กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--ปตท.
ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า น้ำมันดิบเวสเท็กซัส (WTI) เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.86 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรลอยู่ที่ 104.05 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.71 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ 119.15 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เฉลี่ยปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.35 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ระดับ 115.20 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยปรับตัวลดลง 0.56 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ 132.81 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดีเซลเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.57 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ 132.00 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาได้แก่ :
ปัจจัยที่ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
- ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0 - 0.25% ต่อปี
- Thomson Reuters/University of Michigan รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ (Consumer sentiment) ในเดือน เม.ย. 55 เพื่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.20 จุด อยู่ที่ระดับ 76.4 จุด สูงสุดตั้งแต่เดือน ก.พ. 54
- สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบเดือน มี.ค. 55 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 8.7% อยู่ที่ระดับ 5.57ล้านบาร์เรลต่อวัน
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดผู้รับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 เม.ย. 55 ลดลง จากสัปดาห์ก่อน 1,000 ราย อยู่ที่ระดับ 388,000 ราย
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานยอดใช้จ่ายของผู้บริโภค (Consumer Spending) ในไตรมาส 1/55 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 0.8% อยู่ที่ระดับ 2.9% สูงสุดตั้งแต่ไตรมาส 4/53
- ญี่ปุ่นรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบเดือน มี.ค. 55 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6% เนื่องจากมีการใช้น้ำมันทดแทนพลังงานนิวเคลียร์ที่อยู่ระหว่างการปิดซ่อมบำรุง อีกทั้งญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการซ่อมแซมและก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างแห่งใหม่อย่างต่อเนื่องภายหลังเหตุการณ์สึนามิในเดือน มี.ค. 2554 นอกจากนี้ Ministry of Economy, Trade and Industry ของญี่ปุ่นรายงานดัชนีขายปลีกเดือน มี.ค. 55 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.3% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 เม.ย. 55 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3.98 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 373 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็น 5 สัปดาห์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 54
- อิรักส่งออกน้ำมันดิบในเดือน มี.ค. 55 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 15% อยู่ที่ระดับ 2.32 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นปริมาณส่งออกสูงสุดในรอบ7 ปี และคาดการณ์ว่าปริมาณส่งออกในเดือน เม.ย. 55 จะเพิ่มขึ้นแตะที่ระดับ 2.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้อิรักมีแผนเพิ่มปริมาณส่งออกน้ำมันดิบในปี พ.ศ. 2556 สู่ระดับ 2.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- บริษัทน้ำมันแห่งชาติของเม็กซิโก Pemex รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันของประเทศในเดือน มี.ค. 55 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.28% อยู่ที่ 2.55 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปริมาณการส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 4.5% มาอยู่ที่ 1.28 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- เวียดนามผลิตน้ำมันดิบเดือน มี.ค. 55 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 13.7% อยู่ที่ระดับ 330,000 บาร์เรลต่อวัน
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานยอดขายบ้านใหม่ในเดือน มี.ค. 55 ลดลง 7.1% อยู่ที่ระดับ 328,000 หลัง/ปี ต่ำที่สุดในรอบ 4 เดือน
- สำนักงานสถิติของสหภาพยุโรป (Eurostat) รายงานสัดส่วนหนี้สินต่อจีดีพีของกลุ่มยูโรโซนในปี พ.ศ.2554 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.9% อยู่ที่ 87.2% สูงสุดตั้งแต่ปี 2542
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ที่ 30 เม.ย. — 4 พ.ค. 55
ราคาน้ำมันมีความผันผวนปรับตัวขึ้นลงตามปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางจิตวิทยา โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมภายหลังจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 1/55 ลดลงจากไตรมาสก่อน 0.8% อยู่ที่ระดับ 2.2% นอกจากนั้นธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 จากเดิม 2.0% มาอยู่ที่ 2.3% และมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0-0.1% อย่างไรก็ตามตลาดน้ำมันได้รับแรงกดดันหลังจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard & Poor’s (S&P) ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของสเปนลง 2 ขั้น จากระดับ A มาอยู่ที่ BBB+ และคงแนวโน้มความน่าเชื่อถือไว้ที่ระดับ "เชิงลบ" เนื่องจากประเทศประสบปัญหาด้านการคลัง ขณะที่ Bloomberg survey รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC ในเดือน เม.ย. 55 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1% อยู่ที่ระดับ 31.41ล้านบาร์เรลต่อวัน ในระยะสั้นราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 115-123 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 101-107 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ