เพิ่มผลผลิตอ้อยรับอาเซียน

ข่าวทั่วไป Tuesday June 26, 2012 15:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม เกษตรจังหวัดมหาสารคาม ชี้ การรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เป็นผลดีกับการส่งออกน้ำตาลของไทย แต่เกษตรกรต้องมีการพัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ การเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ และการเพิ่มค่าความหวานของอ้อย เพื่อจะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของน้ำตาลไทยให้สูงขึ้น ว่าที่ ร.ต.จักรภัทร ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดมหาสารคาม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอ้อยระดับท้องถิ่น เขต 25 จังหวัดมหาสารคาม กล่าวกับชาวไร่อ้อยที่ อบต.เขวาไร่ อำเภอโกสุมพิสัยว่า การรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 จะเป็นผลดีกับอุตสาหกรรมน้ำตาลของไทย เนื่องจากที่ผ่านมา การส่งออกน้ำตาลไปยังตลาดอาเซียนจะเผชิญกับอัตราภาษีอากรขาเข้าน้ำตาลที่สูง อาทิ ฟิลิปปินส์ที่น้ำตาลเป็นสินค้าอ่อนไหวสูงมีอัตราภาษีนำเข้าน้ำตาลร้อยละ 38 และจะปรับลดลงเป็นร้อยละ 5 ในปี 2558 ส่วนอินโดนีเซียนั้น จัดให้น้ำตาลเป็นสินค้าอ่อนไหวสูงเช่นกัน โดยมีอัตราภาษีร้อยละ 30-40 และจะลดลงเหลือร้อยละ 5-10 ในปี2558 และสปป.ลาว ปัจจุบันอัตราภาษีนำเข้าน้ำตาล อยู่ที่ร้อยละ 5 และจะลดลงเป็นร้อยละ 0 ในปี 2558 ที่ผ่านมา ประเทศในกลุ่มอาเซียนยกเว้นไทย ส่วนใหญ่จะผลิตน้ำตาลได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้า ส่วนไทยนั้น นอกจากจะสามารถผลิตน้ำตาลเพื่อบริโภคในประเทศ ยังมีน้ำตาลเหลือเพื่อการส่งออกถึงกว่าร้อยละ 70 ของปริมาณผลิตทั้งหมด และในจำนวนนั้นกว่าร้อยละ 40 เป็นการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน โดยตลาดส่งออกหลักของไทย ก็คือ อินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำตาลจากไทยรายใหญ่ที่สุด (สัดส่วนกว่า 1 ล้านตัน/ปี) อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย ก็ยังคงต้องมีการพัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ การเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ และการเพิ่มค่าความหวานของอ้อย เพื่อจะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของน้ำตาลไทยให้สูงขึ้น ทั้งนี้ เพราะผลจาก AEC จะจูงใจและสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มปริมาณผลผลิตอ้อยและน้ำตาลของประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ อาทิ ลาว กัมพูชา และพม่า โดยอาศัยศักยภาพด้านการมีพื้นที่และแรงงานราคาถูกที่ใช้เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวอ้อยเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะทำให้ในระยะถัดไปประเทศเหล่านี้ มีน้ำตาลเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ รวมทั้งมีส่วนเหลือเพื่อการส่งออก จนแข่งขันกับน้ำตาลของไทยในตลาดอาเซียนและตลาดอื่นๆได้ เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวต่อไปว่า เกษตรกรที่สนใจการปลูกอ้อยหรือมีปัญหาการปลูกอ้อยติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน หรือขอคำปรึกษาและแก้ปัญหาการเกษตร โดยตรงกับเกษตรจังหวัดมหาสารคาม โทรศัพท์หมายเลข ๐๘๑-๗๙๐๕๒๕๖ และหมายเลข ๐๘๘-๕๔๙๗๙๔๔

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ