สคร 7 เตือน อำเภอตามชายแดน มาลาเรียระบาดหนัก

ข่าวทั่วไป Friday June 1, 2012 17:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2555 นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี(สคร 7 อุบล) เปิดเผยว่า ขณะนี้พื้นจังหวัดชายแดนในเขตรับผิดชอบของ สคร.7 เช่นอุบลราชธานี ศรีสะเกษ อยู่ในช่วงฤดูฝน มีฝนตกชุก ทำให้เริ่มมีการระบาดของโรคมาลาเรีย ซื่งมียุงก้นป่องเป็นพาหะ ยุงชนิดนี้วางไข่เพาะพันธุ์อยู่ตามลำธารในป่าเขา โดยจากข้อมูลจากกลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง สคร.7 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 ถึง 28 พฤษภาคม 2555 พบว่ามีผู้ป่วยในพื้นที่ 7 จังหวัดที่รับผิดชอบ จำนวน 558 ราย แต่ยังไม่พบว่ามีผู้เสียชีวิต จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรมากที่สุด ได้แก่ ศรีสะเกษ 17.35(ผู้ป่วย 252 ราย) รองลงมา อุบลราชธานี 14.54 (ผู้ป่วย 264 ราย) ยโสธร 5.01(ผู้ป่วย 27 ราย) มุกดาหาร 1.47(ผู้ป่วย 5 ราย) ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยไม่ถึง 1 ได้แก่ อำนาจเจริญ สกลนคร นครพนม นพ.ศรายุธ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอที่มีการระบาดมากที่สุดคืออำเภอภูสิงห์ มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรมากที่สุดคือ 176.98(ผป. 92 ราย) รองลงมาคือขุนหาญ 67.30(ผป. 71 ราย) และ กันทรลักษ์ 35.87 (ผป. 71 ราย) ส่วนจังหวัดอุบลราชธานี อำเภอที่มีการระบาดมากที่สุดคืออำเภอน้ำยืน มีอัตราป่วยต่อแสนประชากร 156.12(ผป.107 ราย) รองลงมาคือ อำเภอนาจะหลวย 103.07(ผป. 58 ราย) บุณฑริก 48.89(ผป. 44 ราย) และ อำเภอสิรินธร 21.45(ผป. 11 ราย) เป็นที่น่าสังเกตุว่าอำเภอที่มีการระบาดโรคมาลาเรียจะเป็นอำเภอที่อยู่ตามชายแดนระหว่างไทย กัมพูชา และลาว ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นภูเขา ป่าดงดิบ และเป็นพื้นที่ทำการเกษตรปลูกยางพารา นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ สำหรับอาการของโรคมาลาเรียนั้น นพ.ศรายุธ กล่าวว่าไข้มาลาเรีย เกิดจากเชื้อโปรโตซัว สกุล Plasmodium ที่พบมีทั้งหมด 4 ชนิด ได้แก่ ฟัลซิปารั่ม (P.falciparum) ไวแว็กซ์ (P.vivax) โอวาเล่ (P.ovale) และมาลาริอี (P.malariae) แต่ที่พบในไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 50 เป็นเชื้อฟัลซิปารั่ม รองลงมาเป็น ไวแว็กซ์ ส่วน โอวาเล่ พบน้อยมาก สำหรับสาเหตุของการติดต่อสู่คนโดยการถูกยุงก้นปล่องตัวเมียที่มีเชื้อมาลาเรียกัด ที่เรียกว่ายุงก้นปล่อง (Anopheles spp.) เพราะเวลาที่ยุงกัดคน มันจะเกาะโดยยกก้นขึ้นทำมุมกับผิวหนัง 45 องศา ยุงก้นปล่อง ที่เป็นพาหะหลักในการนำเชื้อมาลาเรียที่สำคัญ ในเมืองไทย อาการของไข้มาลาเรียจะปรากฏหลังได้รับเชื้อประมาณ 10-14 วัน โดยมีลักษณะเฉพาะของไข้ คือ มีไข้สูงและหนาวสั่น ชาวบ้านจึงมักเรียกว่าไข้จับสั่น การเป็นไข้จะขึ้นกับชนิดของเชื้อ โดยหากเป็นเชื้อฟัลซิปารั่ม จะจับไข้ทุก 36-48 ชั่วโมง ส่วนมากจับไข้ทุกวัน และอาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น มาลาเรียขึ้นสมอง น้ำตาลในเลือดต่ำ เหลืองซีด ปัสสาวะดำ ไตวาย ปอดบวมน้ำ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ส่วนเชื้อไวแว็กซ์ และโอวาเล่ จะจับไข้ทุก 48 ชั่วโมง หรือจับวันเว้นวัน และเชื้อมาลาริอี จับไข้ทุก 72 ชั่วโมง หรือวันเว้นสองวัน ทั้งนี้ การรักษาโรคมาลาเรียมีความแตกต่างกันในเชื้อแต่ละชนิด จึงต้องมีการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อก่อนให้ยาทุกครั้ง ดังนั้น ประชาชนจึงไม่ควรซื้อยารักษามาลาเรียกินเอง และเมื่อได้รับยารักษาโรคมาลาเรียไปแล้ว ต้องกินยาให้ครบ ห้ามหยุดยาก่อนเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยาได้ สำหรับการป้องกันตน นพ.ศรายุธ ย้ำว่าโรคนี้ถึงแม้ปัจจุบันจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ในกลุ่มผู้ป่วยซึ่งมีภูมิต้านทานต่ำจะเสียทำให้ร่างกายเกิดภาวะแทรกซ้อม เนื่องจากโรคนี้เชื้อโรคจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดแดง ไม่ว่าจะเป็นในตับหรือบางรายหากรุนแรงจะทำให้เชื้อโรคขึ้นสมอง ดังนั้นแนวทางการป้องกันประชาชนไม่ควรเข้าป่าและหลีกเลี่ยงการถูกยุงกัด ถ้ามีความจำเป็นจะต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีแหล่งระบาดของมาลาเรีย ควรป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด ดังนี้ สวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิด ควรใช้เสื้อผ้าสีอ่อนๆ ทายากันยุง นอนในมุ้ง (ถ้าใช้มุ้งชุบน้ำยา จะเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน) ถ้านอนในห้องที่มีมุ้งลวด ควรพ่นยากันยุงก่อน อย่างไรก็ตามในขณะนี้ ทางจังหวัดในพื้นที่ที่มีการระบาด ได้มีการดำเนินการควบคุมโรคโดยทีมอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ทั้งในระดับอำเภอ ตำบล ได้มีการลงพื้นที่ควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง ทางสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี ได้มีการประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั้ง 7 จังหวัดตลอดเวลา และเตรียมพร้อมที่จะลงไปช่วยหากทางจังหวัดร้องขอ ผอ.สคร.7 กล่าวในที่สุด
แท็ก มาลาเรีย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ