สคร 7 เฝ้าระวังเข้มโรคมือ เท้า ปาก เน้นยึดหลัก 3ล

ข่าวทั่วไป Thursday July 12, 2012 15:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี (สคร.7) เฝ้าระวังเข้มศูนย์เด็ก โรงเรียน และด่านตามชายแดน หลังพบเด็กเขมรป่วยด้วยโรคมือเท้าปากจากเชื้อเอนเทอร์โรไวรัส 71 กว่า 60 ราย ย้ำคนละสายพันธุ์ในไทย แนะผู้ปกครองและครูให้สอนเด็กยึดหลัก 3ล นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงกรณีเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคลึกลับที่คร่าชีวิตเด็กกัมพูชากว่า 60 ราย ว่า ทางหน่วยงานสคร.7 ได้ติดตามข่าว และเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง สำหรับสถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ใน 7 จังหวัดในเขตที่รับผิดชอบ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร นครพนม สกลนคร ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง วันที่ 7 กรกฎาคม 2555 มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 624 ราย อัตราป่วย 9.83 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งมีผู้ป่วยสูงสุดในเดือนมิถุนายนถึง 204 ราย เป็นที่น่าสังเกตว่าสถานการณ์ผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงขึ้นและสููงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมากว่า 3 เท่าตัว จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือจังหวัดอุบลราชธานี อัตราป่วย 16.74 ต่อประชากรแสนคน (304 ราย) ซึ่งในปีนี้ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิต นายแพทย์ศรายุธ กล่าวว่าตอนนี้ได้กำชับเจ้าหน้าที่ประจำด่านชายแดนช่องชะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ที่มีชายแดนติดต่อกับกัมพูชาและด่านอื่นๆที่ติดกับลาว ให้เข้มงวดและคัดกรองผู้คนที่จะข้ามเข้ามายังฝั่งไทย ถ้ามีอาการเข้าข่ายโรคมือเท้าปาก ก็ให้ทำการผลักดันกลับไป แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยตั้งใจจะมารักษาที่ฝั่งไทยก็จะมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อทำการรักษาต่อไป ซึ่งการคัดกรองตอนนี้ก็ยังไม่พบผู้ใดมีอาการกับคล้ายกับโรคมือเท้าปาก สำหรับศูนย์เด็กเล็กก็ให้คำแนะนำว่า ครูและผู้ดูแลศูนย์เด็กเล็ก หากพบเด็กป่วย มีไข้ มีแผลเปื่อยหลายแผลในปากและเจ็บ มีตุ่มพองขนาดเล็กขึ้นที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้ เพื่อให้การดูแลเด็กอย่างถูกวิธี และควบคุมโรคอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ทาง สคร.7 ได้ประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เฝ้าระวังโรคมือเท้าปากในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ลงพื้นที่เพื่อควบคุมโรคภายใน 24 ชั่วโมง นายแพทย์ศรายุธ กล่าวว่าสาเหตุของโรคมือ เท้า ปากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอนเทอโรหลายชนิด ที่พบบ่อย คือ เชื้อคอกแซกกี เอ 16 (coxsackie A16) ซึ่งเป็นชนิดที่ไม่รุนแรง และชนิดรุนแรงทำให้เด็กเสียชีวิตได้ คือเอนเทอโรไวรัส 71 (enterovirus 71 หรือ EV 71) สำหรับการติดต่อของโรคมือ เท้า ปาก มักติดต่อโดยการได้รับเชื้อจากอุจจาระ ฝอยละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือน้ำในตุ่มพองหรือแผลของผู้ป่วยเข้าสู่ปาก การติดต่อทางน้ำหรืออาหารมีโอกาสเกิดได้น้อย การแพร่ติดต่อเกิดขึ้นค่อนข้างง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย และแม้อาการทุเลาลงแล้ว ก็ยังอาจแพร่เชื้อได้บ้าง เนื่องจากเชื้อจะถูกขับออกมากับอุจจาระได้นานถึง 6 สัปดาห์ สำหรับอาการของโรค เริ่มด้วยไข้ (อาจเป็นไข้สูงในช่วง 1 - 2 วันแรก และลดลงเป็นไข้ต่ำ ๆ อีก 2 - 3 วัน) มีจุดหรือผื่นแดงอักเสบในปาก มักพบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ทำให้เจ็บปากไม่อยากทานอาหาร จะเกิดผื่นแดง ซึ่งจะกลายเป็นตุ่มพองใสรอบๆ แดง ที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่อื่น เช่น ก้น หัวเข่า ฯลฯ ผื่นนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสรอบๆแดง มักไม่คัน แต่เวลากดจะเจ็บ ต่อมาจะแตกออกเป็นหลุมตื้นๆ อาการจะดีขึ้นและแผลหายไปใน 7 — 10 วัน ในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี บางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ ในการป้องกันโรค มือ เท้า ปาก นายแพทย์ศรายุธ ได้แนะนำว่า ผู้ปกครองและครูศูนย์เด็กเล็ก ควรป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ด้วยมาตรการ 3 ล คือ 1. ล้างมือ ล้างมือด้วยสบู่ เจลล้างมือ ทุกครั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังขับถ่าย 2. ล้างสิ่งของ ล้างของเล่น ของใช้ในศูนย์เด็กเล็ก เป็นประจำด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค 3. ล้างห้อง ล้างห้องเรียน ล้างห้องนอน เป็นประจำ และถ้ามีเด็กป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ให้หยุดพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลหรือที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อป้องกันแพร่เชื้อสู่เด็กอื่น หากมีเด็กป่วยหรือมีอาการสงสัยจะป่วยเป็นโรคมือเท้าปากในศูนย์เด็กเล็กหรือที่โรงเรียน ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย นายแพทย์ศรายุธ กล่าวในที่สุด
แท็ก เขมร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ