ ประกอบไปด้วย โครงการสำรวจแหล่งมรดกสถาปัตยกรรมจังหวัดตรังใน 3 เมือง ได้แก่ เมืองทับเที่ยงหรือเขตเทศบาลนครตรัง เมืองห้วยยอด และเมืองกันตัง โดยจะทำการสำรวจอาคารเก่า เพื่อจัดทำแผนการอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมของจังหวัดตรังในอนาคต นอกจากนี้ ยังจะร่วมกับ University of Malaya ประเทศมาเลเซีย ทำการรังวัดอาคารที่มีคุณค่าในอำเภอกันตังจำนวน 4 อาคาร เพื่อนำมาใช้เขียนแบบก่อสร้าง เก็บไว้เป็นแบบสำหรับซ่อมแซมสร้างอาคารเพื่อให้คงรูปดั้งเดิมไว้ ส่วนโครงการสุดท้าย ได้แก่ การออกแบบนิทรรศการบ้านคีรีรัตน์ ซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่ที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของกรมศิลปากรไว้แล้ว โดยมีการร้องขอให้คณะฯ ดำเนินการออกแบบนิทรรศการภายในอาคารและส่งมอบให้แก่หอจดหมายเหตุจังหวัดตรัง เพื่อให้บ้านคีรีรัตน์เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษาและเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจต่อไป “ดังนั้น จึงนับได้ว่า การดำเนินโครงการเพื่ออนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นภาคใต้ฝั่งตะวันตก เป็นการถอดรหัสวิธีคิดและภูมิปัญญาการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับคนในพื้นที่ เพื่อนำมาใช้ออกแบบสถาปัตยกรรมให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ที่ผสมผสานกับเทคโนโลยีการก่อสร้างสมัยใหม่ เพื่อให้ได้แบบบ้านที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนคนในท้องถิ่นให้ได้มากที่สุด” อาจารย์ตรีชาติ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ