ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก ห่วงโรคมือ เท้า ปากวิกฤติ ระดมศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กว่า 30 แห่ง ใน กทม. ตั้งป้อมป้องกันโรค

ข่าวทั่วไป Monday July 16, 2012 18:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--โอเพ่นอัพ คอมมิวนิเคชั่น ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก ห่วงโรคมือ เท้า ปากวิกฤติ ระดมศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กว่า 30 แห่ง ใน กทม. ตั้งป้อมป้องกันโรค แนะวิธีคัดกรอง 4 จุด หยุดมือ เท้า ปาก คุมการแพร่ระบาดอย่างเป็นรูปธรรมด้วย 6 ภารกิจ พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ตรวจคัดกรอง เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย เจลล้างมือ โปสเตอร์วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องทุกศูนย์ วันนี้ (15 ก.ค.2555) ที่ห้องประชุม 810 AB ชั้น 8 อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์และโรงพยาบาล โรงพยาบาลรามาธิบดี ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. จัดอบรมผู้ดูแลเด็กในศูนย์ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กรุงเทพมหานคร ในหัวข้อ “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รวมพลังสู้ภัย มือ เท้า ปาก” โดย นพ.ฉัตรชัย อิ่มอารมย์ อาจารย์ประจำภาควิชากุมารแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เปิดเผยว่า ขณะนี้พบเด็กป่วยด้วยโรค มือ เท้า ปาก จำนวนมาก เพราะเป็นโรคระบาดที่ติดเชื้อได้ง่าย และจากการสอบถามในวันนี้ก็มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กถึง 6 ศูนย์ ที่พบเด็กเป็นและบางศูนย์ได้ปิดศูนย์เพื่อทำความสะอาดฆ่าเชื้อแล้ว ดังนั้น เราจะรับมืออย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเป็นโรคมือ เท้า ปาก นพ.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า การป้องกันโรค มือ เท้า ปาก สามารถหายขาดและหยุดการแพร่เชื้อได้ โดยผู้อยู่ใกล้ชิดเด็ก ทั้ง พ่อ แม่ ครู พี่เลี้ยงเด็ก ต้องถือปฏิบัติด้วยวิธีการการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเป็นรูปธรรม คือ 1.จัดตั้งจุดคัดกรอง บริเวณใกล้ทางเข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือทางเข้าห้องเรียน และต้องทำตั้งแต่เช้าเมื่อเด็กมาโรงเรียน 2.คัดกรองเด็กทีละคนๆ ตามลำดับอย่างเป็นระเบียบ อย่าปล่อยให้เด็กสัมผัสกัน หรืออยู่รวมกันอย่างไม่เป็นระเบียบ 3.ต้องไม่ลืมล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ทั้งก่อนและหลังตรวจคัดกรองเด็กแต่ละคน โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับตัวเด็ก (อาจใช้น้ำยาล้างมือได้กรณีไม่มีอ่างล้างมือใกล้ๆ) 4.ห้ามใช้พลาสติกสวมปรอทวัดไข้ซ้ำ (1 คน 1 ครั้ง เท่านั้น) 5.ให้ผู้ปกครองช่วยเหลือในการตรวจคัดกรอง เช่น ถอดรองเท้า ถุงเท้า เป็นต้น และหากสงสัยว่าจะเป็นโรคมือเท้าปาก ให้แจ้งผู้ปกครองทันที 6.ล้างมือด้วยน้ำที่ไหลออกจากก๊อกน้ำ ไม่ล้างในอ่างหรือกาละมัง พร้อมกับสบู่ ก็สามารถป้องกันได้ “ถ้าพบเด็กที่สงสัยว่าจะป่วยจากโรคมือเท้าปาก ต้องแยกเด็กที่สงสัยว่าจะป่วยออกจากเด็กคนอื่นๆ อาจจะให้อยู่ในห้องเด็กป่วยหรือห้องแยก ติดต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้นำเด็กไปพบคุณหมอ เพื่อยืนยันการวินิจฉัย หากไม่ได้เป็นโรคมือเท้าปากก็ควรให้ผู้ปกครองขอใบรับรองแพทย์มาด้วย อย่าลืมทำความสะอาดบริเวณที่เลี้ยงเด็ก รวมถึงของเล่น หากได้รับการยืนยันจากคุณหมอว่าป่วยจากโรคมือเท้าปากจริง ให้ขอความร่วมมือจากผู้ปกครองเพื่อให้เด็กพักผ่อนอยู่บ้านและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเด็กคนอื่นๆ จนกระทั่งอาการหายเป็นปกติ ไม่มีไข้และตุ่มตามมือเท้าแห้งทั้งหมดแล้ว และฝากว่า พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ครู หรือพี่เลี้ยงเด็กบางคนเห็นเด็กมีตุ่มก็เกิดความหวังดี ด้วยการเจาะตุ่มน้ำให้แตก เพราะกลัวเด็กจะเจ็บ ซึ่งเป็นวิธีการที่ผิดและกลายเป็นวิธีการแพร่เชื้อของโรคที่ง่ายและเร็วขึ้นด้วย” นพ.ฉัตรชัย กล่าว ด้าน นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า โรคมือ เท้า ปาก บ้านเราก็ถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤติแล้ว แม้จะยังไม่รุนแรงเท่ากับประเทศพม่า ดังนั้น ทุกคนต้องช่วยกันเฝ้าระวัง ดูแล และระมัดระวังเนื่องจากมีโอกาสเกิดความรุนแรงได้ จึงขอให้ผู้ปฏิบัติงานในศูนย์เด็กเล็กเข้าใจใน 6 ภารกิจสำคัญที่ต้องกลับไปดำเนินการที่ศูนย์ คือ 1.ตั้งด่านตรวจคัดกรอง 4 จุด หยุดโรค มือเท้า ปาก คือ ตรวจไข้ทุกวันตอนเช้าก่อนเข้าเรียน ตรวจหาแผลในปาก ตรวจหาตุ่มน้ำบริเวณมือ และตรวจหาตุ่มน้ำบริเวณเท้า 2.แยกเด็กที่สงสัยว่าป่วยไม่ให้อยู่รวมกับเด็กดี 3.ล้างมือทุก 1 ชั่วโมง 4.จัดการสิ่งแวดล้อม เก็บของเล่น ที่นอน และทำความสะอาด 5.รายงานหน่วยที่เกี่ยวข้องตามสายงาน และ 6.จัดประชุมชุมชน บอกกล่าวเล่าเรื่องให้ชุมชนเข้าใจ เพื่อช่วยกันเฝ้าระวัง หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก กล่าวอีกว่า ถ้าพบว่ามีเด็กป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก แต่ไม่มีพ่อ แม่หรือผู้ดูแลเด็ก อยากให้ในชุมชนหาบ้านอาสา หรืออาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน(อสม.)ที่เต็มใจ และพร้อมจะทำหน้าที่ดูแลเด็กที่ป่วย แต่บ้านหลังนี้จะต้องไม่มีเด็กที่อายุน้อยกว่า 10 ปีอยู่ และมีพี่เลี้ยง ครู ศูนย์เด็กเล็กที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลเด็ก และสามารถให้ความรู้กับชุมชนได้ ทางศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก และหน่วยสร้างเสริมสุขภาพชุมชนในภาวะวิกฤต รพ.รามาธิบดี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.ยินดีให้การสนับสนุนอุปกรณ์ พี่เลี้ยง ในการจัดประชุมเพื่อให้ความรู้แก่ชุมชน โดยสามารถติดต่อกลับมาได้ที่ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก โทร.02-6449080-1,081-4082590 (คุณงามตา)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ