สพพ.๔ สร้างเครือข่ายชุมชนต้นแบบการท่องเที่ยว “เส้นทางพระร่วง”

ข่าวท่องเที่ยว Thursday June 21, 2012 13:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--อพท. เมื่อวันที่วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๕ เวลา ๑๗.๐๐ น. นายอาชวิน สุขสว่าง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแผนและประสานงาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร (สพพ.๔) และเจ้าหน้าที่งานประชาสัมพันธ์ อพท. เข้าร่วม การประชุมคณะกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย ในการประชุมครั้งนี้ได้นำประสบการณ์การดูงานท่องเที่ยวชุมชนที่จังหวัดเชียงใหม่เมือวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๕ มานำเสนอที่ประชุมให้รับทราบและรายงานผลการดูงานดังกล่าวได้ส่งผลให้ ๓ ชุมชนต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชนพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร คือ ชุมชนเมืองเก่า บ้านคุกพัฒนา และนครชุม มีแนวคิดที่จะสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนร่วมกันตาม “เส้นทางพระร่วง” นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ให้ ผู้แทนตลาดโบราณวัดตระพังทอง แจ้งถึงผลประกอบการตามที่ได้รวมตัวและร่วมมือกันปรับปรุงรูปแบบของตลาด ทั้งตัวผลิตภัณฑ์และการแต่งกายให้สอดคล้องใกล้เคียงกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในชุมชนให้มากขึ้น สำหรับรายได้จากการจัดตลาดโบราณในช่วงที่ผ่านมามีผลกำไรพอประมาณ นายสรวิชญ์ แสงงาม เจ้าหน้าที่ สพพ. ๔ ได้แจ้งที่ประชุมถึงผลการประเมินคัดเลือกชุมชนนำร่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน ว่าทั้ง ๓ ชุมชนที่ สพพ. ๔ เสนอนั้นได้รับการพิจารณาเป็นชุมชนนำร่องทั้งหมด พร้อมกับแจ้งกำหนดการดำเนินงาน ซึ่งในลำดับแรกเป็นการจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน โดยเน้นย้ำให้ชุมชนสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์ ขอให้มีการประชุมอย่างต่อเนื่องให้ได้แนวทางที่ชุมชนเป็นผู้เลือกเอง เจ้าหน้าที่งานประชาสัมพันธ์ อพท. ได้ชี้แจงกิจกรรมนิเวศศิลป์บนแผ่นดิน Land Art หุ่น ไล่กาจัดเรียงเป็นลายพระพักตร์พระยุคสุโขทัยบนนาข้าว เพื่อเชิญชวนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมทำหุ่นไล่กาจำนวน ๑,๐๐๐ ตัว ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการจัดทำหุ่นไล่กาแล้วเสร็จ ซึ่งชาวบ้านมีความพร้อมที่จะร่วมมือกับ อพท. และหน่วยงานท้องถิ่นในการร่วมกันปักหุ่นไล่กาลงบนผืนนา ที่จะจัดขึ้นในวันที่ ๓๐ มิถุนายนนี้ ณ แยกแจกัน ถนนเลี่ยงเมือง สุโขทัย-ตาก ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งถือเป็นการปักหุ่นไล่กาลงบนผืนนาเพื่อรังสรรค์งานศิลปะที่สื่อถึงความสุขของผู้คนในยุคสมัยสุโขทัยที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ