คปก.ตั้ง 6 ประเด็นกฎหมายเข้าชื่อ ทบทวนโทษอาญา-หลักฐานเข้าชื่อ

ข่าวทั่วไป Tuesday August 14, 2012 17:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชนในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)จัดสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.... ที่โรงแรมทีเค พาเลซ แจ้งวัฒนะ นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยว่า นัยสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายแม่บท หากร่างกฎหมายเข้าชื่อที่จะเข้าสู่สภาในวาระ 2 ออกมาดีก็จะส่งผลให้กฎหมายเข้าชื่ออื่นๆด้วย โดยเฉพาะกฎหมายเข้าชื่ออีก 7 ฉบับอาทิ ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพแพทย์แผนไทย พ.ศ. ร่างร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ....ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่ได้เข้าสู่สภา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผลักดันร่างกฎหมายเข้าชื่อดังกล่าวเข้าสู่สภา โดยก่อนหน้านี้คปก.ได้จัดทำหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคปก.จำนวน 2 ฉบับต่อประธานรัฐสภา การจัดเวทีรับฟังความเห็นครั้งนี้คาดว่าจะได้รับทราบว่าปัญหาที่ยังตกค้างอยู่ โดยคปก.จะเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะฉบับที่ 3 ต่อประธานรัฐสภาต่อไป นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยว่า สรุปประเด็นที่จะมีการเปลี่ยนแปลงชัดเจนคือ1. ร่างปี 2542 กำหนดให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอได้เลย แต่ร่างฉบับที่จะเข้าสู่การพิจารณากำหนดต้องมีผู้ริเริ่ม 20คน ทำร่างหลักการความเห็น ส่งไปที่เลขาธิการรัฐสภา เมื่อตรวจสอบแล้วจึงส่งกลับเข้ามาเพื่อเข้าชื่อเสนอกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง ประเด็นนี้ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นว่า ไม่ควรกำหนดให้มีมี หากมีควรจะต้องบังคับเพียงแต่แจ้งให้เลขาธิการรัฐสภาทราบก็เพียงพอแล้วซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญแต่มิได้ตั้งข้อสงวนเพื่อแปรญัตติเอาไว้ 2. ประชาชนควรได้รับการสนับสนุน 2 ด้านทั้งความช่วยเหลือทางวิชาการโดยมีสิทธิขอความช่วยเหลือจากคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายในการจัดทำร่างกฎหมาย และความช่วยเหลือด้านงบประมาณโดยให้เชื่อมโยงกับกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง ให้ประชาชนสามารถเข้าใช้งบประมาณกองทุนได้ ส่วนการสนับสนุนด้านอื่น เช่น การใช้สื่อของรัฐในการประชาสัมพันธ์ หรือ หน่วยงานอื่นที่ต้องให้การช่วยเหลือ ควรระบุว่า หน่วยงานใดบ้างส่วนนี้ได้ตั้งข้อสงวนเพื่อแปรญัตติเอาไว้แล้ว “3. ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดให้มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ประเด็นนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้สงวนขอแปรญัตติประเด็นนี้เอาไว้ 4.หลักฐานที่ใช้ในการเข้าชื่อนั้น เสนอให้ระบุเลขบัตรประชาชน 13 หลักโดยไม่จำเป็นต้องแนบสำเนาบัตรประชาชนหรือเอกสารอื่น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ส่วนการตรวจสอบกลับให้ใช้ไปรษณีย์แทนการตรวจสอบจากเว็บไซต์ ประเด็นนี้มิได้แปรญัตติเอาไว้ 5.ระยะเวลาในการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับภาคประชาชนของรัฐสภา ควรกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจน 6.การกำหนดโทษทางอาญาสำหรับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เป็นประเด็นที่ควรกำหนดให้มีหรือไม่ ซึ่งคปก.มีจุดยืนชัดเจนว่าไม่ควรมีการกำหนดโทษทางอาญา เพราะหากมีการกระทำความผิดที่มีเหตุมาจากการแสดงเอกสารหลักฐานก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามภายหลังจากนี้คปก.จะประมวลความเห็นเพื่อจัดทำความเห็นเสนอต่อประธานรัฐสภาต่อไป” นายไพโรจน์ กล่าว นางลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ กรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า โดยหลักการมีความเห็นว่าไม่ควรกำหนดบทลงโทษทางอาญาสำหรับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย แต่หากจะต่อรองก็คิดว่าอาจจะลดโทษลงจากจำคุก 5 ปีเป็นจำคุก 1-2 ปี ขณะเดียวกันตั้งประเด็นเพิ่มเติมว่าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นกฎหมายทางการเงิน ซึ่งต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีรับรองอาจจะเกิดความล่าช้ายิ่งขึ้นไม่รวมถึงกระบวนการอื่นที่ต้องใช้เวลาพิจารณาอยู่แล้ว นายภูมิ มูลศิลป์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในฐานะผู้เสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ....ฉบับภาคประชาชน กล่าวว่า ในแง่ของปัญหาเห็นว่าที่ผ่านมามีกระบวนการค่อนข้างมาก เพราะต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้าน นอกจากนี้ผู้รวบรวมรายชื่อยังประสบปัญหาด้านค่าใช้จ่าย และประชาชนไม่มีศักยภาพเพียงพอในการร่างกฎหมาย ขณะที่กระบวนการในรัฐสภายังไม่มีความแน่นอน ไม่ชัดเจนว่ากฎหมายจะเข้าสู่สภาได้เมื่อไร อย่างไรก็ตามประเด็นโต้แย้ง และพูดกันมากคือเอกสารที่จะใช้แสดงตน บางร่างกฎหมายเห็นว่าควรยื่นเฉพาะเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักน่าจะเพียงพอแล้ว และอีกประเด็นหนึ่งที่มีการคัดค้านกันมากคือ ร่างของรัฐมนตรี ซึ่งระบุจะต้องมีผู้ริเริ่ม จึงเห็นว่าในการพิจารณาร่างกฎหมายใดๆสมควรนำร่างอื่นๆมาประกอบ ซึ่งในชั้นกมธ.ไม่มีการหยิบร่างกฎหมายฉบับอื่นขึ้นมาพิจารณาเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่าง นางสาวปัทมา สูบกำปัง นักวิชาการ สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ได้ขอสงวนความเห็นไว้ 4 ประเด็น คือ1.คงหน่วยงาน กตต.ให้ช่วยสนับสนุนการเข้าชื่อกฎหมาย 2.การสนับสนุนค่าใช้จ่ายควรจะขอรับจากกองทุนพัฒนาการเมืองของภาคพลเมือง 3.การติดประกาศรายชื่อผู้เสนอกฎหมาย จากเดิมจะส่งไปที่ส่วนราชการต่างของผู้มีรายชื่อเสนอเข้าชื่อ ก็เปลี่ยนเป็นปิดประกาศไว้บนเว็บไซต์ อาจจะเป็นช่องทางให้นำไปใช้ในทางไม่สุจริตได้ 4.การบรรจุวาระควรให้ความสำคัญกับร่างกฎหมายภาคประชาชนเป็นลำดับแรกๆ นายทวีป กาญจนวงศ์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า มีความเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวคือ1.ไม่เห็นด้วยที่จะกำหนดโทษทางอาญาแก่ผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย แต่หากจำเป็นต้องคงเอาไว้ก็ควรกำหนดให้ชัดเจนว่าลักษณะใด อย่างไรจึงเป็นความผิด 2. เห็นด้วยกับการกำหนดให้ความช่วยเหลือ ทั้งด้านวิชาการโดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและด้านการอำนวยความสะดวกโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 3.การให้มีผู้ริเริ่ม 20 คน เป็นอุปสรรคในการเสนอกฎหมายภาคประชาชน 4. ควรกำหนดระยะเวลาการพิจารณาของสภาและชั้นพิจารณาอื่นให้ชัดเจน 4. ธรรมเนียมปฏิบัติที่กำหนดให้มีร่างของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประกบจึงจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณา ควรกำหนดให้มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ของประชาชนโดยเร็วโดยไม่คำนึงถึงร่างพ.ร.บ.สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประกบหรือไม่ ยงเกียรติ อดิเศรษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและคดี สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวว่า เหตุที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตัดคณะกรรมการการเลือกตั้งออกจากการให้ความช่วยเหลืออาจจะเป็นเพราะเห็นว่าบทบาทเรื่องดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เนื่องจากหน้าที่หลัก เช่น จัดการเลือกต้องท้องถิ่น ก็มีอยู่ประจำแล้ว ส่วนเรื่องกองทุนทางคณะกรรมการการเลือกตั้งเคยสะท้อนไปทางสภาพัฒนาการเมือง ซึ่งเห็นด้วยกับการให้กองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองเข้ามาสนับสนุนค่าใช้จ่าย ขณะที่ประเด็นผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายในการกำหนดข้อสงวนในทางปฏิบัติน่าจะสงวนทุกมาตรา เพราะหากมีประเด็นที่ไม่ได้สงวนก็สามารถใช้สิทธิอภิปรายได้ นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยที่ให้มีงบประมาณจากกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองมาสนับสนุนค่าใช้จ่าย เพราะเป็นการสนับสนุนการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญของประชาชน แต่ไม่เห็นด้วยกับการให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเข้ามามีส่วนช่วยเหลือในการดำเนินการเช้าชื่อเพราะอาจจะเข้ามามีส่วนได้เสีย ส่วนเรื่องหลักฐานที่ใช้เห็นด้วยที่ใช้สำเนาบัตรประชาชนเป็นหลักฐานควรให้เซ็นรับรองเพื่อป้องกันการแอบอ้าง และในแง่ของการกำหนดโทษทางอาญา เห็นสมควรให้มีการกำหนดโทษอย่างร้ายแรงแก่สภาผู้ไม่นำร่างของภาคประชาชนเข้ามาพิจารณาแทนที่จะกำหนดโทษผู้เสนอกฎหมาย . ติดต่อ: สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย : OFFICE OF LAW REFORM COMMISSION OF THAILAND อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น๑๙ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ โทร.๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๘ โทรสาร. ๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๔

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ