ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเมษายน ฟื้นตัว 5 เดือนติด ยังห่วงปัญหาน้ำมัน วอนรัฐช่วยลดค่าครองชีพ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 17, 2012 14:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนเมษายน 2555 จำนวน 1,086 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 25.0, 49.4 และ 25.7 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังแบ่งออกเป็นอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 30.6, 22.8, 15.7, 16.7 และ 14.2 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 87.0 และ 13.0 ตามลำดับ ผลการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯในเดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 104.0 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 102.1 ในเดือนมีนาคม ค่าดัชนีที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เหนือระดับ 100 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 สะท้อนภาคการผลิตที่น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเดือนเมษายน ได้แก่ อุปสงค์ภายในประเทศที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ผลดีจากเทศกาลสงกรานต์ทำให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่ภาคการส่งออกยังส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการเช่นกัน เห็นได้จากค่าดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในต่างประเทศอยู่ในระดับเกิน 100 อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SME ยังให้น้ำหนักกับต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น จากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ใน 7 จังหวัด นำร่อง (กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, สมุทรปราการ, ปทุมธานี, สมุทรสาคร, และภูเก็ต) และปรับเพิ่มอีกร้อยละ 40 ของค่าจ้างเดิมในอีก 70 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตในช่วงที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 112.6 เพิ่มขึ้นจาก 109.5 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่อยู่ที่ 103.3 และ 113.3 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 101.8 และ 104.0 ในเดือนมีนาคม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดย่อมอยู่ที่ระดับ 95.7 ปรับลดลงจากระดับ 100.5 ในเดือนมีนาคม ด้านดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ของอุตสาหกรรมขนาดย่อมขนาดกลางและขนาดใหญ่ อยู่ที่ระดับ 108.5, 112.8 และ 116.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 100.9, 109.3 และ 116.8 ในเดือนมีนาคม ตามลำดับ อุตสาหกรรมขนาดย่อม ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 95.7 ลดลงจากระดับ 100.5 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บาง และวัสดุแผ่น อุตสาหกรรมยา ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 108.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 100.9 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 103.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 101.8 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ อุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 112.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 109.3 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 113.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 104.0 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมอลูมิเนียม ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 116.5 ทรงตัวโดยปรับตัวเล็กน้อยจากระดับ 116.8 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และปริมาณการผลิต ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค ประจำเดือนเมษายน พบว่า ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวลดลงจากเดือนมีนาคม ภาคกลาง มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 106.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 96.1 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ การผลิตภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ภายหลังอุทกภัยที่ผ่านมา ผู้ประกอบการได้สะท้อนความเชื่อมั่นผ่านยอดคำสั่งซื้อและยอดขายทั้งภายในประเทศและเพื่อการส่งออก โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับเกินกว่า 100 อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SME ยังมีความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น จากการปรับขึ้นค่าจ้าง 300บาท/วัน ตลอดจนการปรับเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน สำหรับอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง (ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องหนังและกระเป๋าหนัง มียอดการส่งออกไปประเทศอเมริกาและยุโรปเพิ่มมากขึ้น) อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม(จากการเพิ่มกำลังการผลิตชุดนักเรียน) อุตสาหกรรมพลาสติก(ยอดคำสั่งซื้อสินค้าประเภท ถุงพลาสติก หลอด บรรจุภัณฑ์ ในประเทศเพิ่มขึ้น) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 111.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 105.9 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 112.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 108.8 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ความเชื่อมั่นที่มีค่าเกิน 100 แสดงถึง ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี โดยเฉพาะ ภาคการส่งออก ที่ยอดคำสั่งซื้อและยอดขายจากต่างประเทศ ค่าดัชนีฯอยู่ในระดับเกิน 100 อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์(ยอดคำสั่งซื้ออุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้น จากการปรับปรุงซ่อมแซมรถยนต์เพิ่มขึ้น เพื่อใช้ในการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดต่อเนื่อง) อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม(ยอดขายน้ำมันในประเทศเพิ่มขึ้น จากการเดินทางในวันหยุดต่อเนื่อง) อุตสาหกรรมอาหาร(ยอดขายอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น จากวันหยุดต่อเนื่องรวมทั้งสภาพอากาศที่ร้อน) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 118.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 111.6 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯเดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 104.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 92.7 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ อาทิ ยางพารา ปาล์ม ยังส่งผลดีต่อรายได้เกษตรกร ซึ่งส่งผลต่ออุปสงค์ของสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมอาหาร ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลดีต่อค่าดัชนีฯ ในเดือนนี้ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ การขาดแคลนวัตถุดิบและราคาพลังงานที่ปรับตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อค่าดัชนีฯในส่วนของต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 สำหรับอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง(ยอดคำสั่งซื้อน้ำยางและผลิตภัณฑ์จากยางในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งราคายางที่เพิ่มสูงขึ้น)อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้(ผลิตภัณฑ์ประเภทไม้ยางพาราแปรรูปมียอดส่งออกไปประเทศจีนเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ(ยอดคำสั่งซื้อกระดาษชำระและกระดาษคราฟท์มียอดขายในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 118.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 103.7 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 98.1 ลดลงจากระดับ 105.8 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สถานการณ์ภัยแล้งที่ขยายวงกว้าง หลายพื้นที่ในภาคเหนือ ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร และอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำเป็นปัจจัยสำคัญ ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นจากค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้นอีก 40% ของค่าจ้างเดิมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา ตลอดจน ราคาพลังงานที่เป็นปัจจัยที่สำคัญของการผลิตในหลายอุตสาหกรรม ได้ปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกันดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อระดับความเชื่อมั่น ของผู้ประกอบการและมีค่าดัชนีฯต่ำกว่า 100 สำหรับอุตสาหกรรม ในภาคเหนือที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ(ต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะฝ้าย) หัตถอุตสาหกรรม(ยอดขายผลิตภัณฑ์ประเภทจักสาน ผ้าทอมือ ดอกไม้ประดิษฐ์และภาชนะเคลือบดินเผา ในประเทศลดลง) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.5 ปรับลดลงจากระดับ 111.7 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 98.7 ลดลงจากระดับ 110.6 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ภัยแล้งในหลายพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่งผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้เกษตรกร ขณะที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อ ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจาก ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 40 ของค่าจ้างเดิม ตลอดจน ราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งสะท้อนได้จากค่าดัชนีฯ ที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมน้ำตาล(ปริมาณอ้อยเข้าหีบลดลง) อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน(ผลิตภัณฑ์ประเภทหินอ่อน หินลาย มียอดขายในประเทศลดลง) อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร(เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงมีสินค้าคงคลังอยู่จำนวนมาก) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 113.5 ลดลงจากระดับ 116.8 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศปรับลดลงเล็กน้อย และค่าดัชนีฯกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯเดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 103.4 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 103.6 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และต้นทุนประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ(ต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะฝ้ายที่มีการปรับราคาขึ้น) อุตสาหกรรมรองเท้า(ยอดขายรองเท้าแฟชั่นและรองเท้าหนังในประเทศลดลง) อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น (อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์มีการชะลอกำลังการผลิต จากจำนวนสินค้าคงคลังที่มีมาก เช่น ไม้ปาร์ติก ไม้ปาร์เก้) อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (เนื่องจากวันหยุดต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณการผลิตลดลง และความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรมลดลง)ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 113.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 109.7 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ และกลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 107.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 93.0 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนี ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง(ยอดสั่งซื้อน้ำยาง ถุงมือยาง จากประเทศจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย อเมริกาเพิ่มขึ้น ทำให้ราคายางเพิ่มสูงขึ้น) อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง(ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องหนังและกระเป๋าหนังมียอดการส่งออกไปประเทศอเมริกาปละยุโรปเพิ่มมากขึ้น) อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์(ยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าและแผงวงจรพิมพ์ สายไฟ จากประเทศจีนและอเมริกาเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมอาหาร(ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารแปรรูป ผลไม้กระป๋อง มียอดการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นและอเมริกาเพิ่มขึ้น) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 109.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 108.3 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจาก ราคาน้ำมันมากที่สุด รองลงมา คือ อัตราแลกเปลี่ยน สภาวะเศรษฐกิจโลก สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นในเรื่องราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนเมษายนนี้ คือ 1.ส่งเสริมการบริโภคและการจำหน่ายในประเทศให้มากขึ้น ควบคู่กับการลดค่าครองชีพของประชาชน 2. การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ส่งผลให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ดังนั้น ภาครัฐควรมีมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว 3. ควรมีการวางแผนการศึกษาหรือการส่งเสริมการศึกษาให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน เพื่อช่วยลดการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม 4. สนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ 5. เร่งหามาตรการแก้ปัญหาภัยแล้ง และหามาตรการป้องกันภัยทางธรรมชาติที่ชัดเจน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ