ไทยอาจเสียสิทธิ GSP ตามระบบใหม่ของ EU … แต่ประเด็นเฉพาะหน้า ยังต้องจับตาวิกฤตยูโรโซนและประเทศคู่แข่งขัน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 3, 2012 17:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สหภาพยุโรป หรือ EU (European Union) ได้ประกาศปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การให้สิทธิพิเศษทางการค้าภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences: GSP) โดยระบบ GSP ใหม่นี้ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา EU เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 สาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การให้ GSP ของ EU นั้น จะยกเลิกการให้ GSP แก่ประเทศที่มีรายได้ตั้งแต่ระดับปานกลางค่อนข้างสูงขึ้นไป (Upper-Middle Income) และจะมุ่งให้สิทธิพิเศษเพื่อสนับสนุนประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ซึ่งหากใช้ระบบ GSP ใหม่ จะทำให้ประเทศที่ได้รับสิทธิลดลงจาก 176 ประเทศ เหลือ 75-80 ประเทศ และทำให้มูลค่าการนำเข้าของ EU ภายใต้ระบบ GSP ใหม่ จะลดลงเหลือเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าภายใต้ระบบ GSP เดิม สำหรับประเทศไทย ซึ่งถือเป็นประเทศที่ใช้สิทธิ GSP ของ EU มากเป็นอันดับ 3 รองจากอินเดียและบังคลาเทศนั้น เข้าข่ายประเทศที่จะถูกยกเลิกสิทธิ GSP เช่นกัน เนื่องจากปัจจุบัน ไทยได้รับการจัดกลุ่มโดยธนาคารโลกให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา (จากเดิมอยู่ในกลุ่ม Lower-Middle Income) ซึ่งจะมีผลให้ไทยจะต้องกลับมาเสียภาษีในอัตราปกติ (Most-Favored Nation: MFN) ภายใต้ระบบ GSP ใหม่ ทั้งนี้ โดยปกติแล้วการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์จะมีระยะเวลาให้ปรับตัวประมาณ 1 ปี ซึ่งหมายความว่าการสูญเสียสิทธิ GSP จาก EU ของไทยอาจมีผลอย่างแท้จริงประมาณเดือนมกราคม 2558 อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะจากนี้ไปจนถึงปี 2558 สินค้าจำนวนหนึ่งอาจสูญเสียสิทธิ GSP ไปก่อน เนื่องจากอาจมีสัดส่วนการส่งออกภายใต้ GSP ของ EU เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดตามเงื่อนไข Product Graduation โดยสินค้าที่มีโอกาสเข้าข่าย คาดว่าเป็นสินค้าบางรายการในกลุ่มอาหารแปรรูป ผลไม้ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์ไฟฟ้า ยานยนต์ และยางยานพาหนะ (Graduation Criteria ตามระบบ GSP ใหม่ กำหนดให้ประเทศที่มีสัดส่วนตลาดเกินกว่าร้อยละ17.5 ของมูลค่าการนำเข้ารวมของสินค้าหนึ่งภายใต้สิทธิ GSP จะถูกยกเลิกสิทธิ GSP ของสินค้านั้นๆ ยกเว้นสินค้าหมวดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มกำหนดสัดส่วนตลาดอยู่ที่ร้อยละ14.5) ผลกระทบต่อไทย สำหรับสินค้าที่จะได้รับผลกระทบในกรณีที่ไทยต้องสูญเสียสิทธิ GSP ของ EU นั้น คาดว่าจะครอบคลุมรายการสินค้าประมาณร้อยละ 39 ของสินค้าที่ไทยส่งออกไปยัง EU ทั้งหมด หากพิจารณาจากข้อมูลในปี 2554 ซึ่งไทยส่งออกสินค้าไปยัง EU รวมทั้งสิ้น 24,156.7 ล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่มีการส่งออกภายใต้สิทธิพิเศษ GSP มูลค่า 9,321.26 ล้านดอลลาร์ฯ โดยภาพรวมแล้วการสูญเสียสิทธิ GSP จะมีผลให้สินค้าไทยที่ส่งออกไป EU โดยเฉลี่ยมีราคาสูงขึ้นประมาณร้อยละ 2 ทั้งนี้ ผลกระทบอาจจำแนกตามระดับความรุนแรงได้ดังนี้ -สินค้าที่คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากอัตราภาษีเป็น 0% อยู่แล้ว หรืออัตราภาษีปกติ(MFN) และ GSP ไม่แตกต่างกันมากนัก เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า ยางพารา ไก่แปรรูป เฟอร์นิเจอร์ ขณะที่สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ปัจจุบันไทยไม่ได้รับสิทธิ GSP อยู่แล้ว (สัดส่วนประมาณร้อยละ 38 ของการส่งออกรวมไปยัง EU) -สินค้าที่ได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง กล่าวคือ ราคาสินค้าตามอัตราภาษีใหม่จะสูงขึ้นประมาณร้อยละ 2-5 อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์หนัง เลนซ์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปที่ทำจากปลา เป็นต้น (สัดส่วนประมาณร้อยละ 56 ของการส่งออกรวมไปยัง EU) -สินค้าที่ได้รับผลกระทบมาก เป็นสินค้าที่มีส่วนต่างระหว่างอัตราภาษีปกติกับอัตราภาษี GSP สูง เช่น สับปะรดกระป๋อง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และกุ้งแปรรูป เป็นต้น (สัดส่วนประมาณร้อยละ 6 ของการส่งออกรวมไปยัง EU) สถานะสิทธิ GSP ของไทย เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มสถานะการได้รับสิทธิ GSP จาก EU ภายใต้ระบบ GSP ใหม่ของประเทศในอาเซียน อาจจำแนกประเทศออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ประเทศที่คาดว่าจะไม่ได้รับสิทธิ GSP โดยปัจจุบันสิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน อยู่ในสถานะที่ไม่ได้รับสิทธิ GSP ส่วนไทยอาจจะไม่ได้รับสิทธิ GSP ภายใต้หลักเกณฑ์ใหม่ประเทศที่ยังคงได้รับสิทธิพิเศษ GSP เป็นการทั่วไป (General Arrangement) คือ อินโดนีเซียและเวียดนามประเทศที่อาจได้รับสิทธิพิเศษ GSP Plus คือ ฟิลิปปินส์ โดยกรอบ GSP Plus จะให้สิทธิพิเศษมากกว่า GSP ทั่วไป ซึ่งฟิลิปปินส์สามารถยื่นขอรับสิทธินี้เนื่องจากเป็นประเทศที่ยังมีสัดส่วนในการใช้ GSP ของ EU น้อยอยู่ (ไม่เกินร้อยละ 2 ของมูลค่าการนำเข้าของ EU ภายใต้ GSP จากทุกประเทศ)ประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษสำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries: LDCs) ได้แก่ ลาวและกัมพูชา ซึ่งประเทศกลุ่มนี้จะได้รับยกเว้นภาษีศุลกากรในทุกรายการสินค้า ยกเว้นอาวุธ (Everything but Arms: EBA) แต่สำหรับพม่านั้น ปัจจุบันยังไม่ได้รับสิทธิ GSP จาก EU โดยสรุป จากการที่สหภาพยุโรป หรือ EU ประกาศปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การให้สิทธิพิเศษ GSP ใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 และไทยเข้าข่ายประเทศที่อาจสูญเสียสิทธิ GSP ตามหลักเกณฑ์ใหม่นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า โดยภาพรวม สินค้าไทยที่ส่งออกไป EU โดยเฉลี่ยแล้วอาจมีราคาสูงขึ้นประมาณร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับราคาที่ส่งออกภายใต้ระบบ GSP เดิม ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าแม้ภายใต้ระบบ GSP ใหม่ สินค้าไทยส่วนใหญ่จะมีราคาในตลาด EU สูงขึ้นจากเดิมไม่เกินร้อยละ 5 อย่างไรก็ตาม สินค้าหลายรายการในจำนวนนั้นเป็นสินค้าที่ไทยประสบปัญหาการแข่งขันด้านราคาอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาแรงงานเข้มข้นในกระบวนการผลิต ท่ามกลางภาวะที่ค่าจ้างแรงงานของไทยปรับตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปีนี้ และจะปรับขึ้นอีกในปี 2556 ขณะที่คู่แข่งของไทยส่วนใหญ่ยังคงได้รับสิทธิ GSP ในตลาด EU ดังนั้น ส่วนต่างราคากับประเทศคู่แข่งที่จะยิ่งกว้างขึ้นนี้จึงมีนัยไม่น้อยต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าหลายประเภท แนวทางในการรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ในส่วนของภาครัฐ อาจต้องสานต่อการเจรจากรอบความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (Thailand-EU Free Trade Agreement: FTA) ซึ่งหากไทยและ EU สามารถลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกันได้ก่อนที่ระบบ GSP ใหม่จะมีผลอย่างเป็นทางการ ก็จะช่วยให้ธุรกิจไทยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรภายใต้ FTA สำหรับการปรับตัวในภาคเอกชนนั้น นอกจากการปรับกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน การยกระดับคุณภาพมาตรฐานและสร้างความแตกต่างให้แก่ผลิตภัณฑ์เพื่อหลีกหนีการแข่งขันด้านราคาซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ดำเนินการอยู่แล้ว แนวทางจากนี้ อาจต้องพิจารณาถึงโอกาสในการออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีการออกไปลงทุนตั้งฐานการผลิต หรือออกไปซื้อกิจการในประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าบ้างแล้ว สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมก็อาจมีโอกาสที่จะลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ซึ่งประเทศที่ยังคงได้รับสิทธิ GSP ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ขณะที่ลาวและกัมพูชาจะได้รับสิทธิสิทธิพิเศษสำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) ซึ่งสามารถส่งออกสินค้าทุกรายการยกเว้นอาวุธ ไปยัง EU โดยไม่เสียภาษีศุลกากร ทั้งนี้ กว่าที่หลักเกณฑ์ใหม่ของ EU จะมีผลบังคับใช้จริง คาดว่าจะเป็นช่วงปี 2557-2558 ซึ่งผู้ประกอบการไทยยังมีเวลาสำหรับปรับตัวอีกระยะหนึ่ง ดังนั้น ประเด็นเรื่อง GSP ของ EU จึงน่าจะเป็นผลกระทบในระยะปานกลาง แต่สำหรับในช่วงเวลาเฉพาะหน้านี้ ปัจจัยที่กำลังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกไทยไปยัง EU น่าจะให้น้ำหนักไปที่ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซนและความเคลื่อนไหวของประเทศคู่แข่งมากกว่า โดยต้นทุนแรงงานของไทยอยู่ในระดับสูงกว่าคู่แข่งหลายประเทศในภูมิภาค ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้กดดันให้การส่งออกของไทยไปยัง EU หดตัวลงร้อยละ 11.4 ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2555 และศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกไปยัง EU ทั้งปี 2555 อาจจะหดตัวประมาณร้อยละ 5

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ