สป.เสนอทางเลือกต่อแผนงานทดแทน กรณีน้ำมันจากพืชและก๊าซชีวภาพ

ข่าวทั่วไป Friday August 10, 2012 10:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--สป. เมื่อวันอังคารที่ 7 สิงหาคม 2555 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานโครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม และพลังงาน จัดสัมมนา เรื่อง “พลังงานทดแทน กรณีน้ำมันจากพืชและก๊าซชีวภาพ” เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยได้นำเข้าด้านพลังงานเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งในรูปน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติ รวมแล้วเกือบ 90% ของการใช้แต่ละวัน ก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจ การเสียดุลการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะพลังงานเชื้อเพลิงปีละหลายแสนล้านบาท ทางเลือกหนึ่งที่จะลดการนำเข้าเชื้อเพลิงเหล่านี้ได้ คือ การสร้างพลังงานทดแทน สภาที่ปรึกษาฯ จึงจัดสัมมนาเรื่องดังกล่าวขึ้น ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีทั้งนักวิชาการ ส่วนราชการ ผู้ประกอบการ ด้านอุตสาหกรรมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมรับฟังและเสนอความคิดเห็น นายอำนวย ทองสถิต หัวหน้าผู้ตรวจการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึง ทิศทางพลังงานทดแทน ว่า รัฐบาลมีนโยบายและแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนในปี พ.ศ. 2564 ให้ได้ร้อยละ 25 เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล พลังงานชีวภาพ ดังนั้น จึงมีข้อเสนอให้ภาครัฐส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตและใช้พลังงานทดแทนอย่างกว้างขวาง จัดทำแผนพลังงานชุมชนโดยใช้งบประมาณประมาณ 100 ล้าน เพื่อ 100 ชุมชน อย่างทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนรู้จักใช้พลังงาน ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ และกระตุ้นจูงใจให้มีผู้ลงทุนด้านพลังงานทดแทนมากขึ้น นายวิเชียร อุษณาโชติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง อุตสาหกรรมและการตลาดไบโอดีเซล ว่า รัฐบาลมีนโยบายและแผนการพัฒนาพลังงานทางเลือก (พ.ศ. 2555 - 2564) โดยมีเป้าหมายเพื่อทดแทนการบริโภคน้ำมันให้ได้ร้อยละ 44 ภายในปี 2564 แบ่งออกเป็นเอทานอล 9 ล้านลิตร/วันไบโอดีเซล 5.97 ล้านลิตร/วัน และทดแทนน้ำมันดีเซลในรูปแบบใหม่ เช่น Jatropha, ED 95, Diesohol อีก 25 ล้านลิตร/วัน อย่างไรก็ตามปัจจัยสู่ความสำเร็จในการเพิ่มปริมาณการใช้ไบโอดีเซลภายในประเทศ เช่น นโยบายหลักที่ชัดเจนของรัฐบาล ผู้ประกอบการรถยนต์ น้ำมันดิบ อุปทานและระดับราคา คุณภาพที่สูงขึ้นของไบโอดีเซล ในระดับราคาที่สมเหตุสมผล นางสาวฉวีวรรณ เตชาธาราทิพย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท มิตรผลไบโอฟูเอล จำกัด กล่าวถึง อนาคตอุตสากรรมเอทานอล ว่า สถานการณ์เอทานอลปัจจุบันซึ่งถือเป็นพลังงานทดแทนที่สำคัญ มีกำลังการผลิตจาก 19 โรงงาน อยู่ที่ 3 ล้านลิตร/วัน ปริมาณการผลิตเอทานอลเฉลี่ยปี2554 อยู่ที่ 1.4 ล้านลิตร/วัน ซึ่งมากกว่าปริมาณการใช้เอทานอลในประเทศ 1.3 ล้านลิตร/วัน และเป็นการทดแทนการใช้น้ำมันเบนซิน 335 ล้านลิตร/ปี คิดเป็นมูลค่า 6,900 ล้านบาท อย่างไรก็ตามแผนพลังงานทดแทน ยังขาดการบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม ความนิยมการใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมของเอทานอลสูงขึ้น อย่าง E20 ยังมีปริมาณการใช้น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนรถใหม่ในปัจจุบัน เพราะส่วนต่างราคาไม่จูงใจ โรงงานเอทานอลไม่สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างเต็มที่ และมีการหยุดเป็นครั้งคราว ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง เนื่องจากขั้นตอน และกฎระเบียบภาครัฐ ในการขนส่งที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการส่งออก สำหรับโอกาสของประเทศไทยในอุตสากรรมเอทานอล คือ ประเทศในภูมิภาคอาเซียน มีความตื่นตัวในการใช้เอทานอลสูงขึ้น ราคาเอทานอลในปัจจุบันสามารถแข่งขันกับราคาเบนซินได้ และการเพิ่มขึ้นของจำนวนรถใหม่ที่สามารถใช้ E20 และรถยนต์ FFV นายสัณห์ชัย กลิ่นพิกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานทดแทน มูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวถึง การพัฒนาไบโอดีเซลครบวงจรระดับชุมชน ว่า ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงค้นพบมากว่า 30 ปีแล้วว่า ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ให้ปริมาณน้ำมันสูงกว่าพืชน้ำมันชนิดใดๆในโลก และทรงมีพระราชดำริที่แน่วแน่ให้ทำการวิจัยและพัฒนาโรงงานแปรรูปปาล์มน้ำมันครบวงจรขนาดเล็ก รวมไปถึงการผลิตไบโอดีเซลเป็นพลังงานทดแทนของประเทศไทยในอนาคต การผลิตไบโอดีเซลสำหรับชุมชน อบต. และเทศบาลที่ให้ผลคุ้มค่าและยั่งยืน โดยการจัดตั้งโรงงานขนาดเล็ก (ประมาณ1,000 - 3,000 ลิตร/วัน) ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่หาได้ ใช้เชื้อเพลิงไม้กับเตา Thermal Oil หรือใช้ burnerโดยมีไบโอดีเซลเป็นเชื้อเพลิง รวบรวมน้ำมันทอดใช้แล้วเป็นวัตถุดิบ ซึ่งจะช่วยทำให้ประชาชนไม่บริโภคน้ำมันทอดใช้แล้ว ซึ่งเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง (ต้องมียุทธศาสตร์ที่ดีในการจัดซื้อจัดหา) ใช้เอทานอลซึ่งไทยผลิตได้เองแทนเมธานอล ผลิตสบู่กลีเซอรอลจากกลีเซอรอลที่เป็นผลพลอยได้ เพื่อทำสินค้ามูลค่าเพิ่มจากผลพลอยได้ และการผลิตให้เน้นเรื่องคุณภาพน้ำมันไบโอดีเซล โดยการตรวจสอบคุณภาพทุกล๊อต การกรองกลีเซอรอลให้หมด ทำปฏิกิริยาให้สมบูรณ์ ไม่ให้มีน้ำมันพืชตกค้าง ต่อมาในภาคบ่ายเป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่อง “พลังงานทดแทน กรณีน้ำมันจากพืชและก๊าซชีวภาพ” ซึ่งผลจากการสัมมนาในครั้งนี้ คณะทำงานโครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม และพลังงาน จะได้รวบรวมข้อเสนอจากที่ประชุมไปสังเคราะห์ และจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเสนอต่อสภาที่ปรึกษาฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบและนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ