กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--กทม.
เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 48 เวลา 10.30 น. ที่ศูนย์บัญชาการกรุงเทพมหานคร นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการดำเนินมาตรการกวดขนควันดำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมี นพ.ปิตินันท์ ณัฐรุจิโรจน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้แทนกองบังคับการตำรวจจราจร กรมควบคุมมลพิษ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง และผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สืบเนื่องจากนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีนโยบายที่จะพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน และได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาสิ่งแวดล้อมว่า “กรุงเทพฯของเรา สะอาดสวย สิ่งแวดล้อมดี ผู้คนมีความสุข” กรุงเทพมหานครจึงมุ่งมั่นที่จะลดมลภาวะในกรุงเทพมหานครให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยเฉพาะมลภาวะทางอากาศ ทั้งนี้ได้ดำเนินโครงการถนนตัวอย่างด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม บนถนน 11 สายทั่วกรุงเทพฯ โดยเลือกถนนตัวอย่างจากเส้นทางถนนสายหลักที่มีการจราจรหนาแน่น และมีผลการตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM10) จากกรมควบคุมมลพิษเกินกว่าระดับมาตรฐาน คือสูงกว่า 120 ไมโครกรัม/ลบ.ม./วัน โดยฝุ่นละอองขนาดเล็กดังกล่าวเป็นสาเหตุของปัญหามลพิษทางอากาศที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร มีแหล่งกำเนิดจากเครื่องยนต์ดีเซล โดยเฉพาะรถโดยสารประจำทางร่วมบริการ รถ ขสมก. มินิบัส และ รถบรรทุกที่ขาดการบำรุงรักษาที่ดี ปล่อยควันดำเป็นปริมาณมาก
สำหรับการจัดประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครั้งนี้ เพื่อหามาตรการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนและไม่ส่งผลกระทบต่อปัญหาการจราจรในกทม. ซึ่งจากการร่วมหารือที่ประชุมได้เห็นชอบร่วมกันในการดำเนิน 2 แนวทาง ดังนี้ มาตรการเร่งด่วน คือ ขอความร่วมมือ กองบังคับการตำรวจจราจร ในการตรวจบริการรถโดยสารประจำทาง ทั้งในส่วนรถขสมก. ร่วมร่วมบริการ และรถตู้โดยสาร ณ อู่รถโดยสาร บริเวณท่าปล่อยรถโดยสาร และรถตู้โดยสาร โดยขอให้กรมควบคุมมลพิษกำหนดมาตรฐานการตรวจวัด เช่น น้ำหนักบรรทุก อุณหภูมิเครื่องยนต์ และการเร่งเครื่องยนต์ ในขณะทำการตรวจวัดควันดำ สำหรับมาตรการในระยะยาวนั้น ได้ขอความร่วมมือขสมก. เข้มงวดในการต่อใบอนุญาตรถร่วมประจำทาง โดยเฉพาะการตรวจวัดมาตรฐานไอเสียซึ่งได้กำหนดให้มีมาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐานยูโร1 รวมทั้งรณรงค์ให้ผู้ประกอบการรถร่วมปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นเครื่องยนต์ใช้ก๊าซ NGV และขอให้ ปตท. เร่งเพิ่มปริมาณสถานีบริการก๊าซ NGV เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้กองควบคุมและจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมรณงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหามลพิษทางอากาศและร่วมกันลดปัญหาดังกล่าว--จบ--