ผุดโครงการพัฒนาศักยภาพครูพี่เลี้ยงแห่งประเทศไทย หวังเป็นต้นแบบพัฒนาครูคุณภาพในอนาคต

ข่าวทั่วไป Wednesday May 30, 2012 10:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--ปิโก คณะอาจารย์จับมือ ผุดโครงการพัฒนาศักยภาพครูพี่เลี้ยงแห่งประเทศไทย หวังเป็นต้นแบบพัฒนาครูคุณภาพในอนาคต “สาธิตประสานมิตร” โต้โผลุยประเดิมเป็นโรงเรียนแรก เผยครูพี่เลี้ยงทรงอิทธิพลต่อความคิดนิสิตศึกษาศาสตร์ หลังพบกว่า 90% ซึมซับความเป็นครูจากครูพี่เลี้ยง จากผลการศึกษาเรื่องทัศนคติของนักศึกษาครูต่อจิตวิญญาณความเป็นครู จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร พบว่ากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของนักศึกษาวิชาชีพครู จะมีทัศนคติต่ออาชีพครูผ่านพฤติกรรม และทัศนคติของครูพี่เลี้ยง จากผลวิจัยดังกล่าว ทีมคณะอาจารย์จากโรงเรียนสาธิต จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพครูพี่เลี้ยงแห่งประเทศไทยขึ้น หวังเป็นต้นแบบพัฒนาครูคุณภาพในอนาคต โดยมี “สาธิตประสานมิตร” เป็นโต้โผลุยประเดิมเป็นโรงเรียนแรก นางสุภาภักตร์ ปรมาธิกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตรฝ่ายมัธยม กล่าวถึงที่มาของโครงการพัฒนาศักยภาพครูพี่เลี้ยงแห่งประเทศไทย ว่า “โรงเรียนสาธิตมีความรับผิดชอบหลักในเรื่องของการฝึกหัดนิสิตนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ โดยในแต่ละปีจะมีปริมาณนิสิตนักศึกษาเข้ามาฝึกอบรมเป็นจำนวนมาก และจากการสำรวจความคิดเห็นของนิสิตนักศึกษาที่ผ่านการทดลองงานที่โรงเรียน พบว่า มากกว่า 90% จะมีพฤติกรรมและทัศนคติเช่นเดียวกับครูพี่เลี้ยงทั้งการสร้างและปลูกฝังทัศนคติ บุคลิก พฤติกรรม รวมถึงจริยธรรมความเป็นครู ดังนั้น ทางโรงเรียนจึงให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาครูพี่เลี้ยงมาโดยตลอด เพราะเราถือว่าครูพี่เลี้ยงคือแม่แบบของครูในอนาคต ดังนั้น การจัดทำ โครงการพัฒนาศักยภาพครูพี่เลี้ยงแห่งประเทศไทย จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ สำหรับการพัฒนาวิชาชีพครูของครูใหม่ทุกคน โดยเราได้เริ่มโครงการไปแล้ว และได้รับความร่วมมืออย่างดีจากคณะอาจารย์ทั้งของสถาบันและต่างสถาบัน โดยตัวแปรสำคัญที่ทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้เร็วอย่างมีประสิทธิภาพก็คือการได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากภาคเอกชน คือบริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ผู้สร้างสรรค์งานทางการศึกษาอย่าง EDUCA เป็นผู้สนับสนุนหลักในการจัดหาผู้เชี่ยวชาญและจัดให้เกิดการอบรมเรื่องครูพี่เลี้ยงอย่างเป็นรูปธรรม เราหวังว่าโครงการนี้จะขยายผลในวงกว้าง สามารถสร้างครูพี่เลี้ยงมืออาชีพให้เกิดขึ้นในโรงเรียนทั่วประเทศได้” ด้าน นายพูลศักดิ์ เทศนิยม อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตรฝ่ายมัธยม กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เป็นเรื่องที่คิดและอยากทำกันมานานแล้ว โดยได้พยายามค้นหาต้นแบบหรือรูปแบบที่ดี มาเพื่อพัฒนาปรับใช้กับครูของเรา และเมื่อเราได้มีโอกาสเดินทางร่วมกับทีมงานผู้จัดการประชุมการศึกษานานาชาติ (EDUCA) เพื่อไปศึกษาดูการเรียนการสอนของโรงเรียนสาธิตที่ประเทศฟินแลนด์ พบว่าแนวคิดระบบการเรียนการสอนแตกต่างจากบ้านเรา จากการเดินทางครั้งนี้ เราจึงสนใจที่จะให้มีการจัดการอบรมเรื่องนี้ขึ้นมา จึงได้ปรึกษากับทีม EDUCA เพื่อจัดโปรแกรมอมรมเรื่องครูพี่เลี้ยงขึ้น โดยทีมงาน EDUCA ได้ดำเนินการประสานงาน และเชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศฟินแลนด์ มาเป็นวิทยากรจัดฝึกอบรมเรื่องครูพี่เลี้ยง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยการอบรมครั้งนี้เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม ปี 2553 ก่อนงาน EDUCA เริ่มต้นขึ้น 1 สัปดาห์ หลังจากการอบรมในประเทศเสร็จ ก็มีการอบรมต่อเนื่องต่อที่ประเทศฟินแลนด์ เพื่อให้ได้เห็นตัวอย่างจริง เราได้ไปเยี่ยมชมการเรียนการสอนของโรงเรียนสาธิตฟินแลนด์ และศึกษาวิธีการฝึกอบรมครูพี่เลี้ยงอย่างลึกซึ้ง โดยครั้งนี้ ได้มีการเชิญคณะอาจารย์จากสถาบันต่างๆ ร่วมเดินทางไปด้วย สิ่งที่เราเห็นและประทับใจก็คือ ในห้องเรียนที่นั้น เวลามีนิสิตมาฝึกสอน จะมีครูประจำวิชา และมีครูพี่เลี้ยง นั่งอยู่ในห้องเรียนด้วย เพื่อสอนเด็กและฝึกหัดนักศึกษาครูในเวลาเดียวกัน ซึ่งตรงนี้ ทำให้เข้าใจถึงกระบวนการบ่มเพาะนิสิตและครูพี่เลี้ยงได้เป็นอย่างดี จากการเดินทางครั้งนี้ ทำให้พวกเราทุกคนมั่นใจและเห็นตรงกันถึงความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาครูพี่เลี้ยงของเรา ศ.ดร.อารี สัณหฉวี อดีตคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หนึ่งในคณะอาจารย์ผู้ร่วมเดินทางไปประเทศฟินแลนด์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ประสบการณ์ฝึกสอน หรือภาคปฏิบัติของนิสิตฝึกหัดครูที่ฟินแลนด์เข้มข้นมาก ถึงแม้ระยะเวลาฝึกแต่ละปีมีเวลาเพียง 4-6 สัปดาห์ แต่นิสิตต้องฝึกถึงสามครั้ง และจุดสำคัญคือ ครูพี่เลี้ยงจะระมัดระวังและตั้งใจมากที่จะให้นิสิตพัฒนาทักษะในวิชาชีพ และมีความมั่นใจในวิชาชีพ” นายพูลศักดิ์ เพิ่มเติมว่า ครูพี่เลี้ยงจะเป็นต้นแบบครูของนิสิตนักศึกษาครู นอกเหนือไปจากความรู้ในเชิงทฤษฎีที่นิสิตนักศึกษาได้จากการเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว ในเชิงปฏิบัตินั้น จำเป็นต้องผนวกจิตวิญญาณความเป็นครูเข้าไปด้วย ซึ่งนิสิตนักศึกษาจะเรียนรู้เรื่องนี้ได้จากการทดลองมาปฏิบัติงานจริงในห้องเรียน ซึ่งครูพี่เลี้ยงจะเป็นบุคคลสำคัญที่มีอิทธิพลในการพัฒนา สอน สร้าง ความเป็นครูให้แก่นิสิตนักศึกษา โดยครูพี่เลี้ยงจะถ่ายทอดรูปแบบการสอน รวมทั้งการสร้าง “บุคลิกครู” ให้แก่ว่าที่ครูในอนาคต ซึ่งบุคลิกดังกล่าวต้องประกอบด้วย ภูมิรู้ ภูมิธรรม และภูมิฐาน โดยสิ่งเหล่านี้ ครูพี่เลี้ยงต้องเป็นตัวอย่าง เป็นแบบอย่างที่ดี และต้องทำให้ดูได้ โดยครูที่มีบุคลิกความเป็นครูที่ดีนั้น ย่อมสามารถสร้างบรรยากาศห้องเรียนที่สนุก เด็กอยากเรียนรู้ รวมไปถึงครูคนนั้น ย่อมไม่ละทิ้งเด็กคนใดคนหนึ่งให้ตามไม่ทำ ครูที่ดีย่อมนำพาเด็กทุกคนให้ประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน อย่างไรก็ตาม นายพูลศักดิ์ ยอมรับว่า ปัจจุบัน ครูพี่เลี้ยงส่วนใหญ่ยังไม่ได้ทำหน้าที่ที่ควรทำเท่าที่ควร ซึ่งก็เนื่องมาจากยังไม่ค่อยมีใครเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ตนและสหายทางวิชาการจากหลายสถาบัน จึงได้จับมือกันเพื่อร่วมจัดตั้ง “โครงการพัฒนาศักยภาพครูพี่เลี้ยงแห่งประเทศไทย” ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการอบรมและสร้างครูพี่เลี้ยงคุณภาพให้เกิดขึ้นในโรงเรียน และคาดว่าในอนาคตโครงการดังกล่าวจะขยายผลไปทั่วประเทศ โดยทั้งหมดนี้ ต้องขอขอบคุณไปยัง บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) บริษัทเอกชนที่มีอุดมการณ์อยากพัฒนาเรื่องการศึกษาเหมือนพวกเรา ที่ได้ให้การสนับสนุนตั้งแต่เริ่มต้นคือค้นคว้าข้อมูล จัดหาและเชิญผู้เชี่ยวชาญมาจัดการอบรมให้แก่คณะอาจารย์ในเครือสาธิตและสถาบันอื่นๆ รวมถึงจัดการอบรม และสนับสนุนค่าใช้จ่ายของผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนจัดการเดินทางให้พวกเราได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานอย่างละเอียด จนตกผลึกและสามารถพัฒนาโครงการนี้ได้ ผมถือว่าโครงการพัฒนาศักยภาพครูพี่เลี้ยงแห่งประเทศไทยนี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งของความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาด้านการศึกษา ติดต่อ: 02-7487007 vipavee@picothai.com,praewpailin@picothai.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ