ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคไทยฟื้นตัวสู่ขาขึ้นก่อนน้ำท่วม แต่คนไทยเริ่มไม่มั่นใจประเทศพ้นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำภายในหนึ่งปี

ข่าวทั่วไป Wednesday May 9, 2012 16:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--นีลเส็น ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 เพิ่มขึ้นเป็น 107 จุด จากเดิมที่ 104 จุด ในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 ส่งให้ไทยเป็นประเทศที่มั่นใจเป็นอันดันที่ 5 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าประเทศยังไม่รอดพ้นจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำภายในหนึ่งปีปัญหาเศรษฐกิจหนักใจคนไทยเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือความมั่นคงในอาชีพและภาระหนี้สินผู้บริโภคมีแนวโน้มจะจับจ่ายกับสิ่งไม่จำเป็นเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกับมื้ออาหารนอกบ้านและค่าบริการทางการสื่อสาร จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 ของบริษัทนีลเส็นพบว่า ประเทศไทยมีดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น 3 จุด เป็น 107 จุด ทำให้ประเทศไทยมีดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสูงเป็นอันดับ 5 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค อย่างไรก็ตามมีเพียงคนไทยจำนวนน้อยเชื่อว่า ประเทศจะผ่านพ้นสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำภายใน 12 เดือน ในการสำรวจครั้งล่าสุดพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นกลับมาอยู่ในช่วงขาขึ้นก่อนภาวะน้ำท่วม (ตาราง 1) โดยจำนวนผู้บริโภคที่เชื่อว่าธุรกิจในประเทศดำเนินไปได้ดีพุ่งขึ้นจากไตรมาสที่สี่ปีที่ผ่านมาถึง 60 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม มีคนไทยเพียง 3 ใน 10 คน (29%) เท่านั้นที่เชื่อว่าประเทศไทยจะรอดพ้นจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำภายใน 12 เดือน โดยอัตราความเชื่อมั่นดังกล่าว เมื่อเทียบกับความมั่นใจในไตรมาสที่ผ่านมา (50%) พบว่าตกลงจากเดิมถึง 42 เปอร์เซ็นต์ นายสุเรช รามาลินกัม กรรมการผู้จัดการบริษัทนีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวว่า “เหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาทำให้คนไทยที่แม้จะโดดเด่นเรื่องกำลังใจและความสามารถในการฟื้นตัวครั้งแล้วครั้งเล่า อาจเกิดความไม่มั่นใจในความแน่นอนของอนาคต อย่างไรก็ตามจากการสำรวจของเราพบว่า ผู้บริโภคไทยรู้สึกบวกกับภาพรวมด้านเศรษฐกิจและสภาวะด้านการเงินส่วนตนที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับสภาวะตกต่ำในไตรมาสที่สี่ที่ผ่านมาโดยมีการปรับการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น และแม้ว่าจำนวนของผู้บริโภคที่ไม่มั่นใจว่าประเทศจะพ้นสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไปได้ภายในหนึ่งปีจะเพิ่มมากขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าคนไทยเชื่อว่าสถานการณ์จะเลวร้าย หากแต่เริ่มมองเห็นภาพและเข้าใจผลกระทบระยะยาวของสถานการณ์ต่างๆ ที่มีต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจมากขึ้น” ปัญหาที่ผู้บริโภคไทยกังวล 3 อันดับแรกนำมาด้วย ปัญหาด้านเศรษฐกิจ (45%) ตามด้วย ความมั่นคงของอาชีพ (21%) และภาระหนี้สิน (18%) นอกจากนี้สิ่งที่น่าจับตามองคือ ประเทศไทยมีความกังวลเกี่ยวกับภาระหนี้สินสูงสุดเป็นอันดับที่ 3 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค โดยตามหลังเพียงมาเลเซียและนิวซีแลนด์เท่านั้น อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าผู้บริโภคไทยครึ่งหนึ่ง (50%) จะเชื่อว่าขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมสำหรับการจับจ่ายซื้อสิ่งของตามความต้องการ จำนวนผู้บริโภคที่ตัดสินใจหยุดเก็บเงินแล้วกลับมาใช้จ่ายในการท่องเที่ยวอีกครั้งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาถึง 22 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ จำนวนเงินที่แต่ละบ้านจัดสรรเพื่อสรรหาความสุขในแต่ละเดือนนอกเหนือสิ่งจำเป็นก็เพิ่มมากขึ้น โดยเพิ่มงบการรับประทานอาหารนอกบ้านและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบริการทางการสื่อสาร (ค่าโทรศัพท์ ค่าสมาชิกโทรทัศน์ ค่าอินเตอร์เน็ท) มากขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์และ 23 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สี่ตามลำดับ โดยประเทศไทยและอินเดียเป็นประเทศที่มีการจัดสรรค่าใช้จ่ายเพื่อบริการทางการสื่อสารมากที่สุดในภูมิภาค คนไทย 6 ใน 10 คนยังคงเลือกนำเงินที่เหลือจากการใช้จ่ายมาเก็บออมในธนาคาร ซึ่งเท่ากับอัตราในไตรมาสที่สี่ในปี 2554 3 ใน 10 คนพร้อมใช้เงินที่เหลือไปกับการท่องเที่ยว หรือ ใช้เพื่อปลดหนี้สิน และจำนวนคนไทยที่แจ้งว่าไม่มีเงินเก็บเหลือเลยลดลงจากเดิม 7% เป็น 6% ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา “จากผลการสำรวจของเราแสดงให้เห็นชัดว่าผู้บริโภคไทยกำลังเริ่มเพลามือกับภาวะรัดเข็มขัด และเริ่มใช้จ่ายตามความต้องการของตนเองมากขึ้นเล็กน้อยหลังจากทนอดออมอย่างหนักในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา เราเชื่อว่ากระแสการจับจ่ายใช้สอยกับการสื่อสารที่เพิ่มมากขึ้นจะยังคงดำเนินต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจผู้บริโภคยุคดิจิตอลของเราที่พบว่า ความต้องการในการซื้อสินค้ากลุ่มสื่อสารและเทคโนโลยีจะพุ่งขึ้นสูงตลอดปี 2555 ในเกือบทุกประเภทสินค้า โดย 41 เปอร์เซ็นต์ ของผู้บริโภคไทยวางแผนจะเลือกซื้อคอมพิวเตอร์แทบเล็ตอย่างน้อย 1 เครื่องภายในกลางปี 2555 และ 24เปอร์เซ็นต์ วางแผนจะติดตั้งบรอดแบรนด์อินเตอร์เน็ตที่บ้านเช่นกัน” สุเรชกล่าวเพิ่มเติม หากพิจารณาจากทั่วโลก เอเชียแปซิฟิคยังคงเป็นภูมิภาคที่มีดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสูงที่สุด (103 จุด) โดยมีอินเดียเป็นประเทศที่มั่นใจที่สุดอย่างต่อเนื่องตลอด 9 ไตรมาส โดยมีดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ที่ 123 จุด ตามมาด้วยซาอุดิอาราเบีย 119 จุด อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ 118 จุด ส่วนประเทศจีนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ที่ 110 จุด เพิ่มขึ้นจากเดิม 2 จุด นับว่าเป็นดัชนีที่สูงที่สุดตั้งแต่ปี 2548 ในทางกลับกันยุโรปเป็นภูมิภาคที่ความเชื่อมั่นต่ำที่สุดโดยเฉลี่ยที่ 72 จุด ประเทศที่มีดัชนีความเชื่อมั่นต่ำที่สุดคือ ฮังการี (32 จุด) ตามมาด้วยกรีซ (37 จุด) และโปรตุเกส (39 จุด)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ