ฟินันซ่าคว้างานทะเบียนสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติมาครอง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 9, 2012 10:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--ฟินันซ่า นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) นางสาวกรรณิการ์ เอกเผ่าพันธุ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และนายทฤษฎี ชุติวงษา ผู้อำนวยการกลุ่มงานบริหาร กอช. ลงนามร่วมกับนายธีรพันธุ์ จิตตาลาน กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. ฟินันซ่า จำกัด นายวรสิทธิ์ โภคาชัยพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ และนายนายวราห์ สุจริตกุล กรรมการบริหาร บมจ.ฟินันซ่า โดย กอช. ได้ว่าจ้างให้บลจ.ฟินันซ่า บริหารงานทะเบียนสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ ระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2555 ณ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นายธีรพันธุ์ จิตตาลาน กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ฟินันซ่า จำกัด เผยกระทรวงการคลังไว้วางใจแต่งตั้งให้ทางบลจ.ฟินันซ่าจัดทำระบบงานทะเบียนสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ และให้บริการเป็นนายทะเบียนสมาชิกกองทุน เนื่องจากบลจ.ฟินันซ่ามีประสบการณ์ทั้งในด้านงานทะเบียนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนรวม โดยได้ให้บริการจัดทำทะเบียนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับบริษัทต่าง ๆ เป็นจำนวนถึง 314 บริษัท ด้วยความโดดเด่นและเป็นผู้นำในการพัฒนาระบบให้กับงานทะเบียนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจาก employee’s choice ไปถึงขั้นที่ปัจจุบันสามารถตอบสนองความต้องการของสมาชิกได้อย่างไร้ขีดจำกัด จึงทำให้ทางบริษัทได้รับความไว้วางใจจากกระทรวงการคลังในการจัดทำระบบงานทะเบียนสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนการออมแห่งชาติจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 เพื่อส่งเสริมให้บุคคลที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้มีโอกาสออมเพื่อการเกษียณโดยทางรัฐบาลจะร่วมสมทบด้วยอีกส่วนหนึ่ง โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าเป็นสมาชิกได้สูงถึง 35 ล้านคน ตั้งแต่ปี 2552 โครงสร้างทางประชากรของประเทศไทย กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า จะมีประชากรอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป 11% และในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นถึง 15% และสังคมของกลุ่มคนวัยทำงานจะต้องพบกับความเสี่ยงหลากหลายอาทิเช่น อายุสั้น จากไปก่อนวัยอันควร บางรายอายุยืน แต่หลังเกษียณกลับไม่มีรายได้ และท้ายสุดอาจทุพพลภาพ หรืออาจเจ็บป่วยในระยะยาว และยังมีประชากรอีกเป็นจำนวนมากอยู่นอกระบบประกันสังคม กรณีชราภาพ ซึ่งถือว่าขาดหลักประกันในส่วนนี้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงมองเห็นความสำคัญจุดนี้ จึงได้ออก พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ “กอช.”ขึ้นภายใต้สโลแกน “เกษียณสุขใจ มีบำนาญใช้กับ กอช.” โดยมุ่งหวังให้ประชาชนเข้าถึงการออมเงินที่เหมาะสมและสร้างหลักประกันทางสังคม กองทุนการออมแห่งชาติเป็นกองทุนเพื่อการเกษียณอายุภาคสมัครใจ สำหรับผู้ที่ยังไม่มีหลักประกันทางสังคมเพื่อการชราภาพ เพื่อให้มีรายได้หลังเกษียณในรูปบำนาญ หลักเกณฑ์การออมเงินกับ “กอช.” นั้น ผู้มีสิทธิจะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุ 15-60 ปี ไม่เป็นสมาชิกกองทุนอื่นใดที่ได้รับเงินสมทบจากรัฐหรือนายจ้าง และไม่ได้อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญภาครัฐหรือเอกชน โดยสมาชิกส่งเงินสะสมเงินเข้ากองทุนไม่ต่ำกว่าครั้งละ 50 บาท แต่ไม่เกิน 13,200 บาท ต่อปีและรัฐบาลจะให้เงินสมทบตามช่วงอายุของสมาชิกและเป็นอัตราส่วนกับจำนวนเงินที่สมาชิกสะสมเข้ากองทุน ตั้งแต่ร้อยละ 50 ถึงร้อยละ 100 โดยไม่เกินเงินสมทบสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด สมาชิกจะได้รับ ได้รับบำนาญรายเดือนจนตลอดชีวิตเมื่อสมาชิกอายุครบ 60 ปี เป็นต้นไป และมีเงินออมที่มากพอ ซึ่งสมาชิกที่ออมมาก ก็จะได้รับบำนาญมากตามไปด้วยและในกรณีที่สมาชิกทุพพลภาพก่อนอายุครบ 60 ปี จะมีสิทธินำเงินออมของตนออกมาใช้ก่อนได้ นอกจากนี้ หากสมาชิกมีความจำเป็นต้องลาออกจากกองทุนก่อนอายุ 60 ปี จะได้รับคืนเฉพาะเงินที่ได้ออมไว้โดยไม่รวมเงินสมทบ อย่างไรก็ดี สมาชิกจะกลับเข้ามาเป็นสมาชิกของกองทุนได้อีกตามความสมัครใจ และหากสมาชิกเสียชีวิต กองทุนจะจ่ายเงินให้แก่ผู้ที่สมาชิกได้แจ้งชื่อไว้หรือให้แก่ทายาทของสมาชิก สิทธิประโยชน์ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือรัฐบาลค้ำประกันผลตอบแทนให้สมาชิกได้รับจากเงินออมไม่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 12 เดือนโดยเฉลี่ยของธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับบำนาญจาก “กอช.” จะยังมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอีกด้วย “บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ฟินันซ่า จำกัด จัดทำระบบทะเบียน มีประสบการณ์ด้านงานทะเบียนมายาวนานกว่า 40 ปี ทั้งยังมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถบวกกับ เทคโนโลยีอันทันสมัย เรามีประสบการณ์ด้านระบบทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มากกว่า 20 ปี ทั้งนี้รูปแบบระบบทะเบียนสมาชิกกอช.จะทำงานอยู่บน Web Base Application ดังนั้นจึงสามารถใช้บริการต่าง ๆ รวมถึงทำธุรกรรมได้ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถรองรับการปฏิบัติงานของหน่วยรับสมัครซึ่งเบื้องต้นกำหนดให้เป็นธนาคาร 3 แห่ง คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารกรุงไทยซึ่งมีสาขารวมกัน ประมาณกว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศ ระบบงานหลักได้แก่การรับสมัครสมาชิก นำส่งเงินสะสม จ่ายเงินแก่สมาชิก และการให้บริการต่างๆ แก่สมาชิก เช่น ระบบ e-service สำหรับสมาชิก ทั้งหมดนี้นับเป็นการผสมผสานระหว่างการออมและการจัดการที่มีประสิทธิภาพอย่างเต็มรูปแบบ เพื่ออนาคตที่ดีและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีต่อสังคม” นายธีรพันธุ์กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ