สสวท.- ม.วลัยลักษณ์ วิจัยโปรแกรมใหม่ สร้างภาพจำลอง 3 มิติของอะตอมและโมเลกุล

ข่าวทั่วไป Wednesday June 30, 2004 15:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--สสวท.
สสวท. -ม.วลัยลักษณ์ สร้างโปรแกรมแบบภาพจำลอง 3 มิติของอะตอมหลายรูปแบบที่มีอยู่ในตารางธาตุ ไปจนถึงโครงสร้างระดับโมเลกุลของสารต่าง ๆ เพื่อปูพื้นฐานนักเรียนชั้นประถมศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตร์รากฐานที่มุ่งเน้นให้นักเรียนตระหนักและเข้าใจในธรรมชาติเข้าใจสิ่งแวดล้อมที่มีความสัมพันธ์ต่อชีวิตเรา รู้เท่าทันที่มาของปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว และมีการวิเคราะห์กลั่นกรองอย่างดีตั้งแต่เยาว์วัย ทั้งนี้แบบจำลองสามมิติทั้งสองโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นนั้นสามารถอธิบายเรื่องอะตอมและโมเลกุลให้เข้าใจง่ายสำหรับนักเรียนชั้นประถมต้น
นายวิโรจน์ ตันตราภรณ์ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) แจ้งว่า โครงการจัดทำหลักสูตรวิทยาศาสตร์รากฐานของ สสวท. ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จัดทำสื่อประกอบการสอนชุดภาพจำลอง 3 มิติของอะตอมและโมเลกุล โดยมี ดร.เกตุศิริ เกื้อเส้ง เป็นหัวหน้าทีมวิจัย ซึ่งทีมวิจัยดังกล่าวมีความคิดเห็นสอดคล้องกับ สสวท. ว่าประเทศไทยควรปฎิวัติการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ โดยการปูพื้นฐานด้วยวิทยาศาสตร์รากฐานตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา โดยใช้ระยะเวลาการวิจัยพัฒนาโปรแกรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโปรแกรมที่ได้พัฒนาขึ้นและจะนำไปใช้สอนนักเรียนระดับประถมศึกษามี 2 โปรแกรม Orbital for kids ซึ่งใช้เทคนิด Ray tracing และโปรแกรม Orbitaleye ซึ่งเขียนด้วยภาษา C ทั้งสองโปรแกรมนี้ได้แสดงแบบจำลองอะตอนไปแล้ว 18 ชนิด ตั้งแต่ H ถึง Ar และโมเลกุลของ BH3 CH4 H2O และเป็นโปรแกรมที่ใช้งานง่าย เมื่อต้องการศึกษาอะตอมใดก็คลิกเลือกที่อะตอมนั้น ภาพที่ปรากฎมีลักษณะเป็นสามมิติ สามารถใช้เม้าส์คลิกแล้วหมุนซ้ายขวา หรือพลิกได้ตามต้องการ นอกจากนนี้ยังใช้เทคนิคพิเศษใส่แสงที่มีสีลงในอะตอมด้วย เพื่อสร้างความสวยงามและเพิ่มความเข้าใจ
"หลักสูตรวิทยาศาสตร์รากฐาน" หลักสูตรใหม่ที่พัฒนาขึ้น โดย สสวท. เพื่อเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนตั้งแต่ประถม 1 จนจบมัธยมศึกษา ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการนำร่องทดลองใช้ เริ่มจากการพัฒนาหลักสูตรตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบันสามารถนำหน่วยการเรียนบางหน่วยไปสอนในโรงเรียนได้แล้วคือหน่วยการเรียนเรื่องมิติสัมพันธ์ สภาวะควอนตัม และแรงสู่ศูนย์กลาง โดยจะเริ่มสอนให้นักเรียนตระหนักว่าธรรมชาติมีข้อจำกัด และความหลากหลายที่มีอยู่นั้นก็มีขอบเขต มีรูปแบบชัดเจนเป็นกลุ่ม ซึ่งจะเห็นวิทยาศาสตร์เข้าใจง่าย ถึงไม่ต้องเรียนมากมายก็สามารถเข้าใจสรรพสิ่งในธรรมชาติได้ และที่สำคัญคือหลักสูตรจำเป็นต้องสอนต่อเนื่องตามลำดับชั้นเรียนในแต่ละปี เพราะความรู้ที่สะสมจากปีก่อนจะเป็นพื้นฐานของการเรียนการสอนในชั้นเรียนปีต่อไป
สนใจข้อมูบเพิ่มเติม คลิกไปที่ www.ipst.ac.th/psd
หรือโทรศัพท์สอบถามที่โครงการวิทยาศาสตร์รากฐาน โทร. 0-2392-4021 ต่อ 1227--จบ--
--อินโฟเควสท์ (พห)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ