ศรีธัญญาวอนสังคมเปิดใจยอมรับผู้ผ่านการบำบัดกลับคืนสู่สังคม

ข่าวทั่วไป Thursday June 24, 2004 15:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--ไมนด์ทัช
ศรีธัญญาชี้คนไทยป่วยเป็นโรคจิตเวชกว่า 6 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 1 ของประชากร วอนสังคมเปิดใจยอมรับผู้ป่วยจิตเวชที่ผ่านการบำบัดได้อยู่ร่วมกันในสังคมและสามารถทำงานกับบุคคลอื่นได้อย่างปกติสุข พร้อมเปิดโครงการ "ด้วยรักและเข้าใจผู้ป่วยจิตเวช" สร้างความเข้าใจให้คนไทยรู้ว่าโรคจิตรักษาหายได้เป็นปกติ
นายวชิระ เพ็งจันทร์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลศรีธัญญา เปิดเผยว่า โรงพยาบาลศรีธัญญา ได้จัดโครงการ "ด้วยรักและเข้าใจผู้ป่วยจิตเวช" (Destigmatization Program) ขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้ผู้ป่วยจิตเวชที่ผ่านการบำบัดและมีศักยภาพได้ร่วมกันรณรงค์ให้สังคมเข้าใจและให้โอกาสแก่ผู้ป่วยจิตเวชได้อยู่ร่วมกันในสังคมและสามารถทำงานกับบุคคลอื่นได้อย่างปกติสุข
"ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยจิตเวชที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันคือ ความเชื่อที่ฝังรากลึกมานานว่าโรคจิตเวชเป็นเสมือนโรคร้ายที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ จนเกิดเป็น "ตราบาป" หรือ "โซ่ตรวน" กับผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ถูกกีดกัน และไม่สามารถดำเนินชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมได้ เนื่องจากขาดความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง ทั้งที่โรคจิตเวชก็เป็นเพียงโรคชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน และสามารถรักษาให้หายได้เช่นเดียวกับโรคทางกายทั่วไป" นายวชิระ กล่าว
ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรคจิตเวชมีหลายทางคือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัวและเพื่อน และสุดท้ายจึงโยงใยมาสู่ผลกระทบต่อสังคม ที่มีทัศนคติต่อผู้ป่วยโรคจิตเวชไปในทางที่ไม่ถูกต้องและมองความเจ็บป่วยทางจิตด้วยความเชื่อผิด ๆ ที่ว่าเป็น "คนบ้า" พร้อมกับการตัดกลุ่มคนเหล่านี้ออกจากสังคม ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชขาดความมั่นใจ ไม่กล้าสมาคมกับผู้อื่น และรู้สึกตนเองแปลกแยกจากสังคม
จากสถิติพบว่า คนไทยทุก 100 คน ป่วยเป็นโรคจิตเวช 1 คน คิดเป็นอัตราร้อยละ 1 ของคนไทยทั้งประเทศ หรือคิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 6 แสนคน ทั้งนี้ โรงพยาบาลศรีธัญญาเล็งเห็นความสำคัญถึงปัญหานี้ จึงได้จัดโครงการ "ด้วยรักและเข้าใจผู้ป่วยจิตเวช" ขึ้น เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคจิตเวช และเป็นการป้องกันและยับยั้งไม่ให้โรคจิตเวชเพิ่มสูงขึ้น
การรณรงค์ในเรื่องนี้จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้มีความรู้และความเข้าใจต่อโรคจิตเวชและสามารถปฏิบัติตัวกับผู้ป่วยจิตเวชได้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้ป่วยเองที่จะได้รับกำลังใจและแรงสนับสนุนในการเข้ารับการวินิจฉัยโรคและเข้ารับการรักษาจากแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งจะส่งผลให้ฟื้นจากอาการป่วยได้ง่ายขึ้น รวมถึงครอบครัวและเพื่อนที่จะปฏิบัติตัว คอยดูแล และให้การช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยจิตเวชได้ถูกต้อง รวมถึงชุมชนในสังคมเองที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนผู้ป่วยจิตเวชได้ดีที่สุดในการยอมรับกลุ่มคนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในสังคมที่จะสามารถดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพร่วมกับคนในสังคมได้อย่างปกติสุขโดยไม่รังเกียจ
ผลจากความสำเร็จของการรณรงค์โครงการด้วยรักและเข้าใจผู้ป่วยจิตเวชในปีที่ผ่านมา ทำให้กรมสุขภาพจิตเล็งเห็นความสำคัญและได้นำเสนอเป็นนโยบายเพื่อปลูกจิตสำนึกและกระตุ้นให้ผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมกันช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยสนับสนุนงบประมาณทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นโครงการวิจัยเรื่องการลดตราบาปให้แก่ผู้ป่วยจิตเวชของโรงพยาบาลศรีธัญญา รวมถึงการประสานงานกับโรงพยาบาลทั้ง 17 แห่งทั่วประเทศเพื่อสร้างเครือข่ายและประสานความร่วมมือในการกระตุ้นและสร้างจิตสำนึกให้สังคมเกิดการรับรู้และยอมรับผู้ป่วยจิตเวชในระยะยาวต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณสุนีรัตน์ เงินพูลทรัพย์
คุณสิริลักษณ์ เตชนรเศรษฐ์กุล
ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
โทร. 01-614-0923 หรือ 01-330-0462--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ