เสือในพื้นที่อนุรักษ์ยังคงเสี่ยงต่อการถูกล่า

ข่าวทั่วไป Saturday May 19, 2012 12:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--WWF จากการประเมินเบื้องต้นโดยกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF พบว่า พื้นที่อนุรักษ์ 63 เขตในประเทศที่มีประชากรเสือ 7 ประเทศ มีเพียง 22 เขตเท่านั้น ที่มีการปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำที่สุดในการอนุรักษ์หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พื้นที่ที่จัดเป็นที่สำหรับปกป้องพันธุ์เสือ และสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สายพันธุ์อื่นๆ ไม่ได้รับการปกป้องอย่างที่ควรจะเป็น “การลักลอบล่าสัตว์เป็นภัยคุกคามปัจจุบันต่อเสือ และพื้นที่อนุรักษ์เหล่านี้ ก็เป็นแนวหน้าในการป้องกันการลักลอบล่าสัตว์” ไมค์ บัลท์เซอร์ หัวหน้า Tigers Alive Initiative ของ WWF กล่าว “หากการประเมินเบื้องต้นนี้ สะท้อนสถานการณ์ที่แท้จริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เท่ากับพื้นที่ที่กำหนดเป็นเขตอนุรักษ์ ไม่ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ได้เป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับเสือ หากไม่มีสถานที่ที่เสือจะปลอดภัยจากการถูกล่า ย่อมไม่มีหวังที่จะบรรลุเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนประชากรเสือเป็น 6,000 ตัว ภายในปี 2022” ในเดือนพฤศจิกายน 2010 “ที่ประชุมสุดยอดว่าด้วยเรื่องเสือ” ณ นครเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก ที่รัฐบาลรัสเซียและธนาคารโลกร่วมเป็นเจ้าภาพการประชุม รัฐบาลของชาติที่มีประชากรเสือ 13 ชาติ และพันธมิตร ต่างให้คำมั่นในการเพิ่มจำนวนเสือในธรรมชาติให้ได้เท่าตัว ภายในปี 2022 และในวันที่ 15-17 พฤษภาคม 2012 พวกเขาจะกลับมาประชุมอีกครั้ง เพื่อประเมินความก้าวหน้า และวางแผนการขั้นต่อไป การลักลอบล่าเสือ เพื่อเอาอวัยวะและทำผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องตามความต้องการของผู้บริโภค กลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ความพยายามของรัฐบาล ผู้บริจาคและพันธมิตรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บรรลุผลในปี 2022 ไม่คืบหน้า ดังนั้นการประชุมที่นิวเดลีครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับทั้ง 13 ประเทศ ในการเริ่มต้นและยกระดับความร่วมมือ เพื่อปรับปรุงพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญต่อเสือ และบังคับใช้มาตรการเฉพาะเพื่อยุติการลักลอบล่าเสือ การประเมินเบื้องต้นของ WWF มีความครอบคลุมพื้นที่ 84 เขต ในจำนวนนั้น 63 เขตได้รับการประกาศเป็นสถานที่อนุรักษ์ตามกฏหมาย ในประเทศ 7 จาก 12 ประเทศที่ WWF ทำงานเพื่อการอนุรักษ์เสือ โดยนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยและผู้จัดการที่ทำงานในพื้นที่ เป็นผู้ตัดสินว่าพื้นที่เหล่านี้มีความสำคัญต่อการเพิ่มจำนวนประชากรเสือ แต่ละสถานที่จะใช้ปัจจัยสำคัญ 3 ประการเพื่อการปกป้องเสือ ในการประเมินผล นั่นคือ จำนวนของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อนุรักษ์ การใช้เครื่องมือสำหรับสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่ และดูว่าอุทยานนั้นๆได้รับการปกป้องตามกฏหมายจริงหรือไม่ ข้อมูลสำหรับการประเมินค่านั้นเก็บรวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลที่มีการเผยแพร่ และผ่านการสำรวจของเจ้าหน้าที่ภาคสนามของ WWF และผู้จัดการแต่ละพื้นที่ แล้วแต่ว่าจะมีข้อมูลใดให้ใช้ได้ ผลจากการประเมินแสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ของ WWF ใน 41 เขตจาก 63 เขตอนุรักษ์ หรือคิดเป็นร้อยละ 65 รู้สึกว่ายังมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอในการทำงานเพื่อปกป้องเขตอนุรักษ์ และเพื่อยุติการล่าสัตว์ ยกตัวอย่าง อุทยานรอยัล เบลัม สเตท ในมาเลเซีย ซึ่งเป็นสถานที่ที่จำเป็นต่อการอยู่รอดของเสือมลายัน ที่นี่มีการบันทึกถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มลักลอบล่าสัตว์ด้วย และแม้อุทยานแห่งนี้จะครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 1,000 ตารางกิโลเมตร แต่กลับมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เพียง 17 นาย ในทางกลับกัน พื้นที่อนุรักษ์อย่างอุทยานแห่งชาติคาสิรังกา ในอินเดีย มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ถึง 800 คนดูแลพื้นที่ 860 ตารางกิโลเมตร และสามารถสกัดกั้นการลักลอบล่าสัตว์ได้ ที่ประเทศเนปาล เมื่อปี 2011 เพิ่งมีการเฉลิมฉลองการยุติการลักลอบล่าแรดไป ซึ่งความพยายามนี้สำเร็จได้เพราะการเพิ่มจุดตรวจทั่วเขตอนุรักษ์หลายแห่ง จาก 7 จุดเป็น 51 จุด การประเมินผลยังแสดงให้เห็นว่า มีเขตอนุรักษ์ที่มีการวิจัยเพียง 18 เขต หรือร้อยละ 29 ที่ใช้ระบบสังเกตการณ์ด้วยฐานคอมพิวเตอร์ ในการช่วยบริหารจัดการพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขณะที่ส่วนใหญ่ยังใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยมือ โดยวิธี MSTrIPES และ SMART จะเริ่มใช้งานในพื้นที่อนุรักษ์หลายแห่งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า “เห็นได้ชัดว่ามีพื้นที่ที่สำคัญต่อเสือหลายพื้นที่ ที่ต้องเพิ่มการลงทุนเพื่อการปกป้องและบังคับใช้กฏหมายอย่างเร่งด่วน” เครก บรูซ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบังคับใช้กฏหมายและการปกป้องเสือในธรรมชาติ กล่าว “รัฐบาลของชาติที่มีประชากรเสือ ต้องเพิ่มความรับผิดชอบและเพิ่มการลงทุนขึ้นอีกมากและเร่งด่วน เพื่อการรักษาสถานที่อนุรักษ์ พวกเขาต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าในพื้นที่จะมีทีมเจ้าหน้าที่อย่างเพียงพอ มีประสิทธิภาพและทุ่มเท เพื่อทำงานมุ่งสู่การยุติการลักลอบล่าสัตว์” WWF ระบุถึงมาตรการ 3 ข้อ ที่รัฐบาลของชาติที่มีประชากรเสือ สามารถทำได้ทันที เพื่อยกระดับการปฏิบัติการสู่การยุติการลักลอบล่าสัตว์ นั่นคือ ชี้ชัดและกำหนดกรอบพื้นที่สำคัญ ที่ต้องการการปกป้องจากกลุ่มผู้ลักลอบล่าสัตว์ และทำให้แน่ใจว่าพื้นที่นี้มีเจ้าหน้าที่รักษากฏหมายที่ได้รับการฝึกฝนอย่างดีเพียงพอที่จะเฝ้าสังเกตการณ์และปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้ระบบสังเกตการณ์ นอกจากนี้ WWF ยังได้เสนอว่า ตำรวจและกระบวนการยุติธรรมควรต้องบังคับใช้บทลงโทษที่เข้มงวดแก่บรรดาผู้ลักลอบล่าสัตว์ และควรเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ติดกับเขตอนุรักษ์พันธุ์เสือที่สำคัญๆด้วย งานอนุรักษ์เสือในประเทศไทย มุ่งเน้นที่ความร่วมมือจากชุมชนโดยรอบถิ่นอาศัยของเสือ โดยร่วมกับเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรีในการให้ความรู้ชาวบ้านในชุมชน ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น รวมทั้งบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนของนักเรียน ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเพิ่มประชากรเสือ และสัตว์ที่เป็นเหยื่อ เช่น เก้ง กวาง กระทิง และเพื่อให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ที่มีต่อการล่าเสือ และ สัตว์สายพันธุ์อื่นๆ ทั้งนี้ ผลการประเมินแนวทางอนุรักษ์เสือในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี พบว่า จำนวนการล่าสัตว์ลดลงทุกปีนับตั้งแต่ปี 2008 ถึงปี 2011 63% ซึ่งล้วนเป็นผลจากการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องในการสร้างความรู้ความเข้าใจกับชุมชน ปัจจุบันมีเสือในประเทศไทยเหลืออยู่ประมาณ 200 -300 ตัว หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ: บทคัดย่อสำหรับการประเมินเรื่อง เสือในธรรมชาติเสี่ยงต่อการถูกล่าในพื้นที่ที่สำคัญต่อการอยู่รอดของพวกมันอย่างไร และผลการประเมิน ดูได้ที่ http://awsassets.panda.org/downloads/wwf_tai_tiger_vulnerability_to_poaching_report_2012.pdf
แท็ก เสือ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ