ILCT: ปัญหาลิขสิทธิ์เพลงในการเรียบเรียงเสียงประสาน

ข่าวทั่วไป Thursday June 24, 2004 11:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--กิลเบิร์ต รี้ด แอนด์ คอมปานี
โดย ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ
บริษัท กิลเบิร์ต รี้ด แอนด์ คอมปานี จำกัด
paiboon@gilbertereed.com
ในช่วงที่ผ่านมาหากท่านผู้อ่านติดตามข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ จะมีข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งเกี่ยวกับการฟ้องร้องเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ในการเรียบเรียงเสียงประสานเพลงของนักร้องลูกทุ่งหญิงชื่อดังของเมืองไทย โดยประเด็นที่เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์คือ การนำเพลงที่มีผู้เรียบเรียงเสียงประสานไว้แต่เดิมมาทำการเรียบเรียงใหม่ (Remix) ถือว่าผิดกฎหมายลิขสิทธิ์หรือไม่ ผมเห็นว่าหัวข้อนี้มีความน่าสนใจ จึงขอหยิบยกมาคุยกันในวันนี้
ในเบื้องต้นคงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า โดยปกติในเพลง 1 เพลงจะมีลิขสิทธิ์และสิทธิที่กฎหมายคุ้มครองอยู่ 5 ประเภทคือ
1. ลิขสิทธิ์ในเนื้อร้อง ผู้ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์คือ ผู้แต่งเนื้อร้องของเพลงแต่ละเพลง
2. ลิขสิทธิ์ในทำนองเพลง ผู้ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ทำนองเพลงคือ ผู้แต่งทำนองเพลง
3. ลิขสิทธิ์ในการเรียบเรียงเสียงประสาน ผู้ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์คือ ผู้เรียบเรียงเสียงประสาน
4. ลิขสิทธิ์ในงานบันทึกเสียง ผู้ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์คือ บริษัทค่ายเทปเพลงที่เป็นผู้บันทึกเสียงนักร้อง ทำนอง เนื้อร้อง และการเรียบเรียงเสียงประสานลงในเทปต้นฉบับ (Master Tape)
5. สิทธินักแสดงของนักร้อง ผู้ที่เป็นเจ้าของสิทธินักแสดงคือ นักร้องซึ่งเป็นผู้ร้องเพลงแต่ละเพลง
ดังนั้น ในเพลงหนึ่งเพลงที่บรรจุไว้ในเทปหรือแผ่นซีดีรอมจะมีลิขสิทธิ์หลายประเภทและสิทธินักแสดงรวมอยู่จึงมีเจ้าของลิขสิทธิ์หลายราย อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติบริษัทค่ายเทปเพลงส่วนใหญ่มักจะทำสัญญาโอนสิทธิและลิขสิทธิ์ทั้งหมดมาเป็นของค่ายเทปเพลงแต่เพียงผู้เดียว
ปัญหาที่เกิดขึ้นตามข่าวคือ เมื่อมีการนำเอาเพลงยอดนิยมในอดีตมาทำใหม่ หรือ Remix โดยเปลี่ยนตัวนักร้องและการเรียบเรียงเสียงประสานแบบใหม่ เช่น นำเพลง My heart will go on ของ Celine Dion ที่เป็นแนวป็อป (pop music) มาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่เป็นทำนองร็อค (rock) เพื่อขายแก่ประชาชน หรือใช้เป็นริงโทนในมือถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เรียบเรียงเสียงประสานเพลงหรือไม่ โดยปกติทั่วไปบริษัทที่ทำธุรกิจเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ก็มักจะขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์เฉพาะในส่วนของเนื้อร้องและทำนอง แต่ไม่สนใจการเรียบเรียงเสียงประสาน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวนั้น เพราะบางครั้งการเรียบเรียงเสียงประสานของดนตรีเก่าและใหม่จะเหมือนคล้ายกันอย่างมาก จึงเกิดคดีฟ้องร้องขึ้นเหมือนที่เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งเจ้าของผู้เรียบเรียงเสียงประสานก็จะใช้สิทธิดำเนินคดีกับบริษัทที่นำเอาเพลงดังกล่าวไปเรียบเรียงใหม่ ในความผิดฐานทำซ้ำดัดแปลงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานลิขสิทธิ์ของผู้อื่นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
แนวทางการวินิจฉัยคดีในต่างประเทศที่ทนายความหรือผู้พิพากษาที่พิจารณาเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ การเรียบเรียงเสียงประสานมักใช้ในการต่อสู้หรือพิจารณาคดี คือ การทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งการเรียบเรียงเสียงประสานเพลงนั้น เป็นการทำซ้ำหรือก็อบปี้การเรียบเรียงเพลงในส่วนที่เป็นสาระสำคัญหรือไม่ เพราะหากเป็นการทำซ้ำส่วนที่ในไม่ใช่สาระสำคัญหรือทำซ้ำในส่วนที่เป็นทำนองหลักทั่วไป ก็ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งศาลต่างประเทศจะวินิจฉัยโดยฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในการแต่งเพลง ไม่ได้ฟังจากตัวเนื้อเพลงหือทำนองเพียงอย่างเดียว เพราะเพลงแต่ละเพลงจะมีส่วนประกอบที่ละเอียดซับซ้อนจนหูของมนุษย์แยกแยะไม่ได้ กล่าวคือ เพลง 1 เพลงจะประกอบด้วย ทำนอง (melody) เสียงประสาน (harmony) และจังหวะ (rhythm) การนำทำนอง เสียงประสาน และจังหวะมารวมกันให้ความสั้นยาว ทุ้มหนักหรือเบา โดยผสมเสียง จัดเรียงตัวโน้ต หรือระดับเสียง จนน่าฟังนั่นแหละครับที่เรียกว่า "การเรียบเรียงเสียงประสาน" แนวปฏิบัติที่นักแต่งเพลงมักใช้กันในการดูว่า การเรียบเรียงเสียงประสานของเพลง 2 เพลงเหมือนคล้ายหรือไม่นั้น จะพิจารณาดูว่า การทำซ้ำการเรียบเรียงในเพลงแต่ละส่วนว่า มีการทำซ้ำเกิน 8 บาร์ ขึ้นไปหรือไม่ โดยดูประกอบกับการเรียบเรียงจำนวนโน้ตเพลงที่ซ้ำกันในแต่ละวรรคของบันไดเพลง หากจำนวนบาร์ซ้ำกันเกิน 8 บาร์ขึ้นไป และตัวโน้ต การเรียบเรียงซ้ำกันเกิน 5 ตัวโน้ต ก็อาจจะถือว่าเป็นการทำซ้ำหรือดัดแปลงซึ่งสาระสำคัญของลิขสิทธิ์การเรียบเรียงเสียงประสานได้ อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์ดังกล่าวก็อาจมีข้อยกเว้นในกรณีที่เป็นการเรียบเรียงเสียงประสาน คำร้องทำนองในเพลงซิมโฟนีออเครสต้า ซึ่งการทำซ้ำจำนวน 8 บาร์ หรือจำนวนตัวโน้ตที่มากกว่า 4 ตัวขึ้นไป ก็อาจไม่ถือว่าผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ เพราะเป็นการเล่นทำนองซ้ำไปซ้ำมาจึงต้องพิจารณาองค์ประกอบโดยรวม
ที่กล่าวมาทั้งหมดก็เพื่อเป็นแนวทางให้กับเจ้าของค่ายเทปเพลงหรือผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจดาว์นโหลดริงโทน และเรียบเรียงเสียงประสานของเพลงประเภทต่างๆ ไว้เป็นข้อมูลเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การหลีกเลี่ยงปัญหาข้อโต้แย้งในทางกฎหมายที่ดีที่สุดก็คือ ควรขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ทั้งหมดให้ถูกต้องก็น่าจะดีที่สุดครับ--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ